ยางล้อไทย โดนเรียกเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดหรือ Anti-dumping จากสหรัฐฯ หลังตรวจพบว่ายางล้อจากไทยอาจมีการทุ่มตลาดจริง กระทบการส่งออก เสียเปรียบด้านราคาเนื่องจากต้นทุนทางภาษีแพงขึ้น
กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ประกาศเรียกเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด หรือ Anti-Dumping Duty สำหรับสินค้ายางล้อรถยนต์นั่งและรถบรรทุกเล็กจากไทยหลังสอบสวนพบว่าไทยอาจมีการทุ่มตลาดจริง โดยสหรัฐฯ ยังประกาศใช้มาตรการเรียกเก็บภาษีการทุ่มตลาดกับไต้หวัน เกาหลีใต้ และเวียดนามด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ตามกระทรวงพาณิชย์และคณะกรรมการการค้าระหว่างประเทศ (ITC) ของสหรัฐฯ ยังต้องทำการสอบสวนการทุ่มตลาดยางล้อไทยในสหรัฐฯ ต่ออีก 3 ขั้นซึ่งจะดำเนินต่อไปจนถึงช่วงกลางปี 2564 โดยระหว่างนี้สหรัฐฯ จะเรียกเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดในอัตรา 13.25-22.21% จากบริษัทที่นำเข้ายางล้อไทยและจะคืนให้หากผลการตัดสินพบว่าไม่มีความผิดหรืออัตราภาษีที่ต้องชำระจริงน้อยกว่าที่ถูกเรียกเก็บ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า อัตราภาษีการตอบโต้การทุ่มตลาดที่สหรัฐฯ กำหนดสามารถลดลงได้อีก และผู้ส่งออกบางบริษัทอาจจะพ้นจากข้อกล่าวหา เนื่องจากสหรัฐฯ เพิ่งทำการตรวจสอบไปแค่ 2 บริษัทที่มีมูลค่าการส่งออกสูงเท่านั้น ยังมีอักหลายบริษัทที่ทำการยื่นอุทธรณ์และกำลังรอการพิจารณา อีกทั้งตัวเลขอัตราการทุ่มตลาดที่ถูกตัดสินก็อยู่ที่ 13.25-22.21% เท่านั้นต่ำกว่าที่สหรัฐฯ คาดเอาไว้ในตอนแรกว่าไทยจะมีอัตราการทุ่มตลาดที่ 106.36-217.50% ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรคาดว่าไทยมีโอกาสพ้นข้อกล่าวหา
การเรียกเก็บภาษีของสหรัฐฯ ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการส่งออกยางล้อรถยนต์ของไทยและการแข่งขันด้านราคาโดยเฉพาะยางล้อรถบรรทุกเล็กที่ต้นทุนหลังโดนภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดเพิ่มขึ้นสูงกว่าประเทศคู่แข่งอย่าง แคนาดา อินโดนีเซีย และเวียดนาม 4% 13% และ 18% ตามลำดับ
นอกจากนี้การเป็นประเทศในกลุ่มการค้าเสรี USMCA ของแคนาดากับสหรัฐฯ ยังเอื้อให้เกิดการใช้ชิ้นส่วนรถยนต์ระหว่างกันมากขึ้นตามข้อตกลงในกลุ่มประเทศสมาชิก ขณะที่อินโดนีเซียและเวียดนามมีแนวโน้มที่จะดึงดูดนักลงทุนได้มากขึ้นจากจำนวนยางธรรมชาติที่มีความต้องการในการผลิตยางล้อรถบรรทุกเล็กทำให้เกิดข้อได้เปรียบในการแข่งขัน
อย่างไรก็ตามไทยเป็นแหล่งผลิตและส่งออกยางพาราคุณภาพดีที่ใหญ่ที่สุดของโลกทำให้ต้นทุนหลักโดยเปรียบเทียบยังดีกว่าประเทศอื่นมากโดยเฉพาะในยางล้อรถบรรทุกเล็ก เมื่อเทียบกับคู่แข่งอย่างแคนาดาที่มีต้นทุนที่แท้จริงสูงกว่าหรือเวียดนามและอินโดนีเซียที่มีราคาต้นทุนยางธรรมชาติที่สูงกว่าไทย นอกจากนี้ผู้ผลิตในประเทศเวียดนามและอินโดนีเซียยังมีจำนวนน้อยและไม่ใช่รายใหญ่การเพิ่มปริมาณการผลิตเพื่อส่งออกมารองรับตลาดยังเป็นไปได้ยาก โอกาสในการย้ายฐานการผลิตจากไทยไปที่อื่นนั้นยังมีน้อย
สถานการณ์อุตสาหกรรมยางล้อไทยในปีนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าไทยจะสามารถส่งออกยางล้อรถยนต์นั่งและรถบรรทุกเล็กรวมกันได้เพียง 18.5-19.2 ล้านเส้นเท่านั้นในช่วงครึ่งปีแรกจากผลกระทบเรื่องภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดซึ่งน้อยกว่าศักยภาพที่ไทยสามารถทำได้หากไม่โดนเรื่องมาตรการภาษี
อย่างไรก็ตามไทยยังมีโอกาสในการรักษาความสามารถในการแข่งขันเอาไว้ได้หากผู้ผลิตยางล้อในไทยเร่งพัฒนากระบวนการผลิตเพื่อลดต้นทุนในการแข่งขันระยะยาวลง ซึ่งทำให้สามารถตั้งราคาแข่งขันได้อย่างยั่งยืนและลดโอกาสในการโดนมาตรการกีดกันการค้าจากประเทศอื่นๆ ได้
สำหรับการย้ายฐานการผลิตจากไทยไปยังแหล่งอื่นยังเป็นไปได้ยาก เนื่องจากมูลค่าเงินลงทุนในอุตสหกรรมยางล้อไทยจากนักลงทุนต่างประเทศนั้นสูงมากและมีแผนการลงทุนด้านเทคโนโลยีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่อาจจะมีการไปลงทุนเพิ่มขึ้นในเวียดนามและอินโดนีเซียโดยผู้ผลิตยางล้อจากเกาหลีใต้และไต้หวันที่เดิมมีฐานการผลิตในเวียดนามและอินโดนีเซียอยู่ก่อนแล้ว
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา