ประเทศพัฒนาแล้วอย่างสหรัฐฯ คนมีหนี้เยอะกว่าเงินออม แล้วเขาใช้จ่ายอย่างไรกัน ?

เมื่อเราได้ยินคำว่าเศรษฐกิจดีขึ้น หลายคนคงคิดถึงความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น คนมีเงินใช้ มีเงินเก็บมากกว่าหนี้ แต่สหรัฐอเมริกา ที่นอกจากจะเป็นประเทศพัฒนาแล้ว แถมเศรษฐกิจยังดูจะเติบโตดี ไหงคนของเขายังมีเทรนด์ก่อหนี้มากกว่ามีเงินเหลือไว้ออมกันล่ะ ?

ภาพจาก Shutterstock

สหรัฐฯ ประเทศพัฒนาแต่คนมีหนี้เยอะกว่าเงินออม

ผลการศึกษาจาก Northwestern Mutual’s 2018 บอกว่า ประชากรสหรัฐฯ มีหนี้ส่วนบุคคลเฉลี่ยสูงกว่า 38,000 เหรียญสหรัฐต่อราย (ประมาณ 1.25 ล้านบาท) และจากตัวเลขสิ้นปี 2017 ที่ผ่านมาชาวอเมริกามีหนี้สินมากกว่าเงินออมที่ประมาณ 5,000-25,000 เหรียญสหรัฐต่อราย (ประมาณ 1.65-9.9 แสนบาท)

ซึ่งคนประมาณ 20% ของประชากรทั้งหมดยอมรับว่า เขาต้องแบ่งเงินเดือนครึ่งหนึ่งมาจ่ายหนี้ที่มีอยู่ และมองต่อไปข้างหน้าแล้ว เขาก็มั่นใจว่าชั่วชีวิตที่เหลือก็ยังจะมีหนี้ที่ต้องจ่ายต่อไป

จากผลการศึกษาพบว่ามีคนแค่ 23% ที่บอกว่าเขาไม่มีหนี้สินเลย แต่ก็ยังเป็นแนวโน้มที่แย่ลงเพราะสัดส่วนลดลง 5% เมื่อเทียบกับผลการศึกษาเมื่อปีก่อน

หนี้ส่วนบุคคลที่ว่า เขามีหนี้อะไรกันบ้าง ?

หนี้หลักๆ ของคนอเมริกาคือ หนี้บัตรเครดิต และสินเชื่อบ้าน มีสัดส่วนถึง 25% ของหนี้ส่วนบุคคล ส่วนอีก 6% คือหนี้การศึกษา และถ้ามองในมุมเจนเนอเรอชั่น millennials (คนที่เกิดปี 1980-2000) เป็นกลุ่มที่มีหนี้ 28% ของหนี้ส่วนบุคคลในระบบ

แม้ว่าจะมีหนี้สินสูง แต่ค่าใช้จ่ายกว่า 15% ของชาวอเมริกา อันดับต้นๆ เป็นค่าใช้จ่ายหมวดอาหาร และ Nightlife (เที่ยวกลางคืน) และอีก 13% ของการใช้จ่ายทั้งหมด เป็นหมวดการใช้จ่ายในงานอดิเรก เสื้อผ้า และ Presonal care ส่วนค่าใช้จ่ายที่คนใช้จ่ายเยอะเป็นอันดับ 3 คือการท่องเที่ยว

สอดคล้องกับผลการศึกษาที่ว่า 56% ของคนอเมริกา บอกว่าแม้หนี้สินจะเพิ่มขึ้น แต่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางการเงินเขาเพียงเล็กน้อยเท่านั้น 

สรุป

ตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจอาจเป็นตัวชี้วัดทางเศรษฐศาสตร์ว่าประเทศเติบโตแค่ไหน และคนในประเทศมีรายได้เท่าไร อย่างสหรัฐฯ แม้ว่าคนจะมีหนี้สินเพิ่มขึ้น แต่ถ้าเทียบกับรายได้ของเขา คนเกินครึ่งประเทศก็มองว่าหนี้จำนวนนี้ไม่กระทบต่อการเงิน ดังนั้นชีวิตคนในชาติจะดีขึ้นได้ต้องอาศัยสภาพแวดล้อม สวัสดิการที่ดี ซึ่งมาจากนโยบายที่ดีของภาครัฐนั่นเอง

ที่มา Foxbusiness

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

จากนักข่าวการเงินหนังสือพิมพ์ธุรกิจย่านประชาชื่น ผันตัวเข้าโลกออนไลน์ ความท้าทายครั้งใหม่คือการเล่าเรื่องเงินให้เข้าใจง่าย ใช้ได้จริง