ข่าวดี! เวียดนามเตรียมยกเลิกเพดานการถือครองหุ้นของชาวต่างชาติ มีผลใช้ ปี 2020

รัฐบาลเวียดนามเตรียมที่จะยกเลิกเพดานการถือครองหุ้นของชาวต่างชาติในหลายๆ อุตสาหกรรม ซึ่งจะช่วยให้นักลงทุนชาวต่างชาติทำให้ลงทุนในประเทศเวียดนามได้ง่ายขึ้น

Ho Chi Minh City – ภาพจาก Pixabay

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของประเทศเวียดนาม เตรียมยกเลิกเพดานการถือครองหุ้นของชาวต่างชาติ​ ถือเป็นข่าวดีของนักลงทุนชาวไทย ซึ่งสนใจลงทุนในกิจการต่างๆ รวมไปถึงกองทุนต่างชาติ ที่สนใจการลงทุนในประเทศเวียดนาม เนื่องจากการเติบโตของเศรษฐกิจ

ปัจจุบันเพดานของการถือครองหุ้นของชาวต่างชาติจำกัดอยู่ที่ 49% โดยรัฐมนตรีกระทรวงการคลังเตรียมที่จะยกเลิกเพดานถือครองหุ้นของชาวต่างชาติออกไป คาดว่าข้อกฏหมายจะเข้าสภาในปีหน้า และจะมีผลบังคับใช้ในช่วงปี 2020

ก่อนหน้านี้รัฐบาลเวียดนามได้เพิ่มเพดานการถือครองหุ้นของชาวต่างชาติในบางบริษัท เช่น Vinamilk ซึ่งเป็นผู้ผลิตนมรายใหญ่ที่สุดในประเทศ และได้รับความนิยมจากนักลงทุนชาวต่างชาติเป็นอย่างมาก

การซื้อหุ้นในเวียดนามในปัจจุบันถ้าหากจะซื้อหุ้นที่ติดเพดานการถือครองหุ้นของชาวต่างชาติ อาจต้องจ่ายเงินเพิ่ม 15-30% จากชาวต่างชาติด้วยกันเพื่อที่จะได้หุ้นดีๆ ในตลาดหุ้นเวียดนาม การที่รัฐบาลยกเลิกข้อจำกัดนี้จะสร้างสภาพคล่องในตลาดหลักทรัพย์ได้อีกมาก

อย่างไรก็ดีการยกเลิกเพดานการถือครองหุ้นของชาวต่างชาติจะยังจำกัดในบางอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมอาวุธและความมั่นคง ประกันภัย โทรคมนาคม ที่เพดานการถือครองของชาวต่างชาติอยู่ที่ 49% เหมือนเดิม รวมไปถึง ธนาคาร ที่จำกัดเพดานลงมาเหลือแค่ 30% 

ปูทางสู่ MSCI Emerging Market

ปัจจุบันประเทศเวียดนามอยู่ในดัชนี MSCI Frontier Market และอาจได้รับการพิจารณาให้เข้าสู่การคำนวณ MSCI Emerging Market ถ้าหากรัฐบาลเวียดนามสามารถยกเลิกเพดานการถือครองหุ้นของชาวต่างชาติ และกฏระเบียบต่างๆ ที่ทำให้ง่ายในการลงทุน รวมไปถึงการจัดการเรื่องสภาพคล่องของตลาด

ถ้าหากหุ้นของเวียดนามเข้าสู่การคำนวณ MSCI Emerging Market จะทำให้เม็ดเงินเข้าสู่ตลาดหุ้นของเวียดนามอีกมหาศาล ซึ่งปัจจุบันมีเม็ดเงินของชาวต่างชาติในตลาดหุ้นของเวียดนามประมาณ 34,200 ล้านเหรียญสหรัฐ

ที่มาReuters

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

mm
Content Writer ที่สนใจในเรื่องของตลาดทุนทั้งในและต่างประเทศ กลุ่ม TMT (Technology, Media, Telecom) การควบรวมกิจการ (M&A) นโยบายทางเศรษฐกิจของไทยและต่างประเทศ รวมถึงสิ่งละอันพันละน้อยทางธุรกิจที่น่าสนใจ