รักกันอย่างหลวมๆ 25 ปีความสัมพันธ์อเมริกา-เวียดนาม และกลยุทธ์ทอนอำนาจจีน

รักกันจริงไหม 25 ปีแห่งความสัมพันธ์อเมริกา-เวียดนาม ที่มีจีนมาเกี่ยวด้วย

วันที่ 11 กรกฎาคม 2020 สหรัฐฯ และเวียดนามได้ทำการฉลองความสัมพันธ์ทางการทูตครบรอบ 25 ปี นับตั้งแต่ปี 1995 ที่ทั้งสองประเทศสะสางปัญหาจากสงครามเวียดนามกันได้ กว่า 20 ปีที่ผ่านมา ทั้งสองประเทศได้กระชับความสัมพันธ์จากความขัดแย้งในช่วงสงครามเย็นสู่การเป็นพันธมิตรทางธุรกิจในเอเชียแปซิฟิก การเฉลิมฉลองในครั้งนี้จึงไม่ใช่แค่การแสดงออกถึงความกลมเกลียวแต่ยังเป็นหนทางสู่การพัฒนาความสัมพันธ์และการเปิดเส้นทางสู่โอกาสและความท้าทายใหม่ๆ ระหว่างเวียดนาม-อเมริกาอีกด้วย

โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ภาพจาก The White House

ความสัมพันธ์ของสหรัฐฯ และเวียดนามพัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่องและก้าวกระโดดอย่างมากในระยะหลัง และพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็วในเวลาอันสั้นหลังจากที่จีนและอเมริกาเริ่มก่อสงครามการค้า ทั้งสองประเทศมีความกังวลร่วมกันเกี่ยวกับการใช้อภิสิทธิและอำนาจทางเศรษฐกิจในแถบทะเลจีนใต้ของจีน รวมถึงวิธีการที่จีนใช้เพื่อจำกัดทางเลือกในการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในพื้นที่แถบเอเชียที่ไม่ได้สร้างแค่ข้อจำกัดให้กับสหรัฐฯ เท่านั้นแต่ยังกระทบการย้ายถิ่นฐานของบริษัทต่างๆ ทั่วโลกอีกด้วย

ที่ผ่านมาจีนแทรกแซงและบังคับขู่เข็ญประเทศต่างๆ ผ่านการใช้อำนาจจากการดำเนินนโยบายต่างประเทศโดยการเข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ เช่น การให้กู้เงิน การเข้าไปมีส่วนร่วมลงทุนในโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน และการดำเนินนโยบายผ่านมาตรการความร่วมมือทางเศรษฐกิจอื่นๆ เมื่อใดที่มีการพยายามลดทอนอำนาจหรือตั้งคำถามในการถือครองอภิสิทธิเหนือเขตแดนและเป้าหมายในการดำเนินนโยบายต่างประเทศของจีนซึ่งสร้างความไม่พอใจให้แก่ประเทศจีนแผ่นดินใหญ่ การดำเนินนโยบายสร้างข้อจำกัดทางการค้าจากจีนจะเริ่มต้นขึ้น ตั้งแต่การบอยคอตไปจนถึงการจำกัดการท่องเที่ยว ซึ่งสร้างความเสียหายโดยตรงต่อเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า

ทั้งเวียดนามและสหรัฐฯ ต่างมองเห็นกลไกการใช้อำนาจผ่านการดำเนินนโยบายของจีนในแถบทะเลจีนใต้และแสดงความกังวลร่วมกัน โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาที่การดำเนินนโยบายเศรษฐกิจและต่างประเทศของจีนส่งผลกระทบอย่างมากต่อพันธมิตร คู่ค้า และประเทศสหรัฐฯ เอง ยิ่งในระยะหลังที่สงครามทางการค้าระหว่างสองประเทศเข้มข้นขึ้น การโต้ตอบที่ดีที่สุดที่สหรัฐฯ สามารถทำได้ในตอนนี้คือการลดอำนาจทางเศรษฐกิจของจีนลงให้ได้มากที่สุด โดยการกระตุ้นและช่วยเหลือให้คู่ค้าและพันธมิตรของประเทศลดสัดส่วนการพึ่งพาทางเศรษฐกิจของประเทศนั้นๆ ในตลาดของจีนลง

อย่างไรก็ตามความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับเวียดนามไม่ได้พัฒนาขึ้นแค่จากความกังวลในอำนาจทางเศรษฐกิจของจีนเท่านั้น แต่เกิดจากความพยายามช่วยเหลือเกื้อกูลกันทางเศรษฐกิจระหว่างสองประเทศด้วย

Vietnam Port Container Shipping
ภาพจาก Shutterstock

ในช่วงปี 2013-2019 การค้าระหว่างสองประเทศเติบโตมากขึ้นถึง 261% จากตัวเลขการค้ามูลค่า 29.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 945 ล้านบาท) กลายเป็น 77.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (2.468 พันล้านบาท) ภายในระยะเวลาเพียง 6 ปีแถมตอนนี้สหรัฐฯ ยังกลายเป็นคู่ค้าที่ใหญ่เป็นอันดับที่สามและมีสถานะเป็นตลาดการส่งออกที่ใหญ่ที่สุดของเวียดนามอีกด้วย

อย่างไรก็ตามผลจากการกระชับความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศส่งผลให้ดุลการค้าของอเมริกาขาดดุลเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 1997 โดยขาดดุลมากกว่า 2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (6.36 แสนล้านบาท) ในปี 2014 และขาดดุลเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงที่สงครามการค้าระหว่างจีน-อเมริการุนแรงมากขึ้นโดยเพิ่มขึ้น 41% จาก 39.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (1.25 ล้านล้านบาท) ในปี2018 เป็น 55.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (1.77 ล้านล้าน) ในปี 2019 ส่งผลให้ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา รัฐบาลของทรัมป์ได้ทำการถอนประเทศเวียดนามออกจากรายชื่อประเทศกำลังพัฒนาที่ได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (Generalized System of Preference: GSP)

Note: Generalized System of Preference หรือ GSP คือ การที่ประเทศพัฒนาแล้วให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศกำลังพัฒนาผ่านมาตรการทางภาษีโดยการลดหย่อนหรือยกเว้นภาษีขาเข้าในกลุ่มสินค้าที่ประเทศผู้ให้สิทธิกำหนด (เป็นการให้ฝ่ายเดียวและสามารถถอดประเทศผู้ได้รับสิทธิออกจากรายชื่อ GSP ได้ขึ้นอยู่กับเกณฑ์ของประเทศนั้นๆ) สำหรับสหรัฐอเมริกาจะมีการทบทวนรายการสินค้าและรายชื่อประเทศที่ได้รับสิทธิ GSP ทุกปี โดยมีเกณฑ์พิจารณาการระงับสิทธิ จาก (1) GNP per capita หรือรายได้ต่อหัวของประเทศนั้นๆ และ (2) กฎว่าด้วยความจำเป็นด้านการแข่งขัน (competitive need limit: CNLs) จะถูกใช้เมื่อสหรัฐฯ นำเข้าสินค้าจากประเทศผู้รับสิทธิสูงเกินเพดานที่กำหนดไว้ในแต่ละปี

ภายใต้ความสัมพันธ์ที่เกื้อกูลนี้ เวียดนามได้แสดงให้เห็นถึงความพยายามที่จะรักษาสมดุลการค้าระหว่างสองประเทศโดยการประการเพิ่มสัดส่วนการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ ให้มากขึ้นและประกาศลดภาษีนำเข้าในสินค้าเกษตร คือ เนื้อหมู-ไก่ อัลมอน องุ่น ข้าวสาลี มันฝรั่ง ของสหรัฐฯ ในช่วงเดือนธันวาคม ปี 2019 ที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าการมาของโควิด-19 จะพาความสัมพันธ์ระหว่างเวียดนามและสหรัฐฯ อยู่ในจุดที่อาจจะต้องทบทวนดูอีกครั้งหลังจากที่เวียดนามแสดงท่าทีลำบากใจในข้อกล่าวหาเรื่องต้นกำเนิดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่สหรัฐฯ มีต่อจีน ไหนจะยังเรื่องวิธีการที่สหรัฐฯ รับมือกับสถานการณ์โควิดอีก ทำให้การตัดสินใจของเวียดนามตอนนี้ที่แม้จะมีความสถานะเป็นคู่ค้าคนสำคัญในการทัดทานกับจีนในพื้นที่แถบทะเลจีนใต้ แต่การผูกพันเป็นพันธมิตรทางธุรกิจกับสหรัฐฯ ท่ามกลางสงครามทางการค้าที่แลวร้ายลงเรื่อยๆ ดูเหมือนว่าจะเป็นเรื่องที่เซนซิทีฟเกินไปสำหรับเวียดนาม

ที่มา: Reuters,(1)(2)cnas, กรมการค้าต่างประเทศ

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา