เปิดแผน Unilever ภายใต้ CEO คนใหม่ ยุคที่ความท้าทายอยู่ที่การเปลี่ยนแปลงของ Retail

Unilever ประเทศไทยประกาศทิศทางธุรกิจระยะยาวภายในปี 2022 เน้นที่การเติบโตอย่างยั่งยืน ภายใต้การนำทัพของ CEO คนใหม่ “โรเบิร์ต แคนเดลิโน” ประจำประเทศไทยได้ครบ 1 ปี ถือเป็นการออกสื่อครั้งแรกด้วย

ต้องเป็นแบรนด์อย่างยั่งยืน

กลุ่มบริษัท Unilever ประเทศไทย ประกาศเป้าหมาย “Unilever Thailand 2022 Growing Together” นำแผนการดำรงชีวิตอย่างยั่งยืน ขับเคลื่อนตลาดเมืองไทยให้เติบโต พร้อมพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้บริโภค และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ด้วยกลยุทธ์ 3Ps 1.Purpose สร้างธุรกิจให้เติบโตอย่างมีเป้าหมาย 2.People เติมคุณค่าให้บุคลากร 3. Performance ศักยภาพทางธุรกิจขององค์กร

ภายใต้การนำทัพของ CEO คนใหม่ “โรเบิร์ต แคนเดลิโน” ที่เข้ารับตำแหน่งครบ 1 ปีเต็มพอดิบพอดี เป็นการรับไม้ต่อจาก CEO คนไทยอย่าง “สุพัตรา เป้าเปี่ยมทรัพย์” ปัจจุบันได้ดำรงตำแหน่งรองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท พฤกษา โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) อีกหนึ่งยักษ์ใหญ่ในวงการอสังหาริมทรัพย์

โรเบิร์ตเป็นลูกหม้อของ Unilever มามากกว่า 20 ปี แรกเริ่มโรเบิร์ตดูในส่วนธุรกิจ Hair Care ใน Unilever สหรัฐอเมริกา เป็นผู้ปลุกปั้นแบรนด์ Dove Men+ Care ให้ประสบความสำเร็จเพราะมีการทำตลาดในการปรับเปลี่ยนทัศนะคติของผู้ชาย มีจำหน่ายแค่บางประเทศเท่านั้น

จากนั้นโรเบิร์ตได้ย้ายมาที่ Unilever ประเทศอังกฤษ ดูในส่วนของธุรกิจโกลบอล ดูผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ในประเทศที่กำลังพัฒนาอย่างเอเชีย และแอฟริกา ส่งผลทำให้ชอบตลาดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และประเทศไทยเป็นพิเศษ

เมื่อย้ายมารับตำแหน่งในประเทศไทย ยุทธศาสตร์หลักที่จะสานต่อในการทำตลาดในไทยยังเป็นในเรื่องการขยายตลาดด้วยสินค้าใหม่ๆ และแผนการดำรงชีวิตอย่างยั่งยืน ซึ่งแผนนี้มีการปรับใช้ตั้งแต่ปี 2010 แล้ว ทาง Unilever เชื่อว่าทำให้แข่งขันในตลาดได้ มีเป้าหมายก็คือต้องการช่วยเหลือคนมากกว่า 1,000 ล้านคนมีสุขภาพที่ดีขึ้น ลดผลกระทบจากสิ่งแวดล้อมลงครึ่งหนึ่ง และให้ความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

โรเบิร์ต แคนเดลิโน ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มบริษัท ยูนิลีเวอร์ในประเทศไทย กล่าวว่า

“แผนการดำรงชีวิตอย่างยั่งยืนมาปรับใช้ในการดำเนินธุรกิจมาตั้งแต่ปี 2010 โดยแบรนด์ที่สร้างเพื่อวิถีชีวิตที่ยั่งยืน (Sustainable Living Brands) เติบโตเร็วกว่า 50% เมื่อเทียบกับส่วนธุรกิจอื่นๆ และคิดเป็นสัดส่วน 60% ของการเติบโตโดยรวมของบริษัท ช่วยผลักดันให้ Unilever เป็นผู้นำตลาดใน 7 กลุ่มผลิตภัณฑ์ ประกอบด้วย ผลิตภัณฑ์ซักผ้า ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผม ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิวกาย ผลิตภัณฑ์น้ำยาล้างจาน ผลิตภัณฑ์โจ๊ก ผลิตภัณฑ์ไอศกรีม และผลิตภัณฑ์บำรุงผิวกาย โดย 99% ของ 24.7 ล้านครัวเรือนในประเทศไทยใช้ผลิตภัณฑ์ Unilever โดยมีอัตราการซื้อซ้ำสูงถึง 99% และใช้ผลิตภัณฑ์ยูนิลีเวอร์ 3 ครั้งต่อวัน

กลยุทธ์ 3Ps

แผนระยะยาวของ Unilever ในปีนี้ ยาวไปจนถึงปี 2022 จะเน้นขยายตลาดในกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคที่ Unilever เป็นผู้นำตลาดใน 7 กลุ่ม และเพิ่มอัตราการบริโภคให้เติบโตมากขึ้น ด้วยแผนการพัฒนานวัตกรรมสินค้าที่ตอบสนองความต้องการใหม่ๆ พร้อมโครงการต่างๆ ที่พัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้บริโภค และลดกระทบต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมสร้างการเติบโตทางธุรกิจ โดยนำกลยุทธ์ 3Ps มาใช้ ประกอบด้วย Purpose People และ Performance

  1. Purpose

การสร้างธุรกิจให้เติบโตอย่างมีเป้าหมาย ภายใต้แผนการดำรงชีวิตอย่างยั่งยืนของยูนิลีเวอร์ (Unilever Sustainable Living Plan: USLP) เป็นการพัฒนาธุรกิจ และพัฒนาชมชน สังคม ทาง Unilever เชื่อว่าแบรนด์ที่มีจุดประสงค์ที่ชัดเจน เป็นแบรนด์ที่จะสร้างเอ็นเกจเมนต์ที่ดีกับผู้บริโภค และมีจุดยืนชัดเจนด้วย ที่ผ่านมามีหลายโครงการที่มีการพัฒนาสังคม

เช่น โครงการ คนอร์โจ๊ก School Program เริ่มขึ้นในปี 2552 เพื่อส่งเสริมพฤติกรรมของเด็กในการทานอาหารเช้าอย่างสม่ำเสมอ, โครงการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยมีเป้าหมายในการจัดการขยะที่ย่อยสลายยาก (ประเภทถุงพลาสติกบรรจุภัณฑ์) ไม่ให้ไปสู่หลุมฝังกลบ (Landfill), โครงการร้านติดดาว เพื่อช่วยเหลือร้านโชห่วยให้มีการจัดการที่ดี และโครงการพี่ติมวอลล์ หรือ I’m Wall’s เป็นหนึ่งโครงการภายใต้แผนสร้างอาชีพให้กับคนไทยที่อยากจะเป็นเจ้าของธุรกิจไอศกรีมวอลล์ของตัวเอง

  1. People

เป็นหนึ่งในแผนการลงทุนใหญ่ของ Unilever ก็คือเรื่องของบุคลากร ให้พนักงานได้มีการเทรนนิ่ง และมีประสบการณ์ในการทำงานต่างประเทศ เพราเรื่องคนเป็นเรื่องสำคัญของหลายๆ องค์กร ทาง Unilever เองก็มีหลายโครงการในการพัฒนาบุคลากร

เช่น First Priority is PEOPLE ร่วมค้นหาเป้าหมายในชีวิตของบุคลากรแต่ละคน และเชื่อมโยงเข้ากับเป้าหมายของธุรกิจ สร้างความมีส่วนร่วมกับองค์กร และทำให้พนักงานมีความสุขในการทำงาน, First Employers Of Choice In Thailand All Business เน้นการสร้างแบรนด์ขององค์กรให้เป็นที่รู้จักและชื่นชอบในกลุ่มคนรุ่นใหม่ เพื่อดึงดูดทาเลนต์จากมหาวิทยาลัยทั่วประเทศให้มาร่วมงานกับยูนิลีเวอร์ ซึ่งที่ผ่านมาได้รับเลือกให้เป็นองค์กรอันดับ 1 ที่นักศึกษาอยากเข้าทำงานด้วยมากที่สุดในกลุ่มธุรกิจ FMCG และในทุกธุรกิจเมื่อปี 2017 ทำการสำรวจโดยสถาบัน Universum ผ่านการลงคะแนนของนักศึกษาระดับปริญญาโทจาก 4 มหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศ

  1. Performance

ศักยภาพทางธุรกิจขององค์กร การพัฒนานวัตกรรมในแต่ละกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ตอบสนองความต้องการใหม่ ๆ ของผู้บริโภค มีการขยายตลาดด้วยสินค้าใหม่ๆ คุณประโยชน์ใหม่ๆ ทำให้เค้กก้อนใหญ่ขึ้น เจาะแคมเปญใหม่ๆ เป็นกลยุทธ์ของเจ้าตลาดที่จะทำให้ตลาดเติบโต  เช่น LUX Luminique เป็นแชมพูที่อิมพอร์ตจากญี่ปุ่น เข้ามาสร้างตลาดได้ดี รวมถึงคนอร์ Natural เป็นคัพโจ้กที่เฮล์ทตี้มากขึ้น เป็นการเจาะลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ รวมถึงการทำตลาดกับสินค้าที่ยังมีอัตราการใช้ไม่สูงนัก เช่น กลุ่มระงับกลิ่นกาย

ความท้าทายอยู่ที่ช่องทางการขาย

โรเบิร์ตมองว่าความท้าทายที่สุดในการทำตลาดในประเทศไทยในตอนนี้อยู่ที่ “ค้าปลีก” ที่มีการเปลีย่นแปลงอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ไม่เหมือน 20-30 ปีก่อนที่มีการซื้อรูปแบบเดิมๆ อยากได้สินค้าก็ไปซื้อที่ร้านค้า แต่ตอนนี้ได้เปลี่ยนแปลงไป โมเดลธุรกิจเปลี่ยน โมเดลของค้าปลีกเปลี่ยน มีร้านสะดวกซื้อเข้ามา มีออนไลน์เข้ามา ชีวิตผู้บริโภคไม่ได้มีแพลตเทิร์นเดิมๆ จึงต้องตามผู้บริโภคให้ทัน

สำหรับภาพรวมของ Unilever ในระดับโกลบอลนั้น มีการทำตลาดใน 190 ประเทศทั่วโลก มีพนักงาน 169,000 คน ในปี 2017 มีรายได้รวม 53,700 ล้านยูโร มี 14 แบรนด์ที่มียอดขายมากกว่า 1,000 ล้านยูโร และมีผู้ใช้สินค้าของ Unilever ในแต่ละวันถึง 2,500 คน

ส่วนในประเทศไทย รายได้ใหญ่สุดยังเป็นกลุ่ม Home Care สัดส่วน 40% มีแบรนด์อย่าง บรีส โอโม่ คอมฟอร์ต ซันไลต์ Cif และ Promax รองลงมาคือกลุ่ม Beauty and Personal Care สัดส่วน 39% มีแบรนด์ ลักซ์ ซันซิล วาสลีน โดฟ ซิตร้า เรโซน่า Pond’s Thesemme AXE และ Close Up และกลุ่มสุดท้าย Food & Ice Refreshment สัดส่วน 21% มีแบรนด์ คนอร์ วอลล์ Best Foods Liptons Magnum Cornetto Paddle Pop Ben&Jerry’s และ เอเชียน ดีไลท์

โรเบิร์ตบอกว่าสินค้ากลุ่ม Food & Ice Refreshment มีการเติบโตได้ดีจากสินค้าวอลล์ ไอศกรีม แซนวิช รวมถึงคนอร์ คัพโจ้ก สินค้ากลุ่ม Beauty and Personal Care ก็มีสินค้ากลุ่มดูแลผิวหน้าที่เติบโตดี ส่วนสินค้ากลุ่ม Home Care โตน้อยสุด แต่ยังมีโอกาสเติบโตได้อีก

สรุป

  • ประเทศไทยยังเป็นตลาดใหญ่ของ Unilever อยู่ เห็นได้จากการแอคทีฟในการพัฒนาสินค้าใหม่ๆ ซึ่งผู้บริโภคเองก็ตอบรับกับสินค้าใหม่ๆ นวัตกรมใหม่ๆ เพราะพฤติกรรมผู้บริโภคก็มีการเปลี่ยนแปลงตลอด มองหาสิ่งที่ดีที่สุดในกับชีวิต ทำให้ได้เห็นการตลาดที่รอบด้านของ Unilever ทั้งด้านสินค้า ชุมชน สังคม เพื่อเป้าหมายในการทำธุรกิจให้ยั่งยืน

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

mm
Ratinun Chaiwiboolvech | Content Editor | Marketing | Retail | Media | Liverpool ratinun.tk@gmail.com