UN เตือนตัดไม้ทำลายป่าเป็นเหตุให้เกิดโรคระบาดจากสัตว์สู่คน คร่าชีวิต 2 ล้านคนทั่วโลกต่อปี

องค์การสหประชาชาติ (UN) เปิดเผยการศึกษา ในอนาคตจะมีโรคระบาดที่มีที่มาจากสัตว์สู่คน เป็นเรื่องปกติมากขึ้น คล้ายๆ กับโรคโควิด-19 ที่มีการคาดการณ์ว่ามีที่มาจากค้างคาว เนื่องจากสาเหตุด้านสิ่งแวดล้อมที่มนุษย์เป็นต้นเหตุ

ภาพจาก Unsplash โดย Tai’s Captures

โรคระบาดที่มีที่มาจากสัตว์แล้วแพร่กระจ่ายสู่คน หรือที่เรียกว่า Zoonotic Diseases ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ หรือเกิดกับโรคโควิด-19 เป็นครั้งแรก เพราะความจริงแล้วมีโรคระบาดหลายๆ โรคที่มีจุดเริ่มต้นจากสัตว์ เช่น อีโบลา (ค้างคาวเป็นพาหะ), ไวรัสเวสต์ไนล์ (ยุงเป็นพาหะ), เมอร์ส (อูฐเป็นพาหะ) และโรคไข้ริฟต์ วาลเลย์ (ยุงเป็นพาหะ) ที่เคยมีการแพร่ระบาดอย่างรุนแรงและส่งผลเสียต่อชีวิต และระบบเศรษฐกิจของทุกๆ ประเทศทั่วโลก

องค์การสหประชาชาติ คาดการณ์ว่าโรคระบาดที่มีที่มาจากสัตว์นี้จะฆ่าชีวิตคนทั่วโลกกว่า 2 ล้านคนต่อปี โดยเฉพาะประเทศที่มีรายได้น้อย-ปานกลางจะได้รับผลกระทบมากที่สุด รวมถึงสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจอีกกว่า 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 3.12 ล้านล้านบาท ในระยะเวลา 10 ปี โดยความเสียหายจำนวนนี้ไม่ได้รวมกับความเสียหายที่เกิดขึ้นเพราะสถานการณ์โควิด-19 ที่คาดว่าจะสร้างความเสียหายให้เศรษฐกิจโลกกว่า 9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 280 ล้านล้านบาท

อย่างไรก็ตามองค์การสหประชาชาติแนะนำว่าวิธีที่จะช่วยป้องกันการแพร่ระบาดของโรคที่มีที่มาจากสัตว์สามารถทำได้ โดยอาศัยการประสานความร่วมมือ และการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานสาธารณสุข สัตวแพทย์ และหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการจัดการทรัพยากรทั้งบนดิน และ ในน้ำ รวมถึงสร้างความมั่นคงทางอาหาร โดยลดการพึ่งพาหรือทำลายที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าให้ได้มากที่สุด

ภาพจาก pixabay.com

เพราะการตัดไม้ทำลายป่า การล่าสัตว์ การใช้ประโยชน์ทางทรัพยากรจากผืนป่า และการบุกรุกที่อยู่อาศัยสัตว์ป่า จะทำให้สัตว์ป่าไม่มีที่อยู่อาศัยและจำเป็นต้องย้ายออกมาอยู่ในจุดอื่นๆ ที่มีความใกล้ชิดกับคนมากขึ้น ซึ่งจะยิ่งทำให้มีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคระบาดที่มีที่มาจากสัตว์ได้ง่าย และรุนแรงกว่าเดิม

ที่มา – UN, Fastcompany

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา