การแข่งขันผู้นำโลกยุคใหม่ สหรัฐฯ-จีน ยังไม่จบ ไทยจะอยู่อย่างไร ท่ามกลางโลกที่แบ่งเป็น 2 ฝั่ง

  • การเติบโตทางเศรษฐกิจจีนเร่งตัวอย่างต่อเนื่อง สร้างความกังวลให้สหรัฐฯ ผู้คุมกฎและระเบียบโลกไว้
  • สหรัฐฯ เร่งกดดันจีนในทุกมิติ ทั้งผ่านมาตรการคว่ำบาตร และผ่านร่างกฎหมายอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์เพื่อแข่งขันกับจีน

ขณะที่จีน ออกกฎหมายตอบโต้มาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ และยังคงเร่งผลักดันอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์อย่างต่อเนื่อง 

  • สมรภูมิการแข่งขันช่วงชิงตำแหน่งผู้นำโลกคงไม่จบในระยะเวลาอันสั้น ไทยต้องติดตามสถานการณ์และปรับตัวให้พร้อมรับความเสี่ยงและรองรับโอกาส 

K Research

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ความขัดแย้งระหว่างจีนและสหรัฐฯ ที่เคยเชื่อว่าจะบรรเทาลงจากยุคทรัมป์นั้นกลับไม่เป็นไปตามนั้น หากแต่ยกระดับไปอีกขั้นจากระดับทวิภาคีเป็นระดับพหุภาคี ผ่านการกดดันจีนร่วมกันโดยกลุ่มพันธมิตร G7 และ NATO ขณะที่ประเด็นความขัดแย้งก็เข้มข้นขึ้นในทุกมิติ ครอบคลุมเรื่องเศรษฐกิจ การเงิน ความมั่นคงทางทหาร เทคโนโลยี และด้านสิทธิมนุษยชน  

นับตั้งแต่การเข้าร่วม WTO ของจีนในปี 2544 การเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนก็เร่งตัวอย่างต่อเนื่อง ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศเติบโตถึง 11 เท่า แตะระดับ 14.72 ล้านล้านเหรียญดอลลาร์ฯ ในปี 2563 ส่งผลให้ช่องว่างทางขนาดเศรษฐกิจระหว่างจีนและสหรัฐฯ ลดลง ซึ่งสร้างความกังวลให้สหรัฐฯ ผู้ซึ่งเป็นผู้คุมกฎและระเบียบโลกไว้ 

การแข่งขันระหว่างมหาอำนาจเดิมอย่างสหรัฐฯ และผู้ท้าชิงอย่างจีนจึงเป็นสิ่งที่ยากจะหลีกเลี่ยง โดยการตอบโต้จีนในยุคของประธานาธิบดีไบเดนไม่ใช่แค่การตอบโต้ด้านการขาดดุลทางการค้าเหมือนสมัยทรัมป์ แต่เป็นการแข่งขันในทุกมิติ โดยเปลี่ยนจากการต่อสู้ในรูปแบบเดิม มาเป็นการต่อสู่บนยุทธศาสตร์ชาติระยะยาวที่ถูกบัญญัติไว้ในกฎหมายของทั้งสองประเทศ 

K Research
ภาพจาก Shutterstock

กฎหมายจากฝั่งสหรัฐฯ เพื่อกีดกันและแข่งขันกับจีน

สหรัฐฯได้มีการผ่านร่างกฎหมายสำคัญหลายฉบับเพื่อกีดกันและแข่งขันกับจีน โดยสามารถแยกวัตถุประสงค์ได้ดังนี้

1 กฎหมายเพื่อกีดกันจีนในการนำเข้าและส่งออกสินค้าและเทคโนโลยี เป็นกฎหมายที่เพิ่มความยุ่งยากในการดำเนินการด้านศุลกากร โดยการกำหนดให้บริษัทและบุคคลสัญชาติสหรัฐฯ ต้องขอใบอนุญาติก่อนดำเนินการค้าขายกับบริษัทจีนที่ถูกบรรจุในบัญชีดำของกระทรวงพาณิชย์ หรือ “Entity List” ทั้งนี้ ยุคของไบเดนได้ขยายเหตุผลในการเพิ่มรายชื่อบริษัทจีน ให้ครอบคลุมประเด็นสิทธิมนุษยชน นอกเหนือจากเรื่องความมั่นคงด้านทหารและเทคโนโลยี โดยล่าสุดสหรัฐฯ ได้เพิ่มบริษัทจีน 5 แห่ง ลงใน Entity List โดยให้สาเหตุจากการบังคับใช้แรงงานในมณฑลซินเจียง

2 กฎหมายเพื่อกีดกันการระดมทุนของบริษัทจีนในสหรัฐฯ เป็นกฎหมายที่ออกมาเพื่อห้ามให้บริษัทและบุคคลสัญชาติสหรัฐฯ ลงทุนในบริษัทจีน โดย ณ วันที่ 3 มิถุนายน 2564 ไบเดนได้ลงนามคำสั่งประธานาธิบดีบรรจุ 59 บริษัทจีนลงในรายชื่อ “NS-CMIC” โดยนักลงทุนสหรัฐฯ มีเวลา 1 ปี ในการถอนการลงทุนเต็มรูปแบบจากบริษัทเหล่านี้ ซึ่งสหรัฐฯให้เหตุผลว่าบริษัทเหล่านี้มีความเชื่อมโยงกับกองทัพจีนซึ่งอาจกระทบต่อความมั่นคงของสหรัฐฯ 

3 กฎหมายเพื่อเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขัน นับเป็นกลยุทธ์รูปแบบใหม่ที่สหรัฐฯที่เพิ่มบทบาทของภาครัฐ ในการกำหนดอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ ต่างจากอุดมการณ์เดิมที่เชื่อมั่นในกลไกตลาด ล่าสุดในวันที่ 8 มิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา วุฒิสภาของสหรัฐฯ ผ่านร่างกฎหมาย “Innovation and Competition Act of 2021มูลค่าเม็ดเงินกว่า 250,000 ล้านเหรียญดอลลาร์ฯ ซึ่งนับเป็นกฎหมายสนับสนุนอุตสาหกรรมเชิงยุทธศาสตร์ที่ใช้เม็ดเงินมหาศาลมากที่สุดในประวัติศาสตร์สหรัฐฯ ครอบคลุมอุตสาหกรรมสมัยใหม่ อาทิ เซมิคอนดักเตอร์ ควอนตัมคอมพิวเตอร์ ไบโอเทคโนโลยี ปัญญาประดิษฐ์ ห่วงโซ่อุปทานพลังงาน และอุตสาหกรรมอวกาศ 

K Research
ภาพจาก Shutterstock

กฎหมายจากฝั่งจีนเพื่อตอบโต้สหรัฐฯ

ความน่าสนใจของการแข่งขันครั้งนี้ คือการใช้เครื่องมือทางกฎหมายของสหรัฐฯและจีนมีความคล้ายคลึงกันอย่างมาก หากแต่ต่างกันในห้วงของเวลาการนำมาใช้ สหรัฐฯ เริ่มเรียนรู้เครื่องมือในการกำหนดอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ ซึ่งเป็นสิ่งที่จีนทำมานานแล้วผ่านแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 5 ปี

ในขณะที่ จีนเริ่มเรียนรู้การใช้เครื่องมือในการกีดกันต่างๆ เช่นที่สหรัฐฯ ใช้มาโดยตลอด โดยล่าสุด ในวันที่ 10 มิถุนายน 2564 ทางการจีนได้ผ่านกฎหมายAnti-Foreign Sanctions Law” เพื่อเพิ่มอำนาจทางกฎหมายของจีนในการตอบโต้มาตรการคว่ำบาตรต่างๆ ของชาติตะวันตก โดยทางการจีนสามารถกำหนดให้บุคคลหรือองค์กรต่างชาติบรรจุลงใน Counter-sanction list หากพบว่ามีส่วนร่วมทั้งทางตรงและทางอ้อม ในการมีส่วนร่วมกำหนดหรือดำเนินการตามมาตรการคว่ำบาตรของต่างชาติที่เลือกปฏิบัติต่อพลเมืองหรือองค์กรของจีน 

ซึ่งการตอบโต้ของจีนในลักษณะนี้ไม่เคยมีมาก่อน แต่จากความพร้อมทั้งในด้านเศรษฐกิจ และเทคโนโลยี รวมถึงการทหารของจีนทำให้จีนมีอำนาจต่อรองมากขึ้น และเลือกใช้เครื่องมือนี้ในห้วงเวลาที่เหมาะสม

K Research

ไทยจะอยู่อย่างไร ท่ามกลางโลกที่แบ่งเป็น 2 ฝั่ง

ท่ามกลางความขัดแย้งที่ยกระดับขึ้น โลกคงแบ่งเป็น 2 ฝั่งอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งจะกระทบต่อการค้าและการลงทุนในระยะข้างหน้า ทั้งนี้ นักธุรกิจและนักลงทุนทั่วโลกรวมถึงไทยคงต้องคำนึงถึงความเสี่ยงด้านนี้เป็นสำคัญ โดยอาจต้องคำนึงการปรับโครงสร้างอุปทานการผลิตให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น รวมถึงการกระจายความเสี่ยงทางด้านตลาดทั้งตลาดปัจจัยการผลิตและตลาดผู้บริโภค เพื่อเตรียมพร้อมกับกระทบที่อาจเกิดขึ้น จากการตอบโต้กันของสองชาติมหาอำนาจ 

ยิ่งไปกว่านั้น ไทยเองต้องรักษาสมดุลความสัมพันธ์ของทั้งสองขั้วมหาอำนาจ เพราะทั้งสองมีความสำคัญและเชื่อมโยงกับไทยสูงทั้งด้านเศรษฐกิจและการทูต โดยเฉพาะไทยเองซึ่งตั้งอยู่ในอาเซียนซึ่งถือเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญท่ามกลางความขัดแย้งนี้ คงต้องดำเนินนโยบายที่รักษาสมดุลจากทั้งสองฝ่าย เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศต่อไป

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา