ปัจจุบันวง K-Pop เริ่มมีศิลปินเป็นชาวต่างชาติมากขึ้น ตั้งแต่รุ่นบุกเบิกอย่าง “นิชคุณ” ของวง 2PM หรือสาวๆ วง Twice ที่มีสมาชิกต่างชาติหลายคน แต่การจะไปค้นหาดาวในต่างปรเทศนั้นไม่ง่าย V-Square จึงเกิดขึ้น
ตอบโจทย์ทั้งค่ายเพลง และคนอยากเป็นศิลปิน
แม้กระแส K-Pop จะดรอปลงบ้างเมื่อเทียบกับ 6-7 ปีก่อน แต่ใช่ว่า K-Pop จะหายไปจากตลาด เพราะตอนนี้ค่ายเพลงในเกาหลีใต้เริ่มจับจุดได้แล้วว่าจะเข้าไปสร้างตลาดให้กลับมาคึกคักเหมือนในอดีตได้อย่างไร ซึ่งหนึ่งในกลยุทธ์นั้นก็คือการนำศิลปินชาวต่างชาติเข้ามาเป็นสมาชิกในวง เพื่อสร้างความแปลกใหม่
แต่การจะไปหาศิลปินต่างชาติไม่ว่าจะที่ไหนๆ ต่างต้องใช้ต้นทุนจำนวนมากเพื่อจัดงาน Audition ในแต่ละประเทศ จึงไม่แปลกที่จะเห็นแต่ค่ายเพลงใหญ่ๆ ที่สามารถทำแบบนี้ได้ และเป็นข้อเสียเปรียบที่ค่ายเล็กๆ จะเปิดตลาดต่างประเทศได้บ้าง ส่วนฝั่งคนที่อยากเป็นศิลปินเอง ถ้างาน Audition ไม่ได้จัดในที่ใกล้เคียง ก็ต้องลงทุนเดินทางไปอีก
ดังนั้น V-Square จึงเกิดขึ้นเพื่ออุดช่องว่างดังกล่าว ผ่านการจัดทำ Online Audition Platform โดยร่วมมือกับ Sand Factory หนึ่งในโรงเรียนสอนศิลปินชั้นนำของเกาหลีใต้ เพื่อช่วยคัดเลือกผู้สมัครในระดับเริ่มต้น ก่อนที่จะไปถึงขั้นค่ายเพลง หรือบริษัทตัวแทนศิลปินจะเข้ามาคัดเลือกอีกครั้งหนึ่ง
ศิลปินที่สนใจต้องได้ประโยชน์ ค่าใช้จ่ายจึงอยู่ที่ค่ายเพลง
Jung-tae Hwang ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ V-Square เล่าให้ฟังว่า Online Audition Platform ที่สะดวก และมีความเป็นกลางน่าจะช่วยอุดช่องว่างนี้ได้ ผ่านเป้าหมายของบริษัทที่ต้องการช่วยค่ายเพลงต่างๆ ให้พบกับดาวดวงใหม่ในระดับโลกได้ง่ายกว่าเดิม และเปิดโอกาสให้คนที่สนใจ K-Pop เข้ามาในวงการได้ง่ายขึ้น
สำหรับการทำงานของ V-Square นั้นจะเริ่มจากค่ายเพลง หรือบริษัทตัวแทนศิลปินมาประกาศการคัดเลือกบนเว็บไซต์ v-sqr.com จากนั้นทาง Sand Factory ก็จะคัดเลือกในระดับเริ่มต้นเพื่อหา 50 คนที่ดีที่สุดส่งให้ทางผู้จัดคัดเลือก สุดท้ายก็จะประกาศผู้ชนะ และส่งตั๋วเครื่องบินเพื่อให้มาสัมภาษณ์รอบสุดท้ายที่เกาหลีใต้
ส่วนเรื่องการหารายได้นั้น V-Square จะได้ค่าใช้บริการจากของค่ายเพลงต่างๆ ผ่านการหักจากรางวัลชนะเลิศ รวมถึงจำนวนผู้เข้าสมัครคัดเลือกในครั้งนั้นๆ ปัจจุบัน V-Square ได้ทำงานกับหลายค่ายเพลงแล้ว เช่น A100 Entertainment และ All-S Entertainment ซึ่งหลังจากนี้มีแผนเข้าไปเจรจากับค่ายยักษ์ใหญ่เพิ่มเติม
สรุป
ถือเป็นโอกาสใหม่ๆ ของคนที่อยากเข้าค่ายเพลงที่เกาหลีใต้ แม้ปัจจุบันการทำ Online Audition จะเห็นจากรายการแข่งขันต่างๆ บ้างแล้ว แต่การพัฒนารูปแบบดังกล่าวมาเป็นโมเดลธุรกิจเพื่อสร้างรายได้อย่างยั่งยืนน่าจะเป็นครั้งแรกๆ ของวงการเพลง ดังนั้นคงต้องรอดูกันต่อไปว่าสุดท้ายแล้ว Online Audition Platform จะเวิร์กหรือไม่
อ้างอิง // The Korea Herald, V-Square
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา