“เพราะความลำบาก ทำให้เรารวมกัน” พาไปคุยกับโรงเบียร์สหประชาชื่น เมื่อกฎหมายทำให้ผู้ผลิตตัวเล็กต้องร่วมมือกันผลิตคราฟเบียร์

บทความโดยวรุตม์ พงศ์พิพัฒน์

“สุราก้าวหน้า” นับเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญที่ถูกพูดถึง ของพรรคก้าวไกลแกนนำหลักในการจัดตั้งรัฐบาล โดยนโยบายดังกล่าวมีหลักใหญ่ใจความถึงการให้ผู้ประกอบการรายย่อยสามารถเข้าถึงการผลิตและจัดจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ได้ด้วยระบบภาษีและกฎหมายที่เป็นธรรม เพื่อสนับสนุนการเติบโตของเหล่า SMEs ที่สนใจผลิตภัณฑ์ด้านนี้

เมื่อย้อนกลับไปถึงจุดเริ่มต้น ปฏิเสธไม่ได้ว่าร่างพระราชบัญญัติสุราก้าวหน้า มีต้นทางจากคราฟเบียร์ที่ถูกกดทับไว้ใต้ดิน จนการโดนจับของชายชื่อเท่าพิภพ เจ้าของประโยค “ผมชอบเบียร์” ก่อนที่เขาจะเข้าสู่สภาในฐานะผู้แทนราษฎรและผลักดัน สิทธิ์ในการผลิตเบียร์ของผู้ประกอบการรายย่อย

ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย โรงเบียร์สหประชาชื่น (United People Brewery) คือหนึ่งในกลุ่มคนที่รักคราฟเบียร์ เติบโต ต่อสู้ และพยายามเพื่อให้สิ่งที่พวกเขารัก กลายเป็นจริง จากความฝันที่ดูเลือนราง

ตูน ศุภพงษ์ พรึงลำภู ผู้ร่วมก่อตั้งโรงเบียร์สหประชาชื่น

ตูน ศุภพงษ์ พรึงลำภู ผู้ร่วมก่อตั้งโรงเบียร์สหประชาชื่น ฉายภาพเส้นทางกว่า 8 ปีในวงการคราฟเบียร์ของเขาและผองเพื่อนที่ล้มลุกคลุกคลาน ก่อนจะก่อรูปขึ้นเป็นโรงเบียร์

ตูนอธิบายว่ายุคแรกเรียกว่ายุคใต้ดิน ทุกคนที่ทำคราฟเบียร์ล้วนอยู่ใต้ดินทำเบียร์ที่บ้าน จัดอีเวนท์พบปะเป็นงานเบียร์ใต้ดิน แต่กลับกลายเป็นกระแสตอบรับเป็นไปด้วยดี สื่อมวลชนสนใจ สื่อต่างประเทศทำข่าว ประเทศไทยดังไปทั่วโลกในเรื่องของคราฟเบียร์ที่ไม่ได้มีโอกาสลืมตาดูโลก

“ด้วยความลำบากลำบนมันทำให้คนมารวมกัน ถ้าปล่อยให้ทำแต่แรกอาจจะทะเลาะกันไม่รวมเป็นกลุ่มก็ได้ (หัวเราะ) กระจัดกระจายต่างคนต่างทำ”

ตูนอธิบายต่อว่าพวกเขาเห็นอุปสรรคขนาดใหญ่และเกิดความคิดอยากทำให้คนเห็นว่าชาวบ้านก็ทำเบียร์ได้ จึงเกิดการร่วมมือกัน 

“พี่ครับผมทำแบบนี้แล้วมันดี เอามาลอง มาแลกเปลี่ยนสูตรกัน เกิดเป็นคอมมูนิตี้ขึ้นมา พอเป็นคอมมูนิตี้ก็เริ่มใหญ่ขึ้น จากเดิมที่อยู่แค่ที่นนทบุรี ฝรั่งเขาใช้คำว่า Ground Zero ของ Craft beer booming in Thailand อยู่ที่นนทบุรี”

กฎหมายคุมกำเนิดคราฟเบียร์

การฝังยาคุมกำเนิดในคราฟเบียร์ไทยทำให้ผู้ประกอบการจำนวนมาก มุ่งตรงสู่ประเทศใกล้เคียง ตั้งฐานการผลิต และส่งกลับเข้ามาขายในประเทศไทย ด้วยต้นทุนแพงระยับ ทั้งจากการขนส่ง และภาษี 

เมื่อนำเข้าสู่ประเทศไทยได้แล้ว พวกเขาจึงมาขายในร้านเบียร์ขนาดเล็กของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นแบบขวด และกระป๋องที่วางคละกันกับคราฟเบียร์ต่างประเทศ หรือแบบแท็ปเบียร์ที่ถูกนำเข้ามาเป็นถัง

“การตีตราว่าเป็นเบียร์นำเข้า ก็เสียเวลาอธิบายนะ ว่าเบียร์ไทย แต่เขียนไต้หวันเพราะต้องไปผลิตที่ไต้หวัน”

ตัวอย่างดังกล่าวเห็นได้ชัดในปี 2563 เมื่อแบรนด์ “ศิวิไลซ์” (Beer Sivilai) คราฟต์เบียร์ไทยจากเครือมหานคร ชนะรางวัลเหรียญเงินจากเวที ‘World Beer Awards 2020’ ทว่าเจ้าของแบรนด์ต้องขึ้นรับรางวัลในฐานะแบรนด์คราฟต์เบียร์จากเวียดนาม

ถ้วยรางวัลใหม่ๆ ซิงๆ ที่ทีมงานในร้านได้รับมาล่าสุด ถ้วยรางวัลเหล่านี้เป็นสิ่งที่ชุมชนคราฟเบียร์ไทยพยายามผลักดัน เพื่อให้ผู้มีอำนาจรัฐได้เห็นถึงมาตรฐานของเบียร์ประชาชน

แม้จะมีข้อกฏหมายใหม่ในปี 2560 แต่ก็กล่าวได้ว่ากฎหมาย ยังคงเป็นกำแพงคุมกำเนิดคราฟเบียร์ไทย เพราะข้อกฎกระทรวงการอนุญาตผลิตสุราปี 2560 ซึ่งระบุว่าการผลิตเพื่อขายนอกสถานที่หรือแบบใส่บรรจุภัณฑ์ออกจำหน่าย ต้องผลิตปริมาณไม่ต่ำกว่า 10 ล้านลิตรต่อปี หรือไม่ต่ำกว่า 33 ล้านขวดต่อปี ซึ่งเป็นไปไม่ได้เลยที่ผู้ประกอบการรายย่อยจะเข้าสู่ตลาดนี้ 

ทว่าในวิกฤตยังมีโอกาส เพราะกฎกระทรวงดังกล่าว มีช่องเปิดให้ Brew Pub หรือ Micro Brewery สำหรับการนั่งดื่มที่ร้าน ระบุว่า ‘บริวผับ (Brew Pub) ต้องมีกำลังผลิต 100,000–1,000,000 ลิตร/ปี และมีทุนจดทะเบียน 10 ล้านบาท’

“เราทำเบียร์กันมา เราอยากมีโรงเบียร์ เราอยากผลิตเบียร์ของเรา ขายให้ลูกค้าเรา โดยที่เมื่อก่อนเราต้องไปผลิตที่โรงงานคนอื่น ซึ่งพอเป็นนักทำเบียร์แล้วไม่มีโรงเบียร์มันก็รู้สึกไม่สำเร็จนะ”

ด้วยความรู้สึกนั้น ทำให้ผู้ประกอบการ 4 แบรนด์ ประกอบด้วย Yod beer, Sandport, Repentless และ GroupB.Beer รวมตัวกันเปิดโรงเบียร์สหประชาชื่นขึ้น เพราะลำพังแล้วต้นทุนแต่ละเจ้า ไม่สามารถทำเองได้

“พวกเราอยากมีโรงเบียร์กันมานานแล้ว อย่างผมรู้ตัวว่าลำพังผมคนเดียวไม่ไหว พี่ตรี (Yod beer) คนเดียวก็ไม่ไหว ดูแลไม่ไหว เราไม่ใช่นักบริหารที่เก่งกันขนาดนั้น เลยมาช่วยๆ กันที่นี่”

จากนั้นการก่อกำเนิดของโรงเบียร์สหประชาชื่นก็เริ่มขึ้นในปี 2565 

“ก็มารวมกัน เซ็น  MOU ก่อตั้งโรงเบียร์”

“อย่างโรงเบียร์ดังเขาถึงจากข้อกำหนด 100,000 ลิตรต่อปี เขาถึงต้องใหญ่มาก แต่เราเป็นคนธรรมดาที่ไม่ได้อยากมีร้านขนาด 1,000 ที่นั่ง 500 ที่นั่ง เราเริ่มต้นเราแค่ร้านเล็กๆ อยากจะมีเบียร์ของตัวเองขายในร้าน นั่นคือสิ่งที่เราทำได้ดี อยากทำเป็นอาชีพ”

“พอเขาบังคับให้ใหญ่ขนาดนั้นมันก็เกินเอื้อม”

เพราะตามข้อกฎหมายของประเทศไทย ไม่มีที่ว่างสำหรับ SMEs ที่กำลังเติบโตในวงการเบียร์ การรวมตัวกันเพื่อรวบรวมทรัพย์กรจึงเป็นทางรอดสำคัญ

“บ้านเรา คุณต้องโตเป็นต้นไม้ใหญ่เลย ไม่มีช่วงเติบโต”

ต้นไทรใหญ่ข้างโรงเบียร์สหประชาชื่น ปักรากลงดิน และรอคอยการบรรณาการ …ผู้คนในโรงเบียร์บรรยายว่าให้หวยแม่น

ปัจจุบันมีการยกเลิกการกำหนดกำลังการผลิตขั้นต่ำและทุนจดทะเบียนสำหรับทั้งกรณีผลิตเบียร์เพื่อขาย ในสถานที่ผลิต (Brewpub) จากเดิมที่ต้องมีขนาดการผลิตไม่ต่ำกว่า 100,000 ลิตรต่อปีและไม่เกิน 1 ล้านลิตรต่อปี 

“ปัจจุบันเขาเปลี่ยนเป็นหม้อต้ม 100 ลิตร อุปกรณ์ตามที่กำหนด ต้องเป็นสแตนเลสที่สะอาดเป็นต้น ทุนจดทะเบียนเขาก็เอาออกแล้ว” ตูนอธิบายเพิ่ม

กฎหมายยังไม่เปิดให้แข่งขันอย่างเป็นธรรม

ไม่ใช่แค่กฎหมายการเริ่มทำธุรกิจ แต่ตัวภาษีเองก็เป็นตัวฉุดรั้ง SMEs เหล่านี้ไม่ให้เติบโต เนื่องจากหากเทียบอัตราต่อหน่วยแล้ว ผู้ประกอบการรายย่อย ต้องจ่ายภาษีมากกว่า ทำให้ “ราคา” ของพวกเขาแพงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

โดยภาษีเบียร์แบ่งคร่าวๆ ได้เป็น 

  1. เก็บจากราคาปลีกแนะนำ 22%  
  2. ภาษีแอลกอฮอลล์ ตามความแรงแอลกอฮอลล์

ซึ่งทั้ง 2 ตัวนี้จะเอามาคิดภาษี เรียกว่า Earmarked Tax ให้เทศบาล 10% สสส. 2% ThaiPbs 1% ผู้สูงอายุ 2% รวมถึงการกีฬาแห่งประเทศไทย 2%

กล่าวคือจากภาษีก้อนแรกนำมาคำนวณคิดอีก 17% 

“แต่สิ่งทีไม่แฟร์ที่สุดคือ ภาษีราคาปลีกแนะนำ เพราะโดยธรรมชาติเบียร์เจ้าเล็กจะโดนเก็บแพงกว่าเจ้าใหญ่ เพราะต้นทุนเราแพงกว่า เราซื้อมอลต์เป็นกระสอบ เขาซื้อเป็นรถบรรทุก ราคาต่อหน่วยมันต่างอยู่แล้ว

ทีนี้ราคาเราต่างจากเขา 2 ถึง 3 เท่า แปลว่าเราจ่ายภาษีมากกว่าเขา 2 ถึง 3 เท่า ในปริมาณเท่ากัน ทีนี้แปลว่าเราแบกตั้งแต่เริ่ม การแข่งขันมันก็ยาก ต้องขอบคุณผู้บริโภคที่ยังช่วยกันอยู่”

ตูน ศุภพงษ์ พรึงลำภู ผู้ร่วมก่อตั้งโรงเบียร์สหประชาชื่น อธิบาย

ตูนเสนอว่าถ้าอยากให้ตลาดคราฟเบียร์แข่งขันได้จริง อย่างน้อยผู้ประกอบการรายย่อยควรจะเสียภาษีต่อหน่วยเท่าๆ กันกับเจ้าใหญ่ หรือควรจะเสียน้อยกว่า เนื่องจากส่วนแบ่งตลาดคราฟเบียร์ประมาณ 1% จากตลาดทั้งหมดในประเทศ ที่เป็นของเบียร์แบรนด์ใหญ่ 99% ดังนั้นหากภาครัฐมาเก็บภาษีผู้ประกอบการรายย่อยสูง เช่น ต่อให้เก็บลิตรละ 500 บาท ภาษีก็ไม่ได้มากขึ้นอย่างก้าวกระโดดในภาพรวม

“แต่สมมติเราขึ้นภาษีเจ้าใหญ่ 1 บาทต่อหน่วย เท่ากับการเก็บภาษีมวลรวมมันจะเยอะขึ้นมาก คือเราอยากเห็นการเก็บภาษีที่แฟร์ และส่งเสริมการแข่งขัน”

“มันมีตัวอย่างหลายประเทศที่สามารถกำหนดเป็นขั้นได้ สมมติคุณเป็นไซส์เล็กคุณเสียภาษีน้อย พอคุณผลิตเยอะขึ้น คุณก็เสียภาษีอีกสัดส่วน แปลว่ามันจะเกิดเจ้าเล็กๆ เกิดความหลากหลาย ถ้าคุณมองแค่ภาษีอย่างเดียว คุณก็เก็บได้ 100 บาทเหมือนเดิม แต่เก็บได้จากหลายที่ มันก็จะไปเพิ่มงาน เพิ่มแหล่งท่องเที่ยว เพิ่ม Know how ใหม่ๆ”

นอกจากนี้ปัญหาอื่นๆ ก็ยังคงเป็นอุปสรรคในการแข่งขันกับแบรนด์ที่เป็นที่รู้จักอยู่แล้ว อาทิเช่น การโพสต์ในโซเชียลมีเดีย หรือออนไลน์ที่มีกฎหยุมหยิม อาทิ

ซึ่งระบุใน พระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 มาตรา 32 ว่าห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือแสดงชื่อหรือเครื่องหมายของเครื่องดื่ม แอลกอฮอล์อันเป็นการอวดอ้างสรรพคุณหรือชักจูงใจให้ผู้อื่นดื่มโดยตรงหรือโดยอ้อม

“เบียร์ตัวนี้มาใหม่นะ บอกไม่ได้ บอกรส บอกร้าน ซื้อที่ไหน ก็บอกไม่ได้”

ตรี สรัญญา แอวังตะโก อีกหนึ่งผู้ร่วมก่อตั้งโรงเบียร์สหประชาชื่น ตัวแทนจากแบรนด์ Yod Beer อธิบายเสริม

โรงเบียร์ชุมชนจุดดึงดูดการท่องเที่ยว

นอกจากขายเบียร์ที่รังสรรค์ด้วยฝีมือตนเองแล้ว เหล่าผู้ร่วมก่อตั้งโรงเบียร์สหประชาชื่น ยังเห็นพ้องต้องกันว่าการมีอยู่ของโรงเบียร์ขนาดย่อยเป็นกลไกจูงใจการท่องเที่ยวของชุมชน เพราะการท่องเที่ยวมีนิยามคือการเดินทางโดยสมัครใจ และเครื่องดื่มอย่างเหล้าเบียร์เป็นอะไรที่สร้างความสมัครใจได้ง่าย

ไม่ว่าจะเป็นการอยากไปกินไวน์ที่ภูเขาที่มีไร่องุ่นสวยในต่างประเทศที่มีการโปรโมตจุดขายการผลิตเหล้าเบียร์ จากผลิตภัณฑ์ชุมชน เช่น ไวน์ในฝรั่งเศส เบียร์ในเยอรมัน ไปจนถึงผลิตภัณฑ์แอลกอฮอลล์อีกจำนวนมากในยุโรปที่ชู “ความเป็นท้องถิ่น” จากผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น 

เพราะในเมืองรองที่ไม่ได้มีแหล่งท่องเที่ยวชื่อดัง การที่มีผลิตภัณฑ์จากท้องถิ่นที่ที่อื่นไม่มี คือโอกาสเติบโตทางเศรษฐกิจและพัฒนาเป็นการท่องเที่ยวแบบกินดื่มได้

ตรี สรัญญา แอวังตะโก ตัวแทนจากแบรนด์ Yod Beer อธิบายว่า การทำเบียร์นั้นสามารถเป็นไปได้หลากหลาย หากรู้จักวัตถุดิบ และนำมาประยุกต์ใช้ พืชพันธุ์ท้องถิ่นที่เป็นเอกลักษณ์ของไทยก็สามารถนำมาเป็นตัวชูโรงให้เบียร์ท้องถิ่นได้

“มันก็ดีนะถ้าไปเพชรบูรณ์เพื่อไปกินเบียร์มะขาม ไปเชียงราย สมมติไปกินเบียร์สัปปะรด แต่ละจังหวัดก็จะมีของดีของเขาอยู่ ขนาดต่างประเทศเรายังดั้นด้นจะไปกิน ทำไมในบ้านเรา เราจะไม่อยากกิน”

ข้าวก็เป็นวัตถุดิบน่าสนใจ ที่ตรีให้ความสนใจ และจะจัดทำในอนาคต

“วัตถุดิบเด่นในไทยที่คิดว่าน่าเอามาทำเบียร์ พี่คิดว่าเป็นข้าว เพราะข้าวไทยมันมีหลายสัมพันธ์ ตอนนี้ก็อยากทำข้าวเหนียวลืมผัว เอามาใส่เบียร์เพราะมันมีคาแรคเตอร์ของมัน”

ตรี สรัญญา แอวังตะโก ผู้ร่วมก่อตั้งโรงเบียร์สหประชาชื่น

การกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการกินดื่มเห็นได้อย่างชัดเจนเมื่อโรงเบียร์สหประชาชื่นเปิดขายเบียร์ที่ทำในโรงเบียร์เอง

“ลูกค้าก็เยอะขึ้นด้วย ตั้งแต่มีเบียร์ที่ผลิตในโรงเบียร์เอง ลูกค้าใหม่ก็เยอะ เพราะเขาก็ตื่นเต้นว่ามีเบียร์ของที่โรงเบียร์แล้ว แต่แรกๆ ที่ทำตอนยังต้มไม่ได้ เปิดในส่วนของร้านอาหาร ก็เป็นเบียร์ที่รับของคนอื่น พอเปิดเบียร์ของโรงได้ ลูกค้าก็ตื่นเต้นที่มาโรงเบียร์แล้วได้กินเบียร์ของโรงเบียร์เราโดยเฉพาะ 

เป็นจุดขายที่คนต้องมากินที่นี่ เพราะขายที่อื่นไม่ได้อยู่แล้ว (หัวเราะ)”

ตรีกล่าวพร้อมรอยยิ้ม

ในขณะที่ตูนกล่าวเสริม

“เราอยากให้คนทั่วไปดื่มได้ ผมมองว่าเบียร์มันไม่ใช่ของไฮโซอะ มันควรเป็นของคนทั่วๆ ไป ของเราก็ทำให้พิเศษขึ้น โอเคมันอาจจะแพงกว่าเจ้าตลาด แต่ก็ไม่ได้แพงขนาดนั้น ต่อให้เราขายแพงมาก เราก็ไม่ได้รวยขึ้น เพราะกำลังผลิตเราน้อย ขายให้ราคาเหมาะสมดีกว่า อยากให้ทุกคนได้ประสบการณ์ที่ดีไป ลูกค้าพึงพอใจ”

จุดร่วม และจุดยืนของสหประชาชื่น

ท่ามกลางการต่อสู้กับกฎหมายและกำแพงภาษี เหล่าผู้ร่วมก่อตั้งโรงเบียร์สหประชาชื่นได้ตกผลึกไอเดียของโรงเบียร์ที่เป็นดั่งการร่วมใจร่วมแรงของแบรนด์ 4 แบรนด์ไว้อย่างน่าสนใจ 

“ที่มาของชื่อสหประชาชื่น ยากสุดคือคิดชื่อ เพราะคิดชื่อได้ถึงจะมีคอนเซป คือผมมีแกนอย่างนึงคืออยากให้รู้ว่าอยู่แถวไหน ประชาชื่นอะไรดีนะ ประชาชื่นใจบ้าง แฮปปี้พีเพิลไรงี้ แต่มันดูไม่จริงจัง ไม่ตั้งใจ อยากได้อะไรแกรนด์ๆ ใหญ่ๆ ก็อืมม UN ใหญ่สุดในโลก ก็นี่ไงสหประชาชาติชุบแป้งทอด ก็กลายเป็นชื่อสหประชาชื่น ภาษาอังกฤษก็แปลงจาก United Nation เป็น United People แล้วผมก็รู้สึกว่าชื่อมันดูติดหูดี พอมีชื่อ มีแบรนด์ มีแกนของแบรนด์ก็ชัดเจนในแนวทาง”

“อย่างสหประชาชาติเขาดำรงเพื่อความมั่นคงและสันติภาพ ผมมองว่าเราก็ทำหน้าที่แบบนั้นในวงการคราฟเบียร์ ทำให้คราฟเบียร์มั่นคง งั้นเป็นแบบนี้เลยละกัน สหประชาชื่น เพื่อสันติภาพและความมั่นคงของคราฟเบียร์ แล้วก็ได้โพเดี้ยมมาจากเพจยืนเดี่ยว”

คอนเซปนี้ส่งต่อไปยังชื่อเบียร์ของทางร้าน เช่น แลนสไลด์ ก็ได้มาจากเรื่องการเมือง เป็นต้น 

“อยากเล่นมุกเบียร์โอบาม่า อะไรงี้เหมือนกัน” ตูนกล่าว 

นอกจากนี้ กิจกรรมของโรงเบียร์ก็จะมีจัดก็เวิร์คชอป เพื่อให้ความรู้เรื่องการผลิตเบียร์ เสริมสร้างชุมชนของผู้สนใจในคราฟเบียร์ ไปจนถึงแนวคิดจะจัดกิจกรรมให้แบรนด์อื่นๆ มาร่วมกัน

เมื่อการพูดคุยจบลง ตูนก็ได้รับการติดต่อจากกลุ่มเกษตรกรที่ปลูกข้าวในจังหวัดมหาสารคาม ที่สนใจแปรรูปผลิตภัณฑ์ของพวกเขาไปเป็นเบียร์เพื่อเพิ่มมูลค่า ก่อนจะนัดหมายการเข้ามาดูงานและเวิร์คชอป

“จากวันนั้นเราเห็นการเติบโต มันไม่น่าเชื่อว่าวงการเล็กๆ ของเราจะเติบโตได้ แต่ทุกวันนี้มันก็เติบโตได้จริงๆ เหมือนดอกไม้ที่โตบนคอนกรีต เราก็ทะลุขึ้นมาได้แล้ว”

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา