รองเท้ากีฬาไหลไปที่ Lifestyle & Retro แต่ Under Armour กลับย่ำอยู่กับที่จนจะไปไม่รอด

รองเท้ากีฬาเป็นอีกตลาดที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว ยิ่งตอนนี้เทรนด์ Lifestyle & Retro มาแรงมาก แล้วแบรนด์อย่าง Under Armour ที่ทำรองเท้ากีฬาจ๋า จะอยู่รอดในธุรกิจนี้หรือไม่

ภาพโดย Marco Verch (Under Armour Gemini 2 Record) [CC BY 2.0 (http://creativecommons.org/licenses/by/2.0)], via Wikimedia Commons

ถ้าไม่ตามเทรนด์ โอกาสจะกลับมาก็ยาก

จากแผนระยะยาวของ Under Armour ที่ต้องการเป็นบริษัท 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐให้เร็วที่สุด ผ่านการจำหน่ายอุปกรณ์กีฬาที่ล้ำสมัย และชูเรื่องความเท่เมื่อใส่ครั้งออกกำลังกาย โดยเฉพาะกับรองเท้ากีฬาที่ต้องจริงจังกับการออกแบบมากขึ้น เพราะผู้บริโภคมีความต้องการสินค้าตัวนี้สูง และสิ้นปี 2559 บริษัทก็เดินแผนนี้ไปด้วยดี ผ่านยอดจำหน่ายรองเท้ากีฬาในไตรมาสสุดดท้ายของปี 2559 ที่เพิ่มขึ้นถึง 36%

แต่ตัวเลขการเติบโตที่ Under Armour เปิดเผยออกมานั้นนับจำนวนทั้งการจำหน่ายให้กับผู้บริโภคโดยตรง และจำหน่ายให้กับร้านค้าต่างๆ ซึ่งหากนับแค่การจำหน่ายรองเท้ากีฬาให้กับผู้บริโภคโดยตรงนั้น NPD Group บริษัทวิจัยตลาดระดับโลก กลับรายงานว่า Under Armour มียอดจำหน่ายรองเท้ากีฬาลดลงถึง 20% เมื่อเทียบเวลาเดียวกันกับปี 2558

Robin Lewis ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัทวิเคราะห์ธุรกิจ The Robin Reports มองว่า จากตัวเลขข้างต้นแสดงให้เห็นถึง Under Armour จำหน่ายรองเท้ากีฬาให้กับร้านค้าปลีกจำนวนมาก แต่สุดท้ายแล้วร้านค้าเหล่านั้นไม่สามารถระบายสินค้าออกมาได้ ซึ่งจุดจบก็คือร้านค้าเหล่านั้นต้องนำสินค้ามาลดราคา เพื่อล้างสต๊อกเก่าๆ ออกมา และนำเงินจำนวนนี้มาหมุนในธุรกิจอีกครั้ง

Stephen Curry

ถึง Stephen Curry จะเทพ ก็ไม่ช่วย

ขณะเดียวกันแม้ Under Armour จะไปสปอนเซอร์ให้กับนักกีฬาเบอร์ต้นๆ ของแต่ละประเภท เช่นกีฬาบาสเก็ตบอลก็สนับสนุน Stephen Curry นักกีฬาระดับ All-Star ของ NBA ก็ไม่ได้ทำให้ยอดขายรองเท้ากีฬาเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด เพราะนอกจากดีไซน์ที่เป็นกีฬาจ๋าแล้ว ตลาดรองเท้าบาสเก็ตบอลทั่วโลกยังหดตัวถึง 20% ในปี 2559 และรองเท้าบาสเก็ตบอลที่ยังจำหน่ายได้อยู่คือรองเท้าประเภทที่ใส่ได้ในชีวิตประจำวัน

สำหรับตลาดรองเท้ากีฬา Lifestyle & Retro นั้นเติบโตขึ้น 29% ในเดือนต.ค. 2559 เนื่องจากการนำความเป็นกีฬา ผสมกับเรื่องแฟชั่น ช่วยให้การจำหน่ายรองเท้ากีฬาของทั้ง Nike และ Adidas เดินหน้าจำหน่ายรองเท้ากีฬาได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ เช่น Nike ก็ยังมี Air Jordan ที่ยังครองตลาดอย่างต่อเนื่อง แม้จะออกมาเกิน 30 รุ่น หรือทาง Adidas ที่มี NMD และ Yeezy รวมถึง Ultra Boost ที่เวลารุ่นใหม่วางขายก็เป็นที่ต้องการตลอด

สรุป

การตกเทรนด์รองเท้ากีฬาครั้งนี้ถือเป็นอีกเรื่องที่ผิดพลาดอย่างไม่น่าให้อภัยของ Under Armour เพราะทาง Kevin Plank ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของแบรนด์กีฬารายนี้ยังเชื่อในความเป็นกีฬา และนวัตกรรมมากเกินไป แต่หลังจากนี้ทางแบรนด์ยืนยันว่าจะส่งสินค้าที่เป็นแฟชั่นออกมามากขึ้น เพื่อรับกับเทรนด์ตลาดที่เปลี่ยนไปให้ได้

อ้างอิง // Under Armour’s ‘soaring’ shoe sales reveal a terrible truth for the business

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา