ธนาคารไร้สาขา โอกาสของไทยในการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ? | BI Opinion

โลกการเงินหมุนไว ธนาคารต้องปรับตัว ตอนนี้กระแส Virtual Bank หรือ ธนาคารไร้สาขา เป็นสิ่งที่พูดถึงกันมาก

‘กรุงไทย’ ก็ถือเป็นหนึ่งในผู้เล่นที่ขอเข้ามาท้าชิงตลาดนี้ ซึ่งพันธมิตรที่เกาะกลุ่มกันมากับกรุงไทยก็คือ Gulf และ AIS โดยบอกว่า จะมีการร่วมทุนและจัดตั้งบริษัทขึ้นมาใหม่ เพื่อทำ ‘ธนาคารไร้สาขา’ โดยเฉพาะ

นี่คือเกมใหญ่ เพราะมีแต่ยักษ์ใหญ่ร่วมมือกัน เงินลงทุนร่วมกันเริ่มต้นไม่ต่ำกว่า 5 พันล้าน ไปจนถึงหลักหมื่นล้านบาท 

เอาที่เปิดหน้าออกมาตอนนี้ โดยคร่าวๆ นอกจากแกงค์ KTB-Gulf-AIS ก็มี SCB-KaKaoBank-WeBank รวมถึง CP Group และ JayMart

คำเคลมของการมีธนาคารไร้สาขา ค่อนข้างยิ่งใหญ่ เพราะส่วนมากจะพูดเรื่องเดียวกัน เป็นต้นว่า 

  • นี่จะเป็นการช่วยเหลือทางการเงินให้กับคนทุกกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่ม Underserved กลุ่มคนที่ด้อยโอกาส เข้าไม่ถึงผลิตภัณฑ์ทางการเงิน เพราะข้อมูลไม่อยู่ในระบบ ทำให้ธนาคารแบบเดิมๆ ไม่กล้าเสี่ยงกับคนกลุ่มนี้ ดังนั้นการมีธนาคารไร้สาขาจะตอบโจทย์ในแง่นี้ เพราะใช้วิธีการเก็บข้อมูลใหม่ ประเมินความเสี่ยงแบบใหม่
  • หรือเอาที่ไกลกว่านั้น ก็จะเป็นคำเคลมเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำ และแก้ปัญหาเศรษฐกิจนอกระบบของไทย

แต่พูดก็พูด คำเคลมไม่ได้การันตีทุกสิ่งอย่าง เพราะในหลายประเทศที่ทดลองทำ Virtual Bank ก็ไม่ได้สำเร็จทุกเคส มีทั้งที่รุ่งเรือง ร่วงโรย หรือเจ๊งไปเลย..ก็มีให้เห็น

ผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) บอกกับ Brand Inside ในขณะไปดูงานที่ประเทศจีนว่า การรวมตัวกันครั้งนี้ของ KTB-Gulf-AIS จะตอบโจทย์ที่เป็นปัญหาของสังคมไทยมายาวนานอย่าง ‘ความเหลื่อมล้ำ’ และ ‘เศรษฐกิจนอกระบบ’ ได้

ประเทศไทยมีเศรษฐกิจนอกระบบหรือ Informal Economy สูงมาก คิดเป็นสัดส่วนถึง 48.4% ของ GDP เรียกได้ว่า สูงกว่าใครๆ ในอาเซียน

ถามว่า การมีเศรษฐกิจนอกระบบสูงๆ ส่งผลอะไร เจาะลึกลงไปในคำตอบ ก็พบว่า หมายถึง การเข้าถึงโอกาสทางการเงินที่ต่ำลง 

รู้หรือไม่ว่า กว่า 27% ของครัวเรือนไทยไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อจากสถาบันทางการเงินที่เชื่อถือได้ 

จำนวนมากจึงต้องจบลงด้วยการเข้าถึงสินเชื่อนอกระบบ เศรษฐกิจนอกระบบที่ใหญ่มาก ก็เสี่ยงมากที่จะนำไปสู่สินเชื่อนอกระบบ ที่ไร้การควบคุมและไม่เป็นธรรม

มากไปกว่านั้น SME ธุรกิจรายย่อยในไทยมีเพียงแค่ 17% นี่สะท้อนว่า SME ไทยยังขาดโอกาส และยังเข้าไม่ถึงเครื่องมือทางการเงินอีกมากในการทำธุรกิจ

ซีอีโอกรุงไทย มั่นใจว่า Virtual Bank จะมาตอบโจทย์ตรงนี้ได้ เพราะสิ่งที่ธนาคารไร้สาขามี ซึ่งธนาคารดั้งเดิมไม่มีคือ ‘ข้อมูลทางเลือก’ (alternative data) เพื่อนำมาใช้วิเคราะห์พฤติกรรมการเงิน ประเมินความเสี่ยงของลูกค้า-ประชาชน และนี่ยังไม่นับรวมความได้เปรียบในเชิงต้นทุนของ Virtual Bank ที่ไม่ต้องมีสาขา ก็จะทำให้ต้นทุนในการทำกิจการลดลงไปอีก

ยกตัวอย่างให้เห็นภาพ

  • ซีอีโอกรุงไทย เล่าให้ฟังว่า สมมติว่า มีพนักงานคนหนึ่ง เลิกงาน แล้วเลือกที่จะไป upskill ไปเรียนพิเศษ ในขณะที่พนักงานอีกคน เลิกงาน แล้วไปเล่นการพนัน 
  • แค่เพียงเท่านี้ ทางธนาคารรูปแบบใหม่ ก็จะสามารถประเมินได้เลยว่า “จะปล่อยสินเชื่อให้กับใคร” ด้วยการใช้ข้อมูลทางเลือก (เก็บจาก Touchpoints ต่างๆ ที่ไปมากกว่าบัญชีรายรับรายจ่าย แต่ดูไปถึงพฤติกรรมของลูกค้าในการทำธุรกรรมออนไลน์อื่นๆ ด้วย)
  • โดยข้อมูลที่เก็บมาได้ จะเป็นมาตรวัดสำคัญในการประเมินสินเชื่อและผลิตภัณฑ์การเงินต่างๆ ซึ่งแน่นอนว่า จะมาจากฐานพันธมิตรที่ร่วมมือกัน อย่างในกรณีนี้ของ KTB ข้อมูลก็จะมาไหลจากเครือข่ายของ AIS และ Gulf

หรืออีก 1 ตัวอย่าง

  • หากลูกค้าคนนี้ไม่มีประวัติทางการเงินในระบบ แต่สามารถพิสูจน์ด้วยข้อมูลทางเลือกได้ว่า จ่ายบิลค่าน้ำ-ค่าไฟ-ค่ามือถือตรงเวลาทุกเดือน ในทางหลักการก็จะถือว่าเป็นลูกค้าที่น่าพิจารณาให้สินเชื่อ มากกว่าคนที่จ่ายไม่ตรงเวลา เป็นต้น
  • ซีอีโอกรุงไทย บอกว่า สิ่งนี้จะทำให้ลูกค้าและประชาชนอีกหลายล้านคนในไทยเข้าถึงผลิตภัณฑ์การเงินได้ง่ายขึ้น สะดวกขึ้น และตัวธนาคารเองเมื่อใช้ข้อมูลทางเลือกได้แล้ว ก็จะมีวิธีใหม่ๆ ในการประเมินสินเชื่อและธุรกรรมทางการเงิน เช่นใช้ AI เข้ามาจับตรงส่วนนี้ ทำให้ไม่ต้องแบกรับความเสี่ยงทั้งหมดแบบที่ธนาคารดั้งเดิมในยุคก่อนกลัวกันมาตลอด

ฟังดูดี..แต่ยังมีคำถาม

แน่นอนว่า ทั้งหมดนี้ ฟังดูดี ถ้าทำได้ก็อาจจะเป็นไปตามคำเคลมที่บอกว่า Virtual Bank จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำ แก้ปัญหาคนที่อยู่ในเศรษฐกิจนอกระบบและเข้าไม่ถึงโอกาสทางการเงิน ซึ่งนับรวมไปถึงกลุ่มคนที่เรียกกันว่า Underserved

แต่หนึ่งในคำถามใหญ่ ที่ Brand Inside ไม่ถามไม่ได้ ก็คือ แล้วถ้าเราแก้ปัญหาทุกอย่างที่ว่ามาได้ แต่ทั้งหมดนี้มันจะเป็นการ ‘แก้ปัญหาเดิม เพิ่มปัญหาใหม่’ หรือไม่..

เพราะประเด็นเรื่องการกินรวบ-ผูกขาด ก็เป็นหนึ่งในสิ่งที่หลายฝ่ายให้ความสนใจและตั้งคำถาม เพราะ Virtual Bank ต้องลงทุนสูงเป็นพันเป็นหมื่นล้าน เลยมีแต่ยักษ์ใหญ่ลงมาเล่น มาจับมือกัน 

คำถามคือ ถ้า Virtual Bank จะเกิดขึ้นเพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม แต่มันกำลังถูกตั้งคำถามในอีกฟากฝั่งหนึ่ง เราจะมีคำอธิบายเรื่องนี้ว่าอย่างไร?

เรื่องนี้ ผยง ซีอีโอของกรุงไทยตอบไว้ว่า “เรื่องนี้มีสองมิติ คือถ้ามี Solution อื่นที่แก้ปัญหานี้ได้ มันคืออะไร? นี่คือความท้าทายของวัฒนธรรมประเทศไทย .. ถ้ามี Solution ที่ดีกว่านี้ ก็ยินดีมากๆ”

“ส่วนมิติที่สองคือ ทำไมถึงไปมองว่าเป็นการผูกขาด ทำไมไม่มองว่า นี่คือการลงทุน และการลงทุนมันอาจจะเจ๊งก็ได้ ใครจะไปรู้ เพราะนี่คือการทำธุรกิจ”

“ส่วน Virtual Bank ที่กำลังจะทำกัน กฎเกณฑ์เป็นไปตามที่แบงก์ชาติกำหนดไว้ว่าต้องลงทุนเป็นพันเป็นหมื่นล้าน นี่ไม่ใช่เงินจำนวนน้อยๆ แต่นี่คือกฎ คือกติกา”

ขอชัดๆ อีกครั้ง แล้วเราจะได้อะไรจาก Virtual Bank

ถ้าเราไปเปิดดูข้อมูลจาก ธนาคารแห่งประเทศไทย ในหัวข้อ “คนไทยจะได้ประโยชน์อะไรจาก Virtual Bank” พบว่า 

ธปท. ก็คาดหวังให้ Virtual Bank เข้ามาพัฒนานวัตกรรมในภาคการเงินของไทย แต่เน้นย้ำว่า ต้องทำควบคู่กับการดูแลความเสี่ยง + อยู่บนพื้นฐานของความรับผิดชอบต่อสังคมโดยรวม (responsible innovation) 

โดยได้กำหนดเป้าหมายของ “สิ่งที่อยากเห็น (green line)” และ “สิ่งที่ไม่อยากเห็น (red line)” จากการเปิดให้มี Virtual Bank ไว้อย่างชัดเจน ดูได้จากภาพนี้

“คนไทยจะได้ประโยชน์อะไรจาก Virtual Bank” จาก ธนาคารแห่งประเทศไทย  
“คนไทยจะได้ประโยชน์อะไรจาก Virtual Bank” จาก ธนาคารแห่งประเทศไทย

ส่วนถ้าถามว่า คนไทยจะได้ใช้ Virtual Bank เมื่อไหร่?

ธปท. บอกว่า ตอนนี้กำลังนำความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่าง ๆ มาใช้จัดทำหลักเกณฑ์การขอจัดตั้ง virtual bank และเสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังพิจารณา ภายหลังจากหลักเกณฑ์ดังกล่าวมีผลบังคับใช้ ก็จะเริ่มกระบวนการเปิดรับสมัคร การพิจารณาคัดเลือก และการเตรียมความพร้อมของผู้ได้รับใบอนุญาต โดยคาดว่า Virtual Bank จะพร้อมเปิดดำเนินการแก่ประชาชนได้ภายในปี 2568

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา