อังกฤษ ไม่รอ Brexit ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ครั้งที่ 2 ในรอบทศวรรษ

หลายปีที่ผ่านมา อัตราดอกเบี้ยนโยบายทั่วโลกอยู่ในระดับต่ำมาตลอด ตั้งแต่ปี 2015 ธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) เริ่มปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย อย่างช่วงที่เหลือของปีนี้จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 2 ครั้ง และปีหน้าอีก 4 ครั้งเพราะเขาเห็นทิศทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้น ทำให้ทั่วโลกเริ่มปรับขึ้นดอกเบี้ยตาม

ส่งผลให้ธนาคารกลางหลายประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้ว ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยตาม จนล่าสุดฝั่งเมืองผู้ดีอย่างอังกฤษก็ขยับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแล้ว

ภาพจาก shutterstock

อังกฤษปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งที่ 2 ในรอบ 10 ปี ดึงสินเชื่อแพง-ดอกเบี้ยเงินฝากขึ้น

วันพฤหัสบดี (2 ส.ค.) ธนาคารกลางอังกฤษ (Bank Of England-BOE) มีมติเป็นเอกฉันท์ ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็น 0.75% จากเดิมที่อยู่ระดับ 0.5% แม้ว่ายังมีความกังวลเกี่ยวกับความแข็งแกร่งเศรษฐกิจอังกฤษ และความไม่แน่นอนของ Brexit (การที่อังกฤษจะแยกตัวจากยูโรป)

ผลกระทบของการเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะทำให้ สินเชื่อที่อยู่อาศัย และสินเชื่อต่างๆ ปรับตัวสูงขึ้น แต่น่าจะส่งผลดีต่อดอกเบี้ยเงินฝากในประเทศให้ปรับตัวสูงขึ้นเช่นกัน

ขณะเดียวกัน ประเด็นที่ต้องจับตาต่อไป คือเศรษฐกิจของอังกฤษอาจได้รับผลอย่างแรง หากการ Brexit ในเดือนมี.ค. 2019 หากไม่มีข้อตกลงที่ครอบคลุมเงื่อนไขที่อังกฤษมองไว้

ภาพจาก shutterstock

อังกฤษไม่รอ Brexit ชิงขึ้นดอกเบี้ย เพราะการจ้างงาน-อัตราค่าแรงดี

คณะกรรมการนโยบายการเงินของ BOE บอกว่า สาเหตุหลักที่ทำให้ตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมาจาก ค่าจ้างแรงงาน และตลาดการจ้างงานยังมีการเติบโตอย่างแข็งแกร่ง ซึ่งเป็นหน้าที่ของธนาคารกลางที่ต้องตัดสินใจแทนที่จะรอการ Brexit

แต่ทางคณะกรรมการฯ ยังตระหนักว่าขั้นตอนในการ Brexit จะเป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลกระทบต่อภาคครัวเรือน ภาคธุรกิจ และตลาดการเงิน ทำให้ BOE มีการทำงานอย่างใกล้ชิดกับกระทรวงการคลังของอังกฤษ (UK Treasury) และธนาคารกลางยุโรป (The European Central Bank-ECB) เพื่อให้การ Brexit ราบรื่นทั้งเศรษฐกิจและตลาดทุน

ซึ่งทาง Mark Carney ผู้ว่าของ BOE บอกว่า เราไม่สามารถรอให้ทุกอย่างพร้อมแล้วค่อยขยับตัว ขณะเดียวกัน BOE ก็ต้องเตรียมพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงในภาคเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่เหลือ

ภาพจาก shutterstock

ความเห็นของนักวิเคราะห์ต่อการขึ้นดอกเบี้ยของ BOE

ในขณะที่ฝุ่นยังตลบอบอวล นักวิเคราะห์อย่าง Kallum Pickering นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส Berenberg บอกว่า เราหวังว่า BOE จะรอจนกว่าเรื่อง Brexit ในเดือน มี.ค. 2019 จะชัดเจนขึ้น แล้ว BOE ค่อยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกครั้ง

ส่วนความคิดเห็นจาก Mark Carney ผู้ว่าของ BOE ย้ำว่าปัจจัยหลักที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของอังกฤษ ย่อมเป็นเรื่อง Brexit ดังนั้นหากอังกฤษถอนตัวออกจากยุโรป โดยยังไม่มีข้อตกลงที่ชัดเจน อาจมีความเสี่ยงในภายหลังที่ธนาคารกลางของอังกฤษ จะต้องลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และใช้มาตรการฉุกเฉินอื่นๆ เพื่อรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและเศรษฐกิจในวงกว้าง

 

ที่มา CNNMoney

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา