Unilever เผยเทรนด์บริโภคอาหารปี 2021 ร้านสตรีทฟู้ดยกระดับ คุณภาพดี เน้นประสบการณ์มาแรง

ยูนิลิเวอร์ ฟู้ดส์โซลูชั่นส์ เปิดเผย 7 เทรนด์การบริโภคอาหารที่กำลังมาแรงในปี 2021 เนื้อสัตว์จากพืช สิ่งแวดล้อม และความสะอาด ยังคงเป็นประเด็นสำคัญที่คนในปี 2021 กำลังให้ความสนใจ

เปิด 7 เทรนด์การบริโภคอาหารมาแรงในปี 2021

สถานการณ์โรคระบาดสร้างความเปลี่ยนแปลงในวงกว้างให้กับทุกๆ อุตสาหกรรม รวมถึงพฤติกรรมการทานอาหารที่เปลี่ยนแปลงไปหลังจากที่โควิด-19 ระบาด ยูนิลิเวอร์ ฟู้ดส์โซลูชั่นส์ ได้เปิดเผยเทรนด์การบริโภคอาหารที่เปลี่ยนไปในปี 2021 ซึ่งมีดังต่อไปนี้

ตลาดเนื้อสัตว์จากพืชมาแรงอย่างต่อเนื่อง

ในปีที่ผ่านมาแม้ว่าจะมีสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ส่งผลต่อพฤติกรรมการบริโภคอาหาร แต่กระแสเนื้อสัตว์จากพืช (Plant Based Meat) ก็ยังคงมาแรง โดยเฉพาะในประเทศจีนที่สร้างรายได้กว่า 910 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 2.73 หมื่นล้านบาท

โดยสาเหตุที่ทำให้เนื้อสัตว์จากพืชได้รับความนิยมเป็นเพราะสถานการณ์โควิด-19 ที่ทำให้ผู้บริโภคเลือกทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ หลีกเลี่ยงเนื้อสัตว์ที่ไม่มีที่มา โดยในช่วงนี้เราจึงเห็นเมนูอาหารที่ทำจากเนื้อสัตว์จากพืชกันมากขึ้นเรื่อยๆ เช่น นมจากพืช เนื้อสัตว์จากพืช และเครื่องปรุงจากพืช

หันมาสนับสนุนอาหารจากชุมชน ทำเพื่อสิ่งแวดล้อม

ปี 2021 เป็นปีที่ ยูนิลิเวอร์ ฟู้ดส์โซลูชั่นส์ พบว่าผู้บริโภคมีการสนับสนุนอาหารที่ได้รับการผลิตจากท้องถิ่น หรือชุมชน เป็นการสนับสนุนความมั่นคงทางอาหาร และการลด Carbon Footprint โดยร้านอาหารจะต้องให้ความสำคัญกับที่มาของอาหารที่ปลอดภัย เช่น เนื้อสัตว์ และผักที่ดีต่อสุภาพ

จากสตรีทฟู้ด สู่ร้านอาหารหรูมีดาว

ในปี 2021 แม้สถานการณ์โควิด-19 จะกระทบกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก แต่เราได้เห็นภาพร้านอาหารในรูปแบบของ Fine-Casual Dining ยังคงไปได้รอดในยุคนี้ โดยมีร้านอาหารสตรีทฟู้ด หรือร้านอาหารริมทางยกระดับร้านของตัวเองให้กลายเป็นร้านอาหารที่อยู่ในใจของคนกินโดยไม่จำเป็นต้องหรูหรา หรือมีรูปลักษณ์ที่เอื้อมไม่ถึง ผ่านสูตร ฝีมือ ความสร้างสรรค์ และการเลือกใช้วัตถุดิบที่ดีกว่าเดิม

อาหารสูตรเฉพาะเพื่อสุขภาพที่ต่างกัน

การระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้คนสนใจอาหารที่เสริมสร้างภูมิคุ้มกันมากขึ้น นิยามของอาหารเพื่อสุขภาพจึงเปลี่ยนไป จากเดิมที่เป็นอาหารที่ดีต่อคนทุกเพศทุกวัย เป็นอาหารสำหรับเฉพาะบุคคล เนื่องจากร่างกายของแต่ละคนมีความต้องการด้านสุขภาพที่ต่างกัน เช่น กลุ่มผู้ควบคุมอาหาร กลุ่มผู้ออกกำลังกาย และกลุ่มผู้สูงอายุ ที่แต่ละกลุ่มต้องการอาหารที่ต่างกันไป

นิยมอาหารพร้อมทาน แต่ต้องมีประสบการณ์ที่ดี

ยูนิลิเวอร์ ฟู้ดส์โซลูชั่นส์ เปิดเผยว่า ตลาดอาหารปรุงสุกพร้อมทานจะยังเติบโตต่อเนื่องไปจนถึงปี 2024 โดยร้านอาหารหลายๆ แห่ง มีการปรับตัวทำอาหารแบบนำกลับบ้าน และอาหารพร้อมทาน เพื่อตอบโจทย์กลุ่มคนที่ทำงานที่บ้าน

แต่อาหารพร้อมทานมีลักษณะที่เปลี่ยนไป จากเดิมเน้นความสะดวก และคุ้มค่า เปลี่ยนเป็นเรื่องประสบการณ์ เช่น รสชาติ เนื้อสัมผัส วัตถุดิบ คุณค่าทางโภชนาการ และการนำเสนอที่ดี เหมือนได้ออกไปทานอาหารในร้านอาหารร้านหนึ่ง

ให้ความสำคัญกับการเสิร์ฟอาหารไม่เหลือทิ้ง

ต้นทุนวัตถุดิบ นับว่าเป็นต้นทุนค่าใช้จ่ายกว่า 1 ใน 3 ของร้านอาหาร หากร้านอาหารมีการจัดการที่มีประสิทธิภาพทำให้วัตถุดิบเหลือทิ้งน้อยที่สุดก็จะยิ่งประหยัดต้นทุนได้มาก

เทรนด์เสิร์ฟอาหารไม่เหลือทิ้ง ไม่ใช่แค่การนำของเหลือมาอุ่นใหม่ แต่ยังรวมถึงการรณรงค์ให้ร้านอาหารหันมาใช้ผักหน้าเบี้ยว (Ugly Food) เพื่อลดขยะอาหารจากผักผลไม้หน้าตาไม่สวยที่ถูกคัดทิ้ง

ยกระดับสุขอนามัย และความปลอดให้มากกว่าเดิม

แม้ว่าในปี 2020 เราจะได้เห็นภาพการปรับตัวของร้านอาหาร ด้านมาตรฐานความสะอาดและความปลอดภัยซึ่งกลายเป็นสิ่งพื้นฐานของการบริการร้านอาหารไปแล้ว แต่ในปี 2021 กลยุทธ์หลักในการเดินหน้าต่อคือการสร้างมาตรฐานการรักษาสุขอนามัยภายในร้านให้เป็นวิถีปกติใหม่ New Normal ในทุกขั้นตอนบริการ ตั้งแต่การเตรียมวัตถุดิบ การปรุงอาหาร จากในครัว ไปจนถึงงานบริการหน้าร้าน

ที่มา – ข่าวประชาสัมพันธ์

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา