อาจารย์วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร รองหัวหน้าพรรคประชาชน ที่ปรึกษาประจำคณะกรรมาธิการการพัฒนาเศรษฐกิจ พูดถึงรายงาน World Development Report 2024 ฉบับล่าสุดของ World Bank
โดยระบุว่าการติดกับดักรายได้ปานกลางมักจบที่คำว่านวัตกรรม และไปไม่ได้ลึกหรือไกลไปกว่านั้น แต่ในรายงานดังกล่าว เสนอมุมมองที่ฉีกออกไปเพราะวิเคราะห์ให้เห็นว่า อุปสรรคในการก้าวพ้นกับดักรายได้ปานกลางนั้นไม่ได้มีแค่เรื่องเศรษฐกิจ
ถ้าไม่กล้าจัดการปม “การเมือง” และ “สังคม” อย่างตลาดผูกขาด บทบาทรัฐวิสาหกิจ การใช้คอนเน็คชั่นของชนชั้นนำที่กีดกันคนเก่ง รวมถึงระบบชายเป็นใหญ่แล้ว ก็ยากที่จะหลุดพ้นไปเป็นประเทศรายได้สูง
อาจารย์หยิบประเด็นด้านสังคมและการเมือง 8 ข้อที่น่าสนใจจากรายงาน โดยสรุปไว้ ดังนี้
- การแยก “การเมือง” ออกจาก “เศรษฐกิจ” อย่างที่นักเศรษฐศาสตร์รุ่นก่อนเคยทำ หรือความเชื่อว่าการเมืองจะเป็นอย่างไรไม่สำคัญ ขอให้นโยบายดี เศรษฐกิจก็จะดีเองนั้น กลายเป็นสิ่งที่ขัดกับโลกความเป็นจริงไปแล้ว เพราะมีข้อมูลชัดเจนว่า ประเทศไหนยิ่งมีเสรีภาพทางการเมืองต่ำ ก็จะยิ่งทำให้อัตราการเติบโตต่ำไปด้วย
- การเพิ่มเม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจของประเทศรายได้ปานกลาง จะไม่ได้ผลเหมือนกับตอนที่ประเทศยังยากจนอยู่ เพราะการพัฒนาต่อไปอีกขั้นเป็นเรื่องของการนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศมากระจายและต่อยอดในประเทศ จึงเกี่ยวพันแนบแน่นกับแนวทางการจัดสรรทรัพยากร บทบาทของเจ้าตลาด และโอกาสของคนเก่ง
- ในรายงานนี้ใช้คำว่า Incumbent เยอะมาก (ในรายงาน 241 หน้า พบคำนี้ถึง 220 ครั้ง) ภาษาอังกฤษหมายถึงผู้อยู่มาก่อน แต่ขอแปลว่า “เจ้าตลาด” น่าจะเข้าใจง่าย โดยเจ้าตลาดในรายงานนี้สะท้อนมิติทั้งทางเศรษฐกิจ (บริษัทธุรกิจ) การเมือง (นักการเมือง) และสังคม (ชนชั้นนำ) เพื่อนำไปสู่ข้อเสนอปลายทางว่า ยังไงก็ต้องมีนโยบายจัดการกับเจ้าตลาด เศรษฐกิจถึงจะไปต่อไป
- ตามแนวคิดชุมเพเตอร์แบบดั้งเดิม นวัตกรรมจะเกิดได้ก็ต้องอาศัย “การทำลายล้างที่สร้างสรรค์” ที่ผู้เล่นหน้าใหม่ใช้สู้กับเจ้าตลาดเดิม เช่น เทคโนโลยีดิจิทัลมาแทนที่กล้องฟิล์มจนทำให้โกดักล่มสลาย
แต่ในงานวิจัยใหม่ๆ พบว่าเจ้าตลาดเดิมก็สามารถเป็นผู้สร้างสรรค์ได้เช่นกัน หากใช้ความได้เปรียบจาก “ขนาดการผลิต” (scale) ที่มีอยู่ในมือให้เกิดประโยชน์ แต่เจ้าตลาดจะใช้หรือไม่ใช้นั้นเป็นเรื่องทางการเมือง ว่ารัฐจะสามารถจูงใจหรือบังคับให้เจ้าตลาดแข่งขันอย่างสร้างสรรค์ได้หรือไม่
- ปัญหาร่วมกันของประเทศรายได้ปานกลางก็คือ เจ้าตลาดมักไม่ได้ทะเยอทะยานที่จะพัฒนาตัวเองให้เข้าใกล้ “ขอบฟ้าเทคโนโลยี” (technology frontier) ในธุรกิจของตัวเอง แต่เลือกใช้คอนเน็คชั่นทางการเมืองของตัวเองในการกีดกันการแข่งขันจากผู้เล่นหน้าใหม่
ตัวอย่างที่น่าสนใจและตกใจคือประเทศอิตาลี ดังที่โชว์ในกราฟรูปตัว X
งานศึกษาพบว่า บริษัทอิตาลียิ่งมีขนาดใหญ่ขึ้น ก็จะมีลักษณะ 2 อย่างตามมา หนึ่งคือจะยิ่งจ้างนักการเมืองท้องถิ่นจำนวนเพิ่มขึ้น ! และสองคือจะมีจำนวนสิทธิบัตรน้อยลง !!
พูดอีกอย่างก็คือ ยิ่งเป็นบริษัทใหญ่ ก็ยิ่งมีคอนเน็คชั่นการเมืองเพิ่ม และยิ่งไม่สนใจพัฒนาเทคโนโลยี เป็นตัวอย่างด้านลบจากประเทศตะวันตก (อันที่จริงนับว่าดีแล้ว ที่อิตาลียังมีข้อมูลนี้ให้มาวิเคราะห์ต่อ เพราะหลายประเทศไม่มีข้อมูลด้วยซ้ำ)
- โจทย์สำคัญทางนโยบายก็คือ แล้วรัฐจะจัดการ “เจ้าตลาด” เหล่านี้ยังไง
เจ้าตลาดในรายงานนี้ยังรวมถึง “รัฐวิสาหกิจ” ด้วย เพราะมักเป็นผู้ต่อต้านการเปลี่ยนแปลงในตลาดที่ได้เปรียบอยู่แล้ว
โดยรายงานนี้ให้ความสำคัญกับหน่วยงานกำกับดูแลการแข่งขัน (competition authority) ที่ทวีความสำคัญมากขึ้นในปัจจุบัน เพราะมีหน้าที่อนุมัติหรือห้ามปรามการควบรวมกิจการของบริษัทใหญ่ พฤติกรรมการฮั้วหรือเอาเปรียบรายย่อย ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดทั้งปวงก็คือการ “ส่งสัญญาณ” ให้กับผู้เล่นหน้าใหม่ทั้งจากในและนอกประเทศที่เก่งกว่า ว่าอยากเข้ามาแข่งขันเพื่อยกระดับสินค้าและบริการแค่ไหน หรือหนีไปลงทุนที่อื่นแทนดีกว่า เพราะไม่ต้องมาเสี่ยงสู้กับเจ้าตลาดผู้มีคอนเน็คชั่น
- นอกจากการกำกับดูแลการแข่งขันแล้ว โจทย์อีกข้อของประเทศรายได้ปานกลางคือ ต้องทำให้ “ความรู้ความสามารถ” เป็นหลักพื้นฐานในการจ้างงานและเลื่อนสถานะทางสังคม
เพราะระบบที่ให้รางวัลกับคนเก่ง (Rewarding Merit) ย่อมสร้างแรงจูงใจในการพัฒนาระดับปัจเจก ส่งผลดีต่อการพัฒนาองค์กรและเทคโนโลยีสืบเนื่องตามมา
ฟังดูเหมือนเป็นเรื่องพื้นฐาน แต่ในความเป็นจริง ตลาดแรงงานในประเทศรายได้ปานกลางมักถูกบิดเบือนด้วยปัจจัย 3 อย่าง คือ เส้นสาย ภูมิลำเนา และค่านิยมชายเป็นใหญ่ หรือที่รายงานสรุปเป็น 3Ns คือ Networks, Neighborhoods และ Norms
คนเก่งที่ไม่ก้าวหน้าในสังคมแบบนี้ ย่อมมองหาโอกาสในต่างแดน ทำให้เกิดสภาวะสมองไหล ส่วนบริษัทเจ้าตลาดที่จ้างงานด้วยเส้นสาย ก็ใช้คอนเน็คชั่นการเมืองปกป้องการแข่งขันไว้ต่อไป
- ในปัจจุบัน การออกแบบนโยบายเพื่อกระตุ้นให้เกิดการแข่งขันที่สร้างสรรค์ระหว่างเจ้าตลาดและผู้เล่นหน้าใหม่ จำเป็นต้องอาศัยฐานข้อมูลที่ละเอียดระดับองค์กร (firm-level data) ที่จะช่วยให้ผู้กำหนดนโยบายเข้าใจพฤติกรรมขององค์กรในแต่ละอุตสาหกรรม เช่น บริษัทลักษณะใดที่เน้นตลาดส่งออก บริษัทแบบไหนเน้นตลาดภายใน บริษัทแบบไหนที่มีการจดสิทธิบัตรเป็นจุดแข็ง
ประโยคนี้ในรายงาน (หน้า 20) น่าจะสรุปประเด็นสังคมและการเมืองของกับดักรายได้ปานกลางได้ดีครับ
By preserving privilege, it is stymying creation.
อภิสิทธิ์กับความคิดสร้างสรรค์ ไปด้วยกันไม่ได้
ที่มา – Facebook Page: Veerayooth Kanchoochat – วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา