ยักษ์เครื่องใช้ไฟฟ้าญี่ปุ่นบูมตลาดแผ่นเสียง หลังความต้องการในแดนอาทิตย์อุทัยเพิ่มขึ้น 8 เท่าตัว

ในยุคที่อะไรๆ ก็ดิจิทัล ยังมีบางอุตสาหกรรมที่เริ่มกลับมาทำตลาดสินค้าแอนะล็อก ตัวอย่างเช่นแผ่นเสียง เพราะปัจจุบันสินค้าตัวนี้เริ่มกลับมาเป็นที่นิยม ขนาด Sony ยังต้องกลับมาผลิตในรอบ 30 ปี และ Panasonic ก็นำแบรนด์เก่ากลับมาทำตลาด

ภาพ pixabay.com

8 เท่าตัวของการผลิต เพื่อตอบดีมานด์

ความนิยมของแผ่นเสียง หรือ Vinyl นั้นเริ่มกลับมามากจริงๆ อาจเพราะคุณภาพเสียงแบบแอนะล็อกนั้นดึงดูดผู้ฟังรุ่นใหม่มากกว่า รวมถึงคนรุ่นเก่าก็อยากได้ยิน Sound ที่คุ้นเคยในวัยเยาว์ ดังนั้นคงไม่แปลกที่ตลาดที่จะเติบโตถึง 8 เท่าตัว เช่นในปี 2010 มีการผลิตแผ่นเสียงราว 1 แสนแผ่น แต่พอมาปี 2016 กลับมีการผลิตถึง 8 แสนแผ่น

และเหตุนี้เอง Sony จึงกลับมาเปิดโรงงานผลิตแผ่นเสียงอีกครั้ง หลังจากปิดไปนานเกือบ 30 ปี หรือตั้งแต่ปี 1989 เพราะช่วงนั้น Compact Disc กำลังมาแรง และ Vinyl ก็มีขนาดใหญ่ ฟังได้ลำบาก โดยการกลับมาผลิตครั้งนี้จะเริ่มกับศิลปินที่อยู่ภายใต้ลิขสิทธิ์ Sony Music Entertainment (Japan) ก่อน

ภาพ technics.com

ไม่ใช่แค่นั้น ครื่องเล่นแผ่นเสียงก็เริ่มกลับมาเช่นกัน เพราะ Panasonic นำแบรนด์เครื่องเสียงระดับ Hi-Fi อย่าง Technics กลับมาทำตลาดอีกรอบ หลังจากหยุดมา 6 ปี เพื่อรุกตลาดเครื่องเล่นแผ่นเสียงเต็มรูปแบบ รวมถึงฝั่ง Sony ก็ส่งเครื่องเล่นแผ่นเสียงที่สามารถถอดรหัสคุณภาพเสียงจากแผ่นแอนะล็อก ออกมาเป็นดิจิทัลที่มีคุณภาพระดับสูงได้เช่นกัน

สำหรับในประเทศไทยเอง ปัจจุบันศิลปินต่างๆ ก็เริ่มออกแผ่นเสียงกันมากขึ้น และราคาก็ไม่ใช่ถูกๆ หรือหลักพันบาทขึ้นไป เพราะตอนนี้ยังไม่มีที่ผลิตมากนัก และด้วยการผลิตจำนวนน้อย หรือบางครั้งแทบจะเป็น Limited Edition ทำให้การต้องจำหน่ายในราคาสูง เพื่อคุ้มกับต้นทุนในการผลิต

สรุป

เข้าใจว่าตลาดแผ่นเสียงนั้นเติบโตเร็วมาก แต่ด้วยความเป็นแฟชั่น หรือกระแสผิวเผิน ทำให้อาจไม่เติบโตอย่างยั่งยืน และเชื่อว่าแพลตฟอร์มดิจิทัลน่าจะเป็นแพลตฟอร์มหลักในการรับฟังเพลงของผู้บริโภคมากกว่า โดยเฉพาะบริการ Streaming ที่ตอบโจทย์ชีวิตประจำวัน และมีค่าใช้จ่ายที่ไม่สูงจนเกินไป

อ้างอิง // Japan Times

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา