สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ ETDA แถลงตัวเลขคาดการณ์ผลสำรวจมูลค่าอีคอมเมิร์ซในไทยปี 2560 มูลค่าอีคอมเมิร์ซทั้งสิ้น 2,812,592.03 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นมูลค่าอีคอมเมิร์ซประเภท B2B หรือการซื้อระหว่างองค์กร ประมาณ 1,675,182.23 ล้านบาท หรือคิดเป็น 59.56%
รองลงมา เป็นมูลค่าของประเภท B2C หรืออีคอมเมิร์ซระหว่างผู้ประกอบการกับผู้บริโภค จำนวนมากกว่า 812,612.68 ล้านบาท หรือ 28.89% และส่วนที่เหลือราว 324,797.12 ล้านบาท หรือ 11.55% เป็นมูลค่าตามธุรกิจประเภท B2G
เมื่อเทียบมูลค่าอีคอมเมิร์ซระหว่างปี 2560 กับปี 2559 จะพบว่ามูลค่าของประเภท B2B มีการเติบโตขึ้น 8.63% ประเภท B2C ที่โตขึ้น 15.54%
ค้าปลีก-ค้าส่ง ครองแชมป์มูลค่าอีคอมเมิร์ซสูงสุด
ส่วนของการแบ่งมูลค่าอีคอมเมิร์ซตามประเภทอุตสาหกรรมทั้ง 8 กลุ่ม พบว่าอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าอีคอมเมิร์ซสูงที่สุด ได้แก่
- อันดับที่ 1 อุตสาหกรรมการค้าปลีกและการค้าส่ง มีมูลค่าอีคอมเมิร์ซ 869,618.40 ล้านบาท (30.92%)
- อันดับที่ 2 อุตสาหกรรมการให้บริการที่พัก มีมูลค่าอีคอมเมิร์ซ 658,131.15 ล้านบาท (23.40%)
- อันดับที่ 3 อุตสาหกรรมการผลิต มีมูลค่าอีคอมเมิร์ซ 417,207.07 ล้านบาท (14.83%)
- อันดับที่ 4 อุตสาหกรรมข้อมูลข่าวสารและการสื่อสาร มีมูลค่าอีคอมเมิร์ซ 404,208.00 ล้านบาท (14.37%)
- อันดับที่ 5 อุตสาหกรรมการขนส่ง มีมูลค่าอีคอมเมิร์ซ 104,904.28 ล้านบาท (3.73%)
- อันดับที่ 6 อุตสาหกรรมศิลปะความบันเทิง และนันทนาการ มีมูลค่าอีคอมเมิร์ซ 19,716.04 ล้านบาท (0.70%)
- อันดับที่ 7 อุตสาหกรรมบริการอื่นๆ มีมูลค่าอีคอมเมิร์ซ 11,280.33 ล้านบาท (0.43%)
- อันดับที่ 8 อุตสาหกรรมการประกันภัย มีมูลค่าอีคอมเมิร์ซ 2,729.65 ล้านบาท (0.10%)
ตั้ง e-Commerce Park พัฒนาแรงงานรับตลาดโต
ETDA เตรียมจัดตั้ง e-Commerce Park เพื่อมุ่งเน้นการพัฒนาบุคลากร ที่จะเป็นตลาดแรงงานในตลาด e-Commerce ต่อไปในอนาคต ภายใต้การสนับสนุนจากภาครัฐ สถาบันการศึกษาและภาคธุรกิจ สำหรับการส่งเสริม และพัฒนาผู้ประกอบการด้านธุรกิจอีคอมเมิร์ซในระดับประเทศอย่างครบวงจร
นอกจากนี้ยังมีการทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการจัดตั้ง e-Commerce Park ระหว่าง ETDA กับมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ที่จะร่วมมือกันส่งเสริมและสนับสนุนด้านธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งดำเนินกิจกรรมในรูปแบบ e-Commerce Park อันจะเป็นเครื่องมือสนับสนุน และอำนวยความสะดวกต่อผู้ประกอบการ SMEs ผู้ผลิตสินค้า ผู้ให้บริการ ทั้งในประเทศ และต่างประเทศสำหรับอุตสาหกรรม e-Commerce
อีกทั้ง ETDA ได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับ Dongguan China Council for the Promotion of International Trade (Dongguan CCPIT) ประเทศจีน หน่วยงานรัฐเพื่อสนับสนุน ส่งเสริมความร่วมมือ และการค้าระหว่างประเทศของภาคธุรกิจในเมือง Dongguan (ตงกวน) ซึ่งเป็นเมืองอีคอมเมิร์ซอันดับ 1 ของจีน และเป็นแหล่งผลิตเทคโนโลยีชั้นนำของโลก
เป้าหมายในการสร้างความร่วมมือในครั้งนี้มีด้วยกัน 5 ด้าน คือ 1. เพื่อการแลกเปลี่ยน พัฒนา รวบรวมความรู้ ข้อมูลทักษะการปฏิบัติงาน และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ 2. การแลกเปลี่ยนบุคลากร การปรึกษาหารือ กระบวนการทำงานร่วมกัน และ/หรือ โครงการที่จัดทำขึ้น 3. จัดกิจกรรมร่วมกัน ทั้งการบรรยาย การจัดอบรมสัมมนา และ/หรือโครงการวิจัย ในเรื่องที่เป็นประโยชน์ร่วมกันตามความเหมาะสม 4. การแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับกิจกรรมปัจจุบันและวางแผนกิจกรรมที่ในเรื่องที่เกี่ยวข้อง และ 5. การส่งเสริมกิจกรรมอื่นๆเพื่อเสริมสร้างความร่วมมือและความสัมพันธ์ร่วมกัน ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการขยายความร่วมมือกับหน่วยงานอื่นๆ ในประเทศจีน และทั่วโลก
ที่จีนมีการพัฒนา e-Commerce Park กว่า 2,000 แห่งทั่วประเทศ มีลักษณะคล้ายนิคมอุตสาหกรรม หรือเมืองที่มีพื้นที่สำหรับการดำเนินงานร่วมกันของบริษัทต่างๆ เพื่อเป็นศูนย์แลกเปลี่ยนความรู้ เทคโนโลยี และสร้างความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการ, ศูนย์ฝึกอบรม, ส่วนให้คำปรึกษา, ส่วนพื้นที่คลังสินค้า และพื้นที่สำหรับการทำ Workshop ด้วย
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา