เวียดนามสนามรบฟินเทคแห่งอาเซียน: e-Wallet 5 แอปแข่งดุเดือด แต่ผู้ชนะมีได้แค่หนึ่งเดียว

เมื่อ MoMo แอป e-wallet ที่ใหญ่ที่สุดในเวียดนามประสบความสำเร็จอย่างมาก คู่แข่งทั้งในพื้นที่และในภูมิภาคอย่าง Tencent, Grab และ Sea ก็กระโดดเข้ามาเล่นด้วย ส่งผลให้เกิดการแข่งขันของแอปฟินเทคอย่างดุเดือดในเวียดนาม

ความสำเร็จของ MoMo

MoMo ที่ย่อมาจาก Mobile Money เริ่มให้บริการในปี 2013 และเติบโตมาเป็นแอป e-wallet หรือ กระเป๋าเงินดิจิทัลที่ใหญ่ที่สุดในเวียดนามในปัจจุบัน โดยครองส่วนแบ่ง 60% ของตลาดการจ่ายเงินผ่านมือถือ มีผู้ใช้กว่า 25 ล้านคน ประมวลผลธุรกรรมรวม 1.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี (ประมาณ 4.67 แสนล้านบาท)

การที่ MoMo เป็นผู้เล่นรายแรกๆ ในตลาด e-wallet ทำให้มีโอกาสติดต่อกับร้านค้าต่างๆ นับหมื่นในประเทศได้ก่อนใคร และเสนอเทคโนโลยีการโอนเงินระหว่างธนาคารให้ร้านค้าเหล่านั้นได้

หนึ่งในกลยุทธ์ของบริษัทคือ การทำโปรโมชั่นร่วมกับแฟรนไชส์กาแฟแนวหน้าในเวียดนาม รวมถึง Highlands Coffee ที่มีสาขากว่า 300 แห่ง โดยผู้ใช้ของ MoMo จะสามารถสั่งกาแฟผ่านแอปด้วยราคาที่ถูกกว่า และไปรับกาแฟเองได้ในภายหลัง เปิดประสบการณ์ให้ลูกค้าเห็นถึงความสะดวกของแอปที่เป็นมากกว่าบริการโอนเงินอย่างเดียว

แหล่งข่าวระบุว่า ทางบริษัทมีแนวคิดว่าอยากให้แอป MoMo อยู่ใน “หน้าแรกของ iPhone ของลูกค้า” ซึ่งจะเกิดจากการกระตุ้นให้ลูกค้าอยากใช้แอป MoMo ใช้จ่ายแม้แต่สินค้าเล็กๆ น้อยๆ ทำให้พวกเขาใช้แอปมากขึ้น และกลายเป็นผู้ใช้ประจำในที่สุด

ในประเทศที่การค้าขายประมาณ 80% ยังทำผ่านช่องทางออฟไลน์อยู่ การขายกาแฟก็เป็นสิ่งที่เล็กน้อยพอจะให้ลูกค้าใช้แอปได้ทุกวัน หรือวันละหลายๆ ครั้ง ซึ่งอาจจะทำให้ลูกค้าสนใจบริการอื่นๆ ของ MoMo เช่น การจองตั๋วภาพยนตร์ ตั๋วเครื่องบิน สั่งฟู้ดเดลิเวอรี่ หรือ การเล่นเกม อีกด้วย

การแข่งขันที่ดุเดือด

แน่นอนว่า เมื่อเห็นความสำเร็จของ MoMo แล้ว คู่แข่งในภูมิภาคก็ตามเข้ามาลงทุนในตลาดเวียดนามเช่นเดียวกัน

คู่แข่งรายใหญ่ที่สุดก็คือ ZaloPay ที่เป็นบริการจ่ายเงินออนไลน์ของ VNG สตาร์ทอัพยูนิคอร์นรายแรกในเวียดนาม ที่ได้รับการสนับสนุนจาก Tencent

ZaloPay คือ บริการจ่ายเงินที่ผูกกับแอปแชท Zalo ซึ่งเป็นแอปแชทที่มีผู้ใช้มากที่สุดในประเทศ ซึ่งในประเทศจีน Tencent ก็เคยใช้กลยุทธ์การผูกบริการจ่ายเงินไปกับแอปแชทอย่าง WeChat และ WeChat Pay ที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงไปแล้ว

ในอีกด้านหนึ่ง Grab จับมือกับบริษัทระบบจ่ายเงินท้องถิ่น Moca และระบุให้ Moca เป็นช่องทางจ่ายเงินหลักสำหรับบริการฟู้ดเดลิเวอรี่และการเรียกรถของ Grab ในเวียดนาม

ทางด้าน Sea บริษัทเกมและอีคอมเมิร์สจากสิงคโปร์ ก็มีการเปิดตัวระบบจ่ายเงินของตัวเองเหมือนกัน โดยเป็นเจ้าของแอป Now หนึ่งในแอปฟู้ดเดลิเวอรี่ที่ได้รับความนิยมสูงอีกด้วย

Takahiro Suzuki พาร์ทเนอร์จาก Genesia Ventures ที่เชี่ยวชาญด้านการลงทุนในเวียดนามและอินโดนีเซียมองว่า “ตลาด e-wallet อาจจะเหลือผู้เล่นเพียง 2-3 รายในอนาคต แต่นักลงทุนของแต่ละบริษัทก็ทุนหนากันมาก ตราบใดที่ยังมีทุน หลายบริษัทก็จะยังอยู่ร่วมกันได้ เป็นการรบที่ทรมานน่าดู”

เกี่ยวกับตลาดเวียดนาม

ถึงแม้ว่าเวียดนามจะเป็นบ้านของสตาร์ทอัพเทคโนโลยีรายแรกๆ ของเอเชีย อย่าง VNG ที่ก่อตั้งในปี 2004 ก็ตาม แต่ก็ถูกแซงหน้าโดยอินโดนีเซียที่มีประชากรมากกว่าในภายหลัง ด้วยความสนใจจากนักลงทุนที่สูงกว่า

เศรษฐกิจของเวียดนามมีมูลค่าที่ 3.4 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 11.35 ล้านลานบาท) ซึ่งเล็กกว่าเศรษฐกิจของอินโดนีเซีย ไทย และฟิลิปปินส์ แต่ผู้เชี่ยวชาญมองว่าตลาดของฟินเทคในเวียดนามน่าสนใจมาก

อัตราผู้ใช้มือถือของเวียดนามอยู่ที่ประมาณ 80% ของประชากรผู้ใหญ่ แต่กลับมีสาขาธนาคารน้อย ทางรัฐบาลเองก็สนับสนุนวงการฟินเทคอย่างดี โดยการมอบใบอนุญาตให้ดำเนินธุรกิจ e-wallet ให้แก่หลายบริษัท ซึ่งรวมๆ แล้วเป็นโอกาสที่ดีสำหรับการเติบโตของการจ่ายเงินผ่านมือถือแบบดิจิทัล

สถานการณ์โควิด-19 เองก็ช่วยให้ประชาชนหันมาใช้งานเทคโนโลยีการจ่ายเงินออนไลน์กันมากขึ้น ซึ่งต่างจากเมื่อก่อน ตอนที่ร้านค้าส่วนใหญ่ไม่อยากเสียค่าธรรมเนียมการรับเงินออนไลน์ตรงนี้

Photo by Jonas Leupe on Unsplash

E-wallet ยังไม่ใช่สิ่งจำเป็นในชีวิต

Huy Pham ผู้บรรยายของ FinTech-Crypto Hub จาก RMIT University อธิบายว่า ชาวเวียดนามหลายคนดาวน์โหลดแอปวอลเลทหลายแอปเพื่อนำส่วนลดต่างๆ มาใช้ และส่วนมากบอกว่า ถ้าไม่มีส่วนลดแล้ว ก็คงไม่ใช้งานแอปเหล่านี้อีกต่อไป

Huy เสริมว่าเมื่อตอนที่ระบบธนาคารยังไม่สะดวกพอ e-wallet ต่างๆ ก็ทำให้ชีวิตสะดวกขึ้น แต่ตอนนี้ธนาคารก็ออกแบบแอปของตัวเองออกมาหมดแล้ว ซึ่งทำได้เหมือนกันทุกอย่าง ดังนั้น แอป e-wallet จึงต้องหาวิธีที่ทำให้ตัวเองแตกต่างให้ได้

อีกทั้ง ทางเครือข่ายมือถือก็เริ่มให้บริการจ่ายเงินผ่านเบอร์โทรศัพท์อย่างเดียวโดยไม่ต้องมีบัญชีธนาคารแล้ว ซึ่งเข้ามาเป็นอีกหนึ่งคู่แข่งของ e-wallet โดยตรง

กฎระเบียบและการ IPO

สตาร์ทอัพฟินเทคในเวียดนามเตืบโตได้ส่วนหนึ่งเพราะการสนับสนุนจากรัฐบาล โดยตอนนี้มีผู้ให้บริการ e-wallet ในประเทศถึง 34 ราย แต่มีเพียง 5 รายเท่านั้นที่เป็นรายใหญ่

แต่ในอนาคต ทางรัฐบาลอาจจะเข้ามาแทรกแซงเมื่อบริษัทเหล่านี้มีอิทธิพลมากเกินไป อย่าง Ant Group ของจีน หรือ อินโดนีเซียที่ธนาคารแห่งชาติระงับการอนุมัติใบอนุญาต e-wallet ใหม่ๆ แล้ว

ในด้านของการจดทะเบียนในตลาดหุ้น บริษัทในเวียดนามต้องผ่านการตรวจสอบของผู้ดูแลตลาดหุ้นก่อน แต่ตลาดหุ้นในประเทศก็มีมูลค่าค่อนข้างต่ำ และทีลิมิตสำหรับผู้ถือหุ้นต่างชาติ

ในปี 2017 ทาง VNG ก็เริ่มการทางจดทะเบียนที่ตลาดหุ้นสหรัฐ แต่ยังไม่มีข่าวจนถึงปัจจุบัน

ด้าน VNLife เจ้าของ VNPay ที่สนับสนุนโดย SoftBank และ MoMo ให้ข้อมูลว่ายังไม่วางแผน IPO ในเร็วๆ นี้ แต่ก็มีการเปิดการระดมทุนไปในอดีต

นักลงทุนรายหนึ่งกล่าวว่า “พวกคุณกำลังสู้กันเพื่อชิงพื้นที่ในหน้าแรกของ iPhone ใช่ไหม? เพราะไม่มีใครใช้แอปวอลเลทกันคนละ 5 แอปหรอกนะ” 

สรุป

ถึงแม้ว่าสตาร์ทอัพจากเวียดนามจะยังมีมูลค่าไม่มากเท่าสตาร์ทอัพยูนิคอร์นรายอื่นๆ ในอาเซียน แต่ก็มีโอกาสเติบโตสูงในอนาคต น่าจับตามองว่าพวกเขาจะมีกลยุทธ์ต่อไปอย่างไร

ที่มา – Asia Nikkei

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา