Boris Johnson นายกรัฐมนตรีอังกฤษ เพิ่งจะออกมาบอกแผนการในการเปิดประเทศอีกครั้งหลัง Lockdown เพราะถูกโควิด-19 โจมตีหนัก (อังกฤษมีคนติดเชื้อรวม 220,449 คน เสียชีวิต 31,930 คน รักษาหาย 1,002 คน) โดย Johnson ระบุว่า ใครที่ไม่สามารถทำงานจากบ้านได้ก็ควรจะหลีกเลี่ยงขนส่งสาธารณะ
โดยอังกฤษเตรียมลดระดับการ Lockdown ให้นักเรียนระดับประถมเริ่มเรียนได้ ให้ร้านค้าต่างๆ กลับมาเปิดได้ ขณะที่ธุรกิจและสถานที่สาธารณะต่างๆ ก็อาจจะใช้เวลานานกว่านั้น (วันก่อน อังกฤษเพิ่งจะแถลงว่าเตรียมทุ่มงบประมาณพัฒนาเส้นทางจักรยาน e-scooter และทางเท้า: อังกฤษเตรียมทุ่ม 7.9 หมื่นล้านบาท ให้คนเดินและปั่นจักรยานสะดวก ลดความหนาแน่นขนส่งมวลชน)
อังกฤษกำหนดระดับการรับมือโควิดโดยเรียกว่า “Covid Alert Level” เพื่อจะบอกให้รู้ว่าประชาชนควรระวังในการใช้ชีวิตระดับไหน ควรใช้มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมแค่ไหน โดยจะแบ่งเป็น 5 ระดับ ถ้าระดับสูงมาก ยิ่งต้องระมัดระวังมาก โดยระดับที่ 1 หมายความว่ากำจัดโควิดออกไปจากอังกฤษได้แล้ว ส่วนระดับ 5 คือระดับวิกฤต ระดับที่ต้องระมัดระวังตัวเองอย่างเข้มข้น ตอนนี้อังกฤษเริ่มอยู่ในระดับที่ 3
แผนการกลับมาเปิดให้ภาคส่วนต่างๆ ได้ดำเนินกิจการ คนได้ใช้ชีวิตนอกบ้านมากขึ้นนี้แบ่งเป็นหลายระดับเช่นกัน
- ระดับแรก ให้คนทำงานจากที่บ้าน ส่วนใครที่ทำงานจากบ้านไม่ได้ ก็ควรหลีกเลี่ยงการเดินทางโดยงดใช้ขนส่งสาธารณะ เพื่อใช้มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมต่อไป ถ้าเลือกได้ก็ให้ใช้เดินทางโดยรถยนต์ส่วนตัว หรือปั่นจักรยาน หรือเดินไปทำงานแทน ด้านขนส่งสาธารณะก็ควรทำตามมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมด้วย วันพุธที่จะถึงนี้ รัฐบาลให้ประชาชนออกมาออกกำลังกายนอกบ้านได้ มาใช้สวนสาธารณะได้ เล่นกีฬาได้ แต่ต้องเล่นกีฬากับคนในครอบครัวเท่านั้น
- ระดับที่สอง ก่อนวันที่ 1 มิถุนายน อาจจะให้เปิดร้านค้า โรงเรียนประถมให้กลับมามีการเรียนการสอนได้
- ระดับที่สาม ช่วงต้นเดือนกรกฏาคม อาจจะให้อุตสาหกรรมบริการกลับมาดำเนินกิจการได้ สถานที่สาธารณะอื่นๆ ก็อาจจะให้กลับมาเปิดให้บริการได้ต่อ
ทั้งนี้ ตลอดสองเดือนต่อจากนี้ รัฐบาลไม่ได้ขับเคลื่อนโดยใช้ความจำเป็นทางเศรษฐกิจ แต่จะให้ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์เป็นตัวบ่งบอก ว่าควรจะเปิดให้กลับมาดำเนินการได้มากน้อยแค่ไหน นอกจากนี้ ก็จะให้มีการกักกันโรคสำหรับใครที่เดินทางเข้าประเทศโดยสายการบินต่างๆ เพื่อป้องกันการกลับมาติดเชื้อใหม่
หลังคำแถลงดังกล่าวของ Borish Johnson อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวอังกฤษก็แสดงท่าทีไม่เห็นด้วยกับการกักกันโรคผู้คนที่จะเดินทางเข้าประเทศ แม้ Johnson จะไม่ระบุว่าจะมีการกักกันโรคผู้ที่เดินทางมาด้วยสายการบินยาวนานเท่าไร แต่ก็มีการคาดการณ์ว่า น่าจะยาวนาน 14 วัน ทาง Steven Freudmann ประธานสถาบันการเดินทางและการท่องเที่ยวกล่าวว่า อุตสาหกรรมท่องเที่ยวกำลังจะล่มสลายแล้ว การกักกันยาวนาน 14 วันมันเป็นระยะเวลาที่ยาวนานเกินไป คนที่เดินทางมาจากต่างประเทศทั้งหมดจะได้รับผลกระทบหนัก
ขณะที่ Karen Dee CEO แห่ง Airport Operator Association ระบุว่า การกักกันโรคอาจจะส่งผลกระทบร้ายแรงแต่อุตสาหกรรมการบนิและส่งผลต่อเศรษฐกิจในวงกว้าง และเห็นว่ามาตรการใหม่ๆ ก็ควรจะเอามาใช้อย่างเหมาะสม
ขณะที่ทาง Institute of Directors ระบุว่า การกักกันโรคจะกระทบต่อธุรกิจที่หลากหลาย มากกว่าการท่องเที่ยวอย่างเดียว ควรมีกลยุทธ์ระยะยาวกว่านี้ ที่จะทำให้การท่องเที่ยวและการค้าระหว่างประเทศฟื้นกลับมาได้ เพราะส่วนใหญ่การค้าระหว่างประเทศมักต้องอาศัยคนให้เดินทางข้ามพรมแดน ทั้งนำเข้าทั้งส่งออก การกักกันโรคจะทำให้กระทบต่อคนงานตามไร่ของอังกฤษที่กำลังขาดแคลนอยู่และต้องเดินทางข้ามพรมแดนเป็นกังวลไปด้วย (ขาดแคลนหนักและไม่สามารถรับสมัครคนทำงานเข้าไปใหม่ได้ เพราะโควิด-19 ระบาด) โดยเห็นว่า ควรจะเน้นเรื่องการตรวจเช็คสุขภาพก่อนเข้าประเทศมากกว่า
ที่มา – GOV.UK, The Guardian
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา