จับตา Virtual Bank ของแบงค์ชาติ เพิ่มการแข่งขันหรือเอื้อทุนใหญ่?

ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (Virtual Bank) เป็นอีกโครงการสำคัญของธนาคารแห่งประเทศไทย ที่เตรียมเปิดให้ยื่นขอจัดตั้งธนาคารแห่งใหม่จำนวน 3 รายภายในสิ้นปี 2566 และเปิดบริการจริงในปี 2568

เป้าหมายของ Virtual Bank ตามแนวทางของธนาคารแห่งประเทศไทย คือ ต้องการตอบโจทย์ลูกค้าที่ยังเข้าไม่ถึงบริการทางการเงินแบบดั้งเดิม (unserved หรือ underserved) เช่น กลุ่มผู้มีรายได้น้อย หรือธุรกิจ SME ขนาดเล็กๆ ที่มีปัญหาเรื่องการเข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุนต่างๆ เช่น ธนาคารแบบดั้งเดิมไม่ยอมปล่อยกู้แบบไม่มีค้ำประกัน จนต้องไปพึ่งช่องทางการกู้ยืมเงินนอกระบบที่มีมากมายในยุคนี้

แนวคิดของธนาคารแห่งประเทศไทยคือพยายามแก้ปัญหานี้ด้วย Virtual Bank ที่ไม่จำเป็นต้องมีสาขาทางกายภาพ เพื่อลดต้นทุนของธนาคารลง และนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาช่วยให้เกิดบริการทางการเงินรูปแบบใหม่ๆ ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น

เหตุนี้จึงเกิดเป็นโครงการจัดตั้งธนาคารไร้สาขาขึ้นมา

อะไรคือ Virtual Bank ตามนิยามแบงค์ชาติ

ในเอกสาร “แนวทางการอนุญาตให้จัดตั้งธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา” (Virtual Bank) ของธนาคารแห่งประเทศไทย ฉบับปรับปรุง ณ เดือนมิถุนายน 2566 ให้นิยามของ Virtual Bank โดยหลักๆ ไว้ดังนี้

  • มีไลเซนส์ประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ได้เต็มรูปแบบ เทียบเท่ากับธนาคารแบบดั้งเดิม โดยใช้เกณฑ์กำกับดูแลแบบเดียวกันกับธนาคารแบบดั้งเดิม พ่วงด้วยเกณฑ์กำกับดูแลบางอย่างเฉพาะของ Virtual Bank
  • ต้องใช้บริการผ่านช่องทางดิจิทัล ไม่อนุญาตให้มีสาขาหรือเครื่อง ATM/CDM (เครื่องฝากเงิน) ของตัวเอง เพื่อบีบให้เป็นดิจิทัล แต่สามารถให้บริการรับฝากเงิน ถอนเงิน ผ่านตัวแทน (banking agent) หรือเครือข่าย ATM pool ได้
  • ใครจะมาขอใบอนุญาต Virtual Bank ก็ได้ ทั้งกลุ่มธุรกิจสถาบันการเงินเดิม และธุรกิจอื่นที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน
  • มีผู้ถือหุ้นต่างชาติได้แต่ไม่เกิน 49% แต่ถ้าเกินสามารถขอผ่อนผันกับธนาคารแห่งประเทศไทยได้เป็นกรณีพิเศษ
  • ต้องมีทุนจดทะเบียนอย่างน้อย 5,000 ล้านบาทในวันเปิดบริการ และเมื่อผ่านช่วงกำกับดูแลช่วงแรก 3-5 ปี จะต้องมีทุนจดทะเบียนอย่างน้อย 10,000 ล้านบาท

ธนาคารแห่งประเทศไทย ยังได้กำหนดแนวทางสิ่งที่อยากเห็น (Green Line) และสิ่งที่ไม่อยากเห็น (Red Line) ของธนาคารไร้สาขาไว้ตามภาพ

สิ่งที่อยากเห็น

  • บริการทางการเงินที่ครบวงจร โดยเฉพาะกลุ่มรายย่อยและ SMEs ที่ยังเข้าถึงไม่เพียงพอ
  • ประสบการณ์ทางการเงินดิจิทัลที่ดีขึ้น
  • สถาบันการเงินแข่งขันกัน พัฒนานวัตกรรมมากขึ้น

สิ่งที่ไม่อยากเห็น

  • การประกอบธุรกิจที่ไม่ยั่งยืน จนเกิดความเสี่ยงต่อผู้ฝากเงิน
  • การแข่งขันด้านราคาเพื่อแย่งลูกค้า หรือปล่อยสินเชื่อกระตุ้นการก่อหนี้เกินตัว
  • เอื้อประโยชน์ให้ผู้เกี่ยวข้อง หรือใช้อำนาจเหนือตลาด
ที่มา – ธนาคารแห่งประเทศไทย

ทั้งนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยคาดว่าจะให้ใบอนุญาตจัดตั้ง Virtual Bank จำนวนไม่เกิน 3 ราย เพราะมองว่าเป็นธุรกิจรูปแบบใหม่ที่ยังไม่เคยมีในไทย จึงควรเริ่มต้นจากจำนวนไม่มากก่อน เพื่อให้ได้คุณภาพและการติดตามดูแลได้อย่างมีประสิทธิภาพ

Timeline ของธนาคารแห่งประเทศไทย จะพยายามเสนอร่างประกาศต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังภายในเดือนกรกฎาคม 2566, เปิดรับสมัครภายในปี 2566, ประกาศรายชื่อผู้ได้ใบอนุญาตปลายปี 2567, เปิดบริการจริงภายในปี 2568

ธนาคารเดิมสนใจยื่นขอไลเซนส์ ธุรกิจใหญ่คึกคักเล็งร่วมแข่งขัน

ธนาคารแห่งประเทศไทยเคยให้ข้อมูลว่า มีกลุ่มทุนที่สนใจและสอบถามข้อมูลเข้ามาประมาณ 10 ราย

จากการสำรวจข้อมูลของ Brand Inside พบว่ามีธุรกิจขนาดใหญ่ของไทยหลายราย ประกาศลงชิงชัยเพื่อขอใบอนุญาต Virtual Bank ที่เบื้องต้นคาดว่าจะมีเพียง 3 ใบ เท่าที่ปรากฏตามข่าวได้แก่

กลุ่มธนาคารดั้งเดิม

ส่วนธนาคารใหญ่อีกหลายราย เช่น ธนาคารกรุงเทพ (BBL) ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) บอกว่ายังอยู่ระหว่างการศึกษา ส่วนธนาคาร Tisco และ TTB ยืนยันว่ายังไม่สนใจเข้ามาขอใบอนุญาตในตอนนี้

กลุ่มธุรกิจอื่นที่ไม่ใช่ธนาคาร

ด้วยแนวทางของ ธปท. ที่เน้นเสถียรภาพทางการเงิน ไม่ต้องการให้ Virtual Bank ล้มละลายจนกลายเป็นภาระในการกำกับดูแล และกำหนดเกณฑ์ไว้ค่อนข้างเข้มงวด (โดนกำกับดูแลเยอะกว่าธนาคารแบบดั้งเดิมด้วยซ้ำ) จึงไม่น่าแปลกใจนักที่เรายังเห็นข่าวเฉพาะธนาคารแบบดั้งเดิม และกลุ่มทุนขนาดใหญ่ที่ให้ความสนใจเท่านั้น

เสียงวิจารณ์แนวทาง ธปท. สุดท้ายจะเอื้อแต่ทุนใหญ่?

ด้วยกฎเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ค่อนข้างเข้มงวด เช่น กำหนดทุนจดทะเบียนที่สูงถึง 5,000 ล้านบาท และไม่จำกัดการขอใบอนุญาตของผู้ประกอบธุรกิจธนาคารแบบดั้งเดิม ส่งผลให้เกิดเสียงวิจารณ์หรือข้อกังวลว่า กฎเกณฑ์เหล่านี้จะไม่ทำให้เกิด “การแข่งขัน” ตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยต้องการ และจะเหลือแค่ธนาคารแบบดั้งเดิม กับพันธมิตรที่เป็นกลุ่มทุนขนาดใหญ่เท่านั้นที่เข้าเกณฑ์ตามที่กำหนด

ในเอกสารการรับฟังความเห็นครั้งที่ 1/2566 ของธนาคารแห่งประเทศไทย มีเสียงสะท้อนว่าควรให้ใบอนุญาตหลากหลายประเภท โดยเฉพาะกลุ่มทุนที่ไม่เคยประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์มาก่อน เพื่อเปิดโอกาสให้เกิดธนาคารหน้าใหม่ในวงการ แต่คำตอบของธนาคารแห่งประเทศไทยคือยังยึดแนวทางเดิมที่ไม่ได้แบ่งโควต้าตามจำนวนใบอนุญาตว่าจะให้กลุ่มใดเป็นจำนวนกี่ใบ และจะพิจารณาคัดเลือกผู้ขอใบอนุญาตทุกรายใต้หลักเกณฑ์เดียวกัน

เรื่องนี้ ธปท. เองก็ไม่ได้อธิบายเหตุผลไว้ชัดเจนว่า หากใบอนุญาต 3 ใบถูกมอบให้กลุ่มธนาคารแบบดั้งเดิมทั้งหมด แล้วจะแยกใบอนุญาต Virtual Bank ออกมาเพื่ออะไร เพราะธนาคารแบบดั้งเดิมก็มีทั้งสาขาและบริการแบบดิจิทัลอยู่แล้ว ไม่ได้เพิ่มการแข่งขันขึ้นมาในระบบเลย สู้ไม่ทำแต่แรกยังอาจดีกว่า

ประเด็นเรื่องใบอนุญาตเพียง 3 ใบ มีข้อเสนอว่าควรให้มากกว่า 3 ใบ หรือมีแผนเปิดรับสมัครเพิ่มในรอบถัดไป ซึ่ง ธปท. พิจารณาแล้วยังยืนยันแนวทางเดิมไม่เกิน 3 ราย ด้วยเหตุผลว่าเป็นธุรกิจใหม่ที่ต้องเริ่มจากจำนวนไม่มากก่อน และไม่ต้องการให้มีผู้เล่นเพิ่มขึ้นจนกระทบเสถียรภาพทางการเงิน โดยเฉพาะตลาดสินเชื่อรายย่อยที่จะกระตุ้นให้คนก่อหนี้เกินตัว

คำอธิบายเรื่องใบอนุญาตเพียง 3 ใบก็ยังไม่ชัดเจนนักว่าทำไมต้องแค่ 3 ใบ ไม่เพิ่มเป็น 4-5 ใบที่ไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อการกำกับดูแลมากนัก ส่วนเรื่องเสถียรภาพทางการเงินและการก่อหนี้เกินตัวยิ่งเป็นข้ออ้างที่แปลก เพราะปัจจุบันการกู้เงินนอกระบบแพร่กระจายไปทั่ว สร้างหนี้ที่ไม่มีการกำกับดูแลใดๆ แต่ธนาคารแห่งประเทศไทยกลับไม่ได้มีมาตรการเข้าไปคุมเข้มหรือปราบปรามอะไรที่ชัดเจนนัก แล้วยังจะไป “เป็นห่วง” เรื่องการก่อหนี้ของธนาคารใหม่ที่โดนกำกับดูแลอย่างเข้มข้นซะอีก

ในเอกสารผลการศึกษาของ ธปท. เองที่ยกกรณีของสหราชอาณาจักร ก็เป็นตัวอย่างการให้ใบอนุญาต Virtual Bank ที่ไม่จำกัดจำนวนใบอนุญาต

ที่มา ธนาคารแห่งประเทศไทย

ส่วนประเด็นเรื่องทุนจดทะเบียน 5,000 ล้านบาทที่สูงเกินไป มีข้อเสนอให้ลดลงหรือไม่กำหนดทุนจดทะเบียน แต่ธนาคารแห่งประเทศไทยยืนยันใช้ตัวเลข 5,000 ล้านบาทดังเดิม โดยอ้างระดับของทุนจดทะเบียน Virtual Bank ในฮ่องกง (5,000 ล้านบาท) และเกาหลีใต้ (7,000 ล้านบาท)

ประเด็นนี้ต้องบอกว่าฟังไม่ขึ้นนัก เพราะการอ้างอิงตัวเลขทุนจดทะเบียนของธนาคารในต่างประเทศตรงๆ โดยไม่คำนึงถึงบริบทด้านระดับเศรษฐกิจของประเทศนั้นๆ (เช่น GDP) หรือบริบทด้านการเงินการธนาคารในประเทศนั้นๆ (เช่น จำนวนธนาคาร) อาจดูไม่มีตรรกะเท่าที่ควร น่าจะเป็นแค่ข้ออ้างของ ธปท. ที่ห่วงเรื่อง “เสถียรภาพและการกำกับดูแล” จนมากเกินไป และตั้งกำแพงกั้นไม่ให้ผู้เล่นรายใหม่ที่ไม่รู้จัก ไม่คุ้นเคย ไม่สามารถเข้ามาเล่นในตลาดนี้ได้ซะมากกว่า

พรรคก้าวไกล เสนอเพิ่มใบอนุญาต 10 ใบ ทุนจดทะเบียนเหลือ 500 ล้านบาท

ในหน้าเว็บไซต์ของพรรคก้าวไกล ซึ่งเป็นพรรคที่ได้คะแนนเสียงเป็นอันดับ 1 ในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2566 ได้ประกาศข้อเสนอทางนโยบายต่อ Virtual Bank ดังนี้

  • เพิ่มจำนวนใบอนุญาต Virtual Bank เป็น 10 ราย (จากเดิม 3 ราย)
  • ลดเพดานข้อจำกัดทุนจดทะเบียนเป็น 500 ล้านบาท (จากเดิม 5,000 ล้านบาท)
  • เพิ่มเงื่อนไขเรื่องการตั้งสำนักงานใหญ่ที่ต่างจังหวัด
  • กำหนด Data Standard เพื่อเพิ่มการถ่ายโอนข้อมูลส่วนบุคคลสำหรับการเพิ่มโอกาสในการได้รับอนุมัติสินเชื่อในระบบ (เช่น ข้อมูลทรัพย์สิน ข้อมูลรายรับรายจ่าย ข้อมูลชำระค่าน้ำ-ค่าไฟฟ้า-ค่ามือถือ ภาษี) และ เพิ่มเทคโนโลยี AI ในการวิเคราห์และแนะนำการเงินส่วนบุคคลได้ เมื่อสามารถเชื่อมข้อมูลการเงินทั้งหมดของตนเองได้จากแอปเป๋าตัง

ข้อเสนอของพรรคก้าวไกลได้ตีประเด็นหลักเรื่องจำนวนใบอนุญาตที่เพิ่มเป็น 10 ใบ และลดเรื่องทุนจดทะเบียนลงเหลือ 500 ล้านบาท ซึ่งน่าจะเปิดโอกาสให้มีผู้เล่นหน้าใหม่เข้ามาในตลาดมากขึ้น แต่ก็เพิ่มมาด้วยเงื่อนไขด้านการกระจายไปยังต่างจังหวัดเพื่อเพิ่มการจ้างงาน และมาตรฐานข้อมูลส่วนบุคคลให้มากขึ้น

ทั้งนี้ พรรรคก้าวไกลได้รับการคาดหมายว่าจะได้เก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งจะต้องทำงานร่วมกับ ธปท. ในการให้ใบอนุญาต Virtual Bank ก็ต้องรอดูกันต่อไปว่าเมื่อจัดตั้งรัฐบาลแล้ว ข้อเสนอของพรรคก้าวไกลที่ดูไปคนละทางกับแนวทางแรกเริ่มของ ธปท. จะกลับมาพบกันตรงกลางได้อย่างไร

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา