หลัง ซิตี้กรุ๊ป ประกาศขาย กิจการลูกค้ารายย่อย ใน 4 ประเทศอาเซียนประกอบด้วย ไทย, เวียดนาม, มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ตั้งแต่เดือน เม.ย. 2021 ในที่สุดบริษัทที่ซื้อกิจการนี้ไปคือ ยูโอบี กลุ่มธนาคารยักษ์ใหญ่จากสิงคโปร์
เบื้องต้น ยูโอบี ใช้เงินกว่า 4,915 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ หรือราว 1.21 แสนล้านบาท เพื่อซื้อกิจการลูกค้ารายย่อย แบ่งเป็น 4,000 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ ตามมูลค่าอ้างอิงของกิจการนี้ และค่าพรีเมียมอีก 915 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์
ทำไม ซิตี้กรุ๊ป ต้องขายกิจการลูกค้ารายย่อยในอาเซียนทั้ง 4 ประเทศ และเหตุใด ยูโอบี ถึงต้องการกิจการดังกล่าว Brand Inside ชวนมาย้อนดูตั้งแต่จุดเริ่มต้นของดีลนี้กัน
ซิตี้กรุ๊ป โบกมือลาลูกค้าทั่วไปในอาเซียน
จุดเริ่มต้นของดีลนี้เกิดขึ้นเมื่อต้นปี 2021 เพราะช่วงเดือน ก.พ. 2021 สื่อชั้นนำในต่างประเทศเริ่มรายงานเกี่ยวกับการตัดสินใจเลิกกิจการลูกค้ารายย่อยของ ซิตี้กรุ๊ป ในหลายพื้นที่ ซึ่งสุดท้ายเดือน เม.ย. 2021 ข่าวดังกล่าวเกิดขึ้นจริง เพราะ ซิตี้กรุ๊ป ประกาศเลิกกิจการดังกล่าวใน 13 ประเทศ ในเอเชีย และยุโรป
13 ประเทศดังกล่าวประกอบด้วย ออสเตรเลีย, บาห์เรน, จีน, อินเดีย, อินโดนีเซีย, เกาหลีใต้, มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์, โปแลนด์, รัสเซีย, ไต้หวัน, เวียดนาม และไทย ตามรอยการเลิกกิจการลูกค้ารายย่อยในพื้นที่อเมริกาใต้ระหว่างปี 2006-2020 เพื่อให้ความสำคัญกับตลาดที่บริษัทแข็งแกร่ง และมีโอกาสเติบโตในอนาคต
การระบาดของโรค COVID-19 และการแข่งขันที่มากขึ้นของธุรกิจการเงินในหลายพื้นที่ ทำให้ Jane Fraser ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ซิตี้กรุ๊ป ที่พึ่งรับตำแหน่งเมื่อเดือน มี.ค. 2021 ต้องวางแผน และบริหารธุรกิจภายใต้เกณฑ์ใหม่ของหน่วยงานกำกับกิจการการเงินของสหรัฐอเมริกา จน ซิตี้กรุ๊ป ต้องปรับโครงสร้างธุรกิจครั้งใหญ่
หลายธนาคารไทยเปิดโต๊ะเจรจาซื้อต่อ
สำหรับ กิจการลูกค้ารายย่อย ที่ประเทศไทย สื่อต่างประเทศรายงานว่า หลังจากนั้นไม่นาน ธนาคารยักษ์ใหญ่ของไทยเดินหน้าเปิดโต๊ะเจรจากับ ซิตี้กรุ๊ป เพื่อขอซื้อต่อ กิจการลูกค้ารายย่อย เพราะด้วยประวัติยาวนานในไทยกว่า 50 ปี และมีฐานลูกค้ารวมกว่า 1.1 ล้านราย เช่น ธุรกิจบัตรเครดิต, สินเชื่อ และบริหารความมั่งคั่ง เป็นต้น
ไล่ตั้งแต่ ธนาคารไทยพาณิชย์, ธนาคารกรุงเทพ, ธนาคารกสิกรไทย และธนาคารกรุงศรี ซึ่งรายหลังถึงกับมีรายงานข่าวช่วงเดือน ธ.ค. 2021 ว่า เป็นตัวเก็งในได้คว้า กิจการลูกค้ารายย่อย ของ ซิตี้กรุ๊ป ในประเทศไทย และอาจต้องทุ่มเงิน 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 66,400 ล้านบาท เพื่อซื้อกิจการนี้
ในเวลาเดียวกัน ซิตี้กรุ๊ป ยังอยู่ระหว่างเลือก ยูโอบี เข้าเจรจาขาย กิจการลูกค้ารายย่อยในอินโดนีเซีย ส่วนในมาเลเซีย ซิตี้กรุ๊ป เลือก สแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด เป็นคู่เจรจา แต่สุดท้ายคดีกลับพลิก เพราะตัวเก็งอย่าง ธนาคารกรุงศรี รวมถึงคู่เจรจาในอีก 3 ประเทศอาเซียน กลับพ่ายแพ้ให้กับ ยูโอบี ทั้งหมด
ยูโอบี เข้าวินด้วยการเสนอซื้อ 1.21 แสนล้านบาท
อย่างที่แจ้งไป ยูโอบี คือธนาคารที่ชนะใจ ซิตี้กรุ๊ป ในการซื้อ กิจการลูกค้ารายย่อย 4 ประเทศอาเซียน ประกอบด้วย ไทย, อินโดนีเซีย, เวียดนาม และมาเลเซีย เบื้องต้นกิจการดังกล่าวมีสินทรัพย์สุทธิรวม 4,000 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ ผ่านฐานลูกค้าราว 2.4 ล้านราย (ข้อมูลสิ้นเดือน มิ.ย. 2564) มีรายได้ 500 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์
กิจการลูกค้ารายย่อย ใน 4 ประเทศอาเซียน ของ ซิตี้กรุ๊ป มีพนักงานประมาณ 5,000 คน ซึ่งรวมผู้บริหารระดับสูง และพนักงานมากประสบการณ์ในตลาดนี้ ทำให้ ยูโอบี แข็งแกร่ง และเติบโตในตลาดอาเซียนได้ดีขึ้น ผ่านการมีฐานลูกค้า กิจการรายย่อย รวมกันกว่า 5.3 ล้านราย พร้อมตั้งเป้าเติบโตขึ้น 2 เท่า ภายในปี 2026
เหตุที่ ยูโอบี มองเช่นนั้น เนื่องจาก ความใกล้เคียงของกลุ่มลูกค้าระหว่าง ยูโอบี กับ ซิตี้กรุ๊ป ทั้งฝั่งระดับความมั่งคั่งของลูกค้า และจำนวนลูกค้าใน 4 ประเทศอาเซียน ประกอบกับความแข็งแกร่งในแต่ละผลิตภัณฑ์ที่เกื้อหนุนกันทั้งสองฝ่าย ช่วยให้ ยูโอบี กลายเป็นธนาคารพาณิชย์ชั้นนำ และผู้ให้บริการบัตรเครดิต อันดับต้น ๆ ของตลาดอาเซียนทันที
ขึ้นแท่นผู้ให้บริการบัตรเครดิตอันดับ 3 ในไทย
หากเจาะไปที่ประเทศไทย เมื่อการควบรวมกิจการนี้สำเร็จจะทำให้ ยูโอบี กลายเป็นผู้ให้บริการบัตรเครดิตมากที่สุด 3 อันดับแรก กระโดดขึ้นมา 5 อันดับ ส่วนในมุมธุรกิจธนาคารพาณิชย์ จะติด 6 อันดับแรก กระโดดขึ้นมา 1 อันดับ ผ่านจำนวนลูกค้ารวม 2.4 ล้านราย
วี อี เชียง รองประธานกรรมการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ยูโอบี ยอมรับว่า แม้การแข่งขันในประเทศไทยค่อนข้างสูง แต่การได้ลูกค้าพื้นที่นี้ ทำให้ธนาคารเติบโตได้อย่างแข็งแกร่งในอาเซียน ส่วนตลาดมาเลเซีย กับเวียดนาม ถึงตอนนี้จะเล็ก แต่ยังมีโอกาสเติบโตอีกมาก โดยเฉพาะกับเวียดนาม
ทั้งนี้ ซิตี้ ประเทศไทย ได้ประกาศอย่างเป็นทางการแล้วว่า ซิตี้ บรรลุข้อตกลงกับ ธนาคารยูโอบี จำกัด (มหาชน) หรือ ยูโอบี ประเทศไทย ในการขาย ธุรกิจธนาคารกลุ่มลูกค้าบุคคล (Consumer Banking Business) ของ ซิตี้ ประเทศไทย ให้กับธนาคารยูโอบี ประเทศไทย และลูกค้ายังใช้บริการได้เหมือนปกติ
ดีลทั้งหมดจะเสร็จสิ้นภายในไตรมาสแรก 2024
หลังประกาศซื้อ กิจการลูกค้ารายย่อย ยูโอบี แจ้งว่า ในไทย, เวียดนาม, มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ทางธนาคารได้เดินหน้าแผนควบรวมทั้งหมดแล้ว โดยเบื้องต้นอยู่ระหว่างรอหน่วยงานกำกับกิจการในแต่ละพื้นที่อนุมัติ โดยในประเทศไทยคาดว่าจะเสร็จสิ้นไม่เกินไตรมาส 2 ปี 2023
ดีลนี้อาจไม่ถึงกับเป็นมหากาพย์ แต่คงเป็นการชิงเหลี่ยมในการแย่งชิงฐานลูกค้าในไทย และอีก 3 ประเทศอาเซียน เพื่อเสริมความแข็งแกร่ง อาจเพราะ ยูโอบี ทำธุรกิจใน 4 ประเทศนี้อยู่แล้ว จึงได้เปรียบในการซื้อเค้กก้อนใหญ่ แทนที่จะเหมือนกับธนาคารไทยที่ขอเค้กชิ้นเล็ก หรือเอาแค่ในไทยก็พอ
ส่วนตัวเชื่อว่า หลังจากการควบรวมสำเร็จ น่าจะเห็นการแข่งขันที่ดุเดือดขึ้นในฝั่งธุรกิจบัตรเครดิตในประเทศไทยแน่นอน เพราะเมื่อ ยูโอบี มีฐานขึ้นมาอยู่ใน 3 อันดับแรกของตลาด เบอร์ 1 และเบอร์ 2 คงเตรียมพร้อมรับน้อง และไม่ปล่อยให้ ยูโอบี แย่งชิงลูกค้าไปได้ง่าย ๆ แน่นอน
ข้อมูลเพิ่มเติม // สิ้นเดือน มิ.ย. 2021 กิจการลูกค้ารายย่อยของ ซิตี้กรุ๊ป ใน 4 ประเทศอาเซียน รวมมูลค่า 4,000 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ ประกอบด้วยมูลค่าสินเชื่อ 9,100 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์, เงินฝาก 6,200 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ ผ่านลูกค้า 2.4 ล้านราย
อ้างอิง // UOB
อ่านข่าวเกี่ยวกับ ยูโอบี และดีลการซื้อกิจการของ ซิตี้กรุ๊ป เพิ่มเติมที่นี่
- แซงโค้งท้าย! ยูโอบี ซื้อกิจการลูกค้ารายย่อย ซิตี้กรุ๊ป ในไทย และ 3 ประเทศอาเซียน
- Bloomberg รายงาน: กรุงศรี คือตัวเก็งได้ลูกค้าบัตรเครดิตของ Citigroup ในประเทศไทย
- KBank แจงอยู่ระหว่างการศึกษา ยังไม่ตัดสินใจซื้อธุรกิจลูกค้าบุคคล Citigroup ในไทย
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา