เราเห็นข่าว Blockchain กับโลกการเงินกันอยู่เรื่อยๆ แต่รูปแบบการใช้งาน Blockchain ของสหประชาชาติ (UN) อาจแตกต่างออกไปจากที่เราคุ้นเคย
จากปัญหาผู้ลี้ภัยสงครามจากซีเรีย หนีเข้ามายังประเทศจอร์แดน ส่งผลให้มีค่ายอพยพของผู้ลี้ภัยสงครามเป็นจำนวนมากในจอร์แดน จนสหประชาชาติต้องเข้ามาช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ด้านชีวิตความเป็นอยู่
ในอดีต ค่ายผู้ลี้ภัยมีระบบ “คูปองเงินสด” เพื่อแจกจ่ายให้กับผู้ลี้ภัยเพื่อนำมาแลกซื้ออาหารหรือเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน แต่โลกยุคปี 2017 กำลังเปลี่ยนไป เพราะคูปองจะถูกรันด้วย Ethereum แทน
ระบบคูปอง Ethereum ของ UN ทำให้ UN ไม่ต้องจ่ายเงินสดให้กับผู้ลี้ภัย แต่จ่ายเป็นคูปองดิจิทัลให้ผู้ลี้ภัยแทน จากนั้นผู้ลี้ภัยจะนำคูปองนี้ไปใช้จ่ายผ่านร้านค้าในค่ายผู้ลี้ภัยเพื่อแลกกับอาหารหรือสินค้าอื่นๆ และร้านค้าจะบันทึกการทำธุรกรรมแต่ละครั้งลงในเครือข่าย Ethereum Blockchain เพื่อให้ UN นำเงินสดมาจ่ายตรงที่ร้านค้าแทนในภายหลัง
ผู้ลี้ภัยกว่า 5 แสนคนจะต้องลงทะเบียนเพื่อสแกนม่านตา ใช้เป็นสิ่งยืนยันตัวตน จากนั้นผู้ลี้ภัยที่ผ่านการยืนยันตัวตนแล้วจึงจะได้รับคูปองจาก UN ที่สามารถใช้งานได้ทั้งผ่านสมาร์ทโฟน (ยืนยันตัวตนด้วยรหัสผ่านแบบ OTP ในการจ่ายเงินแต่ละครั้ง) หรือยังจ่ายเป็นคูปองกระดาษก็ได้
ในระยะแรกจะมีผู้ลี้ภัยประมาณ 10,000 คนได้ทดสอบระบบใหม่ก่อน จากนั้นจะขยายเป็น 100,000 คนในช่วงกลางปีนี้ และครอบคลุมผู้ลี้ภัยทุกคนในช่วงปลายปีหน้า 2018
ระบบประมวลผลคูปอง รันด้วยเครือข่าย Blockchain บนเทคโนโลยีค่าย Ethereum ที่พัฒนาโดยห้องแล็บ UN Innovation Accelerator ร่วมกับสตาร์ตอัพ Parity Technologies และบริษัทประมวลผลข้อมูลขนาดใหญ่ Datarella
การประมวลผลธุรกรรมคูปองผู้อพยพด้วย Blockchain/Ethereum จะช่วยให้การติดตามเส้นทางเดินของคูปองสะดวกมากขึ้น ข้อมูลธุรกรรมทั้งหมดจะถูกบันทึกไว้ในเครือข่ายสาธารณะ แต่จะตัดข้อมูลเรื่องมูลค่าของการใช้จ่ายออกไปเพื่อปกป้องความเป็นส่วนตัวของผู้จ่ายเงิน
ข้อดีของการจ่ายคูปองแบบนี้คือ UN ไม่จำเป็นต้องขนเงินสดมาจ่ายคนเป็นหลักแสนคน แต่จ่ายเงินสดตรงไปยังร้านค้าหลักไม่กี่ร้อยแห่งแทน ค่าธรรมเนียมการขนย้ายเงินสดจึงน้อยกว่า ความยุ่งยากก็น้อยกว่า และไม่จำเป็นต้องจ่ายเงินล่วงหน้าให้ร้านค้า เพราะระบบ Blockchain มีบันทึกธุรกรรมทั้งหมดเอาไว้แล้ว
UN ยังมีแผนการนำระบบคูปอง Blockchain ขยายไปยังพื้นที่ประสบภัยอื่นๆ เช่น ปากีสถาน ภายใต้โครงการ World Food Program (WFP) อีกในอนาคต
ที่มา – CoinDesk
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา