Unilever บุกตลาดจีน ส่งเจลอาบน้ำใหม่ชื่อ “KJU” หลายคนตีความว่าย่อมาจาก “คิม จอง อึน”

หลังจากที่ Unilever ซื้อกิจการเครื่องสำอางรายใหญ่ในเกาหลีใต้เกือบ 9 หมื่นล้านบาท ล่าสุด ส่งผลิตภัณฑ์ใหม่ไปเจาะตลาดจีน เป็นเจลอาบน้ำชื่อ “KJU” แต่ประเด็นอยู่ที่ว่า มันไปคล้องกับชื่อย่อของผู้นำเกาหลีเหนือ ลองไปศึกษากรณีนี้กันดู

Photo: flickr.com by alexandramichel และ UNILEVER

Unilever ส่งผลิตภัณฑ์ใหม่ เจลอาบน้ำยี่ห้อ KJU เจาะตลาดจีน

Unilever เพิ่งซื้อกิจการเครื่องสำอางรายใหญ่จากเกาหลีใต้ Carver Korea ในมูลค่า 2,670 ล้านเหรียญ หรือประมาณ 89,000 ล้านบาท เมื่อวันที่ 25 กันยายนที่ผ่านมา จุดประสงค์หลักก็คือต้องการลุยตลาดความสวยความงามในเอเชีย โดยเฉพาะประเทศในแถบเอเชียเหนืออย่างหนัก

ล่าสุด ส่งผลิตภัณฑ์ใหม่ไปในจีน เป็นเจลอาบน้ำชื่อ “KJU” โดยตั้งใจบุกตลาดจีน เป้าหมายคือคนรุ่นใหม่ เพราะว่าเจลอาบน้ำรุ่นนี้มีน้ำหอมกลิ่น Romancy Rosy ผสมอยู่ด้วย

แต่สิ่งที่ตกเป็นประเด็นไม่ใช่ตัวผลิตภัณฑ์โดยตรง แต่คือชื่อผลิตภัณฑ์ KJU ที่สามารถโยงไปหาคำว่า คิม จอง อึน (Kim Jong Un) ผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือคนปัจจุบัน

ทันทีที่ตกเป็นข่าวไม่นาน Alan Jope หัวหน้าผู้ดูแลผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพ ได้ชี้แจงกับผู้เข้าร่วมประชุมในการลงทุนว่า “หลังจากที่เราจดทะเบียนการค้าแล้ว เพิ่งมารู้ว่า [KJU] มันหมายถึงคิม จอง อึนด้วย แต่ก็ไม่เป็นไร”

อย่างไรก็ตาม จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีใครทราบว่า ที่จริงแล้วชื่อ KJU ของ Unilever นี้หมายถึงอะไรกันแน่

Photo: UNILEVER

กรณีศึกษาการตั้งชื่อแบรนด์ KJU ของ Unilever

ต้องบอกเลยว่า การโยงตัวย่อ KJU ไปเป็นคำว่า คิม จอง อึน (Kim Jong Un) เป็นสิ่งที่ใช้กันอย่างกว้างขวาง รับรู้โดยทั่วกัน แต่ถ้าไม่เชื่อลองค้นหาคำว่า KJU ใน Google ดูก็ได้

ทั้งนี้ KJU ก็ยังเป็นชื่อย่อของหลายแบรนด์ด้วย ไม่ได้หมายความถึงแค่คิม จอง อึน เท่านั้น อย่างเช่นองค์กรให้ทุนการศึกษาของชาวมุสลิมในอินเดียก็มีตัวย่อว่า KJU ที่มาจากคำเต็มคือ Kerala Jamiyyathul Ulama หรือจะเป็นชื่อย่อของสนามบิน Kamiraba Airport ในปาปัวนิวกินีก็มีชื่อย่อว่า KJU แถมยังมีร้านอาหารในในสวิตเซอร์แลนด์ที่มีชื่อว่า Le KJU อีกด้วย

เอาเข้าจริง ไม่อยากจะเชื่อว่า Unilever จะพลาดกับการตั้งชื่อสินค้าได้อย่างน่าประหลาดใจถึงเพียงนี้ แต่ไม่ว่าจะเป็นแบรนด์ใหญ่หรือเล็ก คำแนะนำที่ง่ายที่สุดในการตั้งชื่อ คือคุณควรค้นหาคำนั้นใน Google ดูก่อน อย่างน้อยๆ ก็ตรวจสอบได้ประมาณหนึ่งว่ามีคนใช้ชื่อนั้นไปแล้วหรือยัง

แต่ถึงที่สุดแล้ว ถ้าจะนับเป็นความผิดพลาดของ Unilever ในการตั้งชื่อสินค้าก็อาจจะเรียกได้ในกรณีนี้ แต่กลับกัน ถ้าการตั้งชื่อ KJU เป็นความจงใจของแบรนด์ (ซึ่ง Unilever ก็ให้สัมภาษณ์ไว้แล้วว่าไม่ได้ตั้งใจ) ความหมายของเรื่องนี้ก็จะเป็นอีกแบบ เพราะอย่าลืมว่า สายสัมพันธ์ของจีนกับเกาหลีเหนือยังอยู่ในระดับที่รับกันได้ โดยไม่ว่าจะด้วยเหตุผลของระบอบการเมืองที่ใกล้กันหรืออะไรก็ตาม แต่สิ่งที่ยืนยันชัดก็คือจีนยังคงทำการค้าขายกับเกาหลีเหนืออยู่ ส่วนการนำเอาเจลอาบน้ำ KJU เข้าไปเจาะตลาดคนรุ่นใหม่ในจีน จะขายดีขนาดไหน คงต้องติดตามดูกันต่อไป

อ้างอิง – BloombergNYdailynewsMashable

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา