“Vibecession”: ทั่วโลกมีความรู้สึกร่วมว่าเศรษฐกิจแย่กว่าความเป็นจริง สิงคโปร์สวนทาง เกือบ 80% มองบวก เชื่อมั่นในรัฐบาล

หากถามว่าช่วงนี้เศรษฐกิจเป็นยังไง หลายคนไม่ว่าจะอยู่ในประเทศไหนในโลกอาจตอบว่าไม่ค่อยดีนัก แต่หากนำไมค์ไปจ่อปากคนสิงคโปร์คุณจะได้คำตอบที่กลับตรงกันข้าม เพราะคนส่วนใหญ่ยังมองเศรษฐกิจในทิศทางบวกและเชื่อมั่นว่ารัฐบาลสามารถดูแลชีวิตหลังเกษียณให้ประชาชนได้ อะไรคือสาเหตุของมุมมองเรื่องนี้ ?

SurveyMonkey เผยผลสำรวจชื่อว่า “Your Money International Financial Security” ที่ทำใน 9 ประเทศพบว่า 61% ของชาวสิงคโปร์ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศที่ค่าครองชีพแพงที่สุดในโลก รู้สึกว่าพวกเขากำลังใช้เงินแบบเดือนชนเดือน แต่ 79% กลับมองว่าเศรษฐกิจจะเป็นไปในทิศทางบวก

ซึ่งตรงข้ามกับกระเเสความคิดของคนทั่วโลกที่น้อยกว่าครึ่งเชื่อว่าเศรษฐกิจจะเป็นไปเชิงบวก โดยคนส่วนใหญ่ในประเทศอื่น ๆ เช่นสหรัฐอเมริกา 49% ในสหราชอาณาจักร 37% ในออสเตรเลีย 36% และในเยอรมนี 34% เท่านั้นที่มองในแง่ดี

ผลสำรวจนี้ครอบคลุมคนมากกว่า 4,300 คนในออสเตรเลีย ฝรั่งเศส เยอรมนี เม็กซิโก สิงคโปร์ สเปน สวิสเซอร์แลนด์ สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกาในช่วงระหว่างวันที่ 8-25 มีนาคม สะท้อนภาพความรู้สึกทางด้านการเงินของคนทั่วโลก

“Vibecession” กำลังเป็นเทรนด์ทั่วโลก

Vibecession เป็นคำที่อธิบายความกังวลของคนทั่วโลกต่อสภาวะเศรษฐกิจที่จะกระทบต่อสถานะทางการเงินในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาจากเหตุการณ์ปลดพนักงานครั้งใหญ่จากบรรดาบริษัทต่าง ๆ ไปจนถึงภาวะเงินเฟ้อทั่วโลก แม้กองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือ IMF จะมีคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจโลกกำลังเข้าสู่ช่วง “Soft Landing” ที่เงินเฟ้อกำลังชะลอตัวลงแต่เศรษฐกิจจะไม่ได้ชะลอลงไปด้วย

ผลสำรวจของ SurveyMonkey พบว่า คนส่วนใหญ่ใน 9 ประเทศกำลังเผชิญกับภาวะกดดันทางด้านการเงินโดยมีภาวะเงินเฟ้อเป็นสาเหตุของความกังวลอันดับแรก โดยเปอร์เซ็นต์ของผู้ที่มีความกดดันทางการเงินในแต่ละประเทศเป็นดังนี้

  • เม็กซิโก 73%
  • สเปน 72%
  • สหรัฐอเมริกา 70%
  • ออสเตรเลีย 70%
  • สหราชอาณาจักร 63%
  • เยอรมนี 57%
  • สวิสเซอร์แลนด์ 55%
  • สิงคโปร์ 49%
  • ฝรั่งเศส 48%

Eric Johnson ซีอีโอของ SurveyMonkey อธิบายว่า ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่เห็นพ้องต้องกันว่าปัญหาเรื่องซัพพลายเชนในช่วงโควิด-19 คลี่คลายลงอย่างมากแล้ว และแม้ว่าผู้เชี่ยวชาญยังจับตามองและระมัดระวังปัญหาการว่างงานทั่วโลก ถึงอย่างนั้น อัตราการว่างงานในตอนนี้ก็ได้ลดลงและอยู่ในระดับที่น้อยกว่าช่วงก่อนโควิด-19 เสียอีก

“Vibecession” จึงเป็นคำที่มีความหมายเหมือน Recession ที่แปลว่า ภาวะเศรษฐกิจถดถอยแต่ต่างกันตรงที่เป็นมุมมองที่มีพื้นฐานมาจากการรับรู้และความรู้สึกของผู้คน

สิงคโปร์สวนทางทั่วโลก

สิงคโปร์เป็นประเทศเดียวที่ถูกมองว่ามีความมั่นคงทางการเงินดีกว่ารุ่นพ่อแม่เมื่อเทียบกับในช่วงอายุเดียวกัน ขณะที่คนส่วนใหญ่ในอีก 8 ประเทศที่เหลือมองว่าตนเองแย่กว่าหรือมั่นคงพอ ๆ กับพ่อแม่

นอกจากนี้ มุมมองทางการเงินของสิงคโปร์ยังแตกต่างจากประเทศอื่น ขณะที่เกือบครึ่งของผู้ตอบแบบสอบถามในออสเตรเลียและสหราชอาณาจักรให้ความสำคัญกับการใช้เงินให้น้อยกว่าที่หามาได้เพื่อให้เกิดความรู้สึกมั่นคงทางการเงิน ชาวสิงคโปร์กลับให้คุณค่ากับการงานที่มั่นคงและทำรายได้สูง

ในส่วนของรายได้ส่วนตัว มีคนเพียง 12% เท่านั้นในสิงคโปร์ที่ต้องทำรายได้ให้ถึง 50,000 ดอลลาร์สิงคโปร์หรือราว 1.35 ล้านบาทต่อปี (ประมาณ 110,000 บาทต่อเดือน) เพื่อที่จะรู้สึกว่าตัวเองมีความมั่นคงทางการเงิน

ขณะที่ 31% ของผู้ตอบแบบสอบถามต้องการสร้างรายได้อย่างน้อย 100,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ต่อปี อีก 30% ต้องทำรายได้อย่างน้อย 500,000 ดอลลาร์ฯ ส่วนอีก 22% ต้องการทำรายได้อย่างน้อย 1 ล้านดอลลาร์ฯ มีเพียง 4% เท่านั้นที่กล่าวว่า พวกเขาจะไม่มีวันรู้สึกมั่นคงทางการเงิน

ชาวสิงคโปร์ยังมีมุมมองที่ดีต่อการลงทุน โดยคน 51% กล่าวว่า พวกเขาพึ่งพารายได้จากการลงทุนเพื่อสร้างความมั่นคงทางการเงิน ขณะที่ 20% มองว่า การมีธุรกิจของตัวเองเป็นคำตอบที่จะช่วยสร้างความมั่นคง

ทางด้านเงินสำรอง มีเพียงผู้ตอบแบบสอบถามเกือบครึ่งจากทั้งหมด 9 ประเทศเท่านั้นที่มีเงินเก็บสำรองสำหรับสถานการณ์ฉุกเฉิน ขณะที่ 73% ของคนสิงคโปร์กล่าวว่า พวกเขามีเงินเก็บสำรองสำหรับสถานการณ์ที่คาดไม่ถึง

สิงคโปร์และฝรั่งเศสยังเป็น 2 ประเทศที่มีจำนวนผู้ตอบแบบสอบถามเป็นเปอร์เซ็นต์สูงสุดที่เก็บเงินสำหรับเกษียณอายุได้ตามเป้าหมายหรือเร็วกว่าที่ตั้งเป้าไว้

สุดท้ายสิ่งที่สิงคโปร์โดดเด่นออกมาจากประเทศอื่น คือ มุมมองที่ดีต่อการบริหารรัฐบาลที่มีผลต่อการเงินส่วนตัว โดย 78% ของผู้ตอบแบบสอบถามในสิงคโปร์มั่นใจว่ารัฐบาลจะสามารถให้การสนับสนุนทางการเงินในช่วงการเกษียณอายุได้ โดยมีเปอร์เซ็นต์สูงที่สุดในบรรดาประเทศอื่น ๆ รองลงมาเป็นเม็กซิโก (54%) และสวิสเซอร์แลนด์ (51%) ขณะที่ 5 ประเทศที่เหลือไม่มั่นใจว่ารัฐบาลจะช่วยเหลือด้านการเงินในช่วงเกษียณอายุได้

ที่มา – CNBC

อ่านเพิ่มเติม

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา