มากกว่ากระแสความเท่าเทียม แต่คือฝีมือ และความสนุกของการแข่งขัน ทำให้ ฟุตบอลหญิง เริ่มเป็นที่สนใจของผู้ชม และแบรนด์ต่าง ๆ ในการเข้ามาสนับสนุนมากขึ้น ตัวอย่างคือการแข่งขันรอบก่อนรองชนะเลิศ UEFA Women’s Champions League ระหว่าง Barcelona กับ Real Madrid ที่ขายตั๋วเข้าชมได้กว่า 91,000 ที่นั่ง
ปัจจัยบวกข้างต้นทำให้การแข่งขัน UEFA Women’s EURO England 2022 หรือ Euro 2022 คึกคักเป็นพิเศษ ผ่านการขายตั๋วนัดชิงในสนาม Wembly ที่มีความจุ 90,000 ที่นั่งได้หมด แถมมีแบรนด์ชั้นนำมาเป็นสปอนเซอร์ และขายลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดเยอะขึ้น จน UEFA คาดว่า จะได้ทำเงินมากกว่า 4 เท่าเมื่อเทียบกับการแข่งขันในปี 2017
จุดเริ่มต้นในกระแสฟุตบอลหญิงเกิดขึ้นเมื่อไร อะไรที่ทำให้การแข่งขัน Euro 2022 ในอังกฤษกลายเป็นกระแสที่แบรนด์ และผู้ชมต่างให้ความสนใจ แล้วกระแสดังกล่าวจะเกิดขึ้นกับฟุตบอลหญิงของไทยหรือไม่ Brand Inside อยากชวนมาหาคำตอบ และร่วมวิเคราะห์กระแสนี้ไปด้วยกัน
ฟุตบอลหญิง กระแสที่จุดติดมาตลอด 2 ปี
หากย้อนไปช่วงสิบกว่าปีก่อน ฟุตบอลหญิง ไม่ได้ถูกให้ความสำคัญนักจากทั้งฝั่งสโมสร และสมาคมฟุตบอลของแต่ละประเทศ เพราะด้วยฝีมือ และความสนุกในการแข่งขันที่อาจทัดเทียมการแข่งขันของฝั่งผู้ชายไม่ได้ แต่ช่วง 2 ปีที่ผ่านมาสโมสร และสมาคมต่างเริ่มจริงจังกับฟุตบอลหญิงมากขึ้น ทั้งยังมีการเข้ามาสนับสนุนของแบรนด์ต่าง ๆ ด้วย
Karen Carney อดีตนักเตะฟุตบอลหญิงของอังกฤษ เล่าให้ฟังว่า ในช่วงแรกของการเริ่มเล่นอาชีพ เธอไม่ได้รับค่าตอบแทนใด ๆ แต่ปัจจุบันโลกเปลี่ยนไปมาก การแข่งขันสนุกขึ้น มีผู้ชมมากกว่าเดิม จนแบรนด์เข้ามาสปอนเซอร์ และพอครบ 3 สิ่ง ฟุตบอลหญิงก็ถูกขับเคลื่อนให้เติบโตมาตลอดช่วง 2 ปีล่าสุด
จากเป็นเพียงแค่แพ็คเกจสปอนเซอร์ที่ผู้จัดแถมให้กับแบรนด์ที่สนับสนุนการแข่งขันฟุตบอลชาย ตอนนี้ฟุตบอลหญิงถูกแบรนด์ต่าง ๆ ติดต่อเข้ามา แถมการแข่งขันฟุตบอลลีกผู้หญิงของอังกฤษฤดูกาล 2021 ถูก BBC และ Sky Sport ซื้อลิขสิทธิ์ไปถ่ายทอด
ถือเป็นครั้งแรกที่สมาคมฟุตบอลประเทศอังกฤษ หรือ FA ขายลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดแยกจากฟุตบอลชายได้ นอกจากนี้ Barclays ได้บรรลุข้อตกลงขยายการสนับสนุนการแข่งขัน Women’s Super League และ English Championship ไปอีก 3 ปี คิดเป็นมูลค่ากว่า 30 ล้านปอนด์ เช่นกัน
Euro 2022 กับเงินสะพัด 2,200 ล้านบาท
การเติบโตของฟุตบอลหญิงตลอด 2 ปีล่าสุดทำให้การแข่งขัน Euro 2022 ที่จัดขึ้นในอังกฤษ มีการแข่งขัน 31 นัดใน 10 สนามกินเวลาตั้งแต่วันที่ 6 – 31 ก.ค. 2022 ถูกผู้คนในอังกฤษ และผู้ชื่นชอบฟุตบอลในประเทศต่าง ๆ พูดถึงเป็นจำนวนมาก จากปกติที่แทบจะไม่มีการรับรู้ว่ามีการแข่งขันนี้เกิดขึ้น
UEFA ผู้จัดการแข่งขัน Euro 2022 คาดว่าการแข่งขันนี้จะสร้างเม็ดเงินได้กว่า 60 ล้านยูโร หรือราว 2,200 ล้านบาท มากกว่า 4 เท่าเมื่อเทียบกับการแข่งขัน Euro 2017 ที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ ผ่านตั๋วเข้าชมที่จำหน่ายได้แล้วกว่า 5 แสนใบ มากว่าการจัดครั้งก่อนเท่าตัว
นอกจากนี้บริษัทที่ปรึกษา Ernst & Young ยังคาดว่า Euro 2022 จะมียอดผู้ชมทั่วโลกกว่า 250 ล้านคน เพิ่มจากการแข่งขัน Euro 2017 ที่มีผู้ชมทั่วโลกราว 178 ล้านคน โดยการแข่งขันครั้งนี้เพิ่มเงินรางวัลรวมเป็น 16 ล้านยูโร แต่ยังน้อยกว่าการแข่งขันของผู้ชาย เช่น Euro 2020 ทีมที่เข้ารอบสุดท้ายจะได้เงิน 331 ล้านยูโร/ทีม
ใครสปอนเซอร์ Euro 2022 บ้าง
สำหรับแบรนด์ที่เข้ามาสนับสนุนการแข่งขัน Euro 2022 ประกอบด้วย Visa, Adidas และ Nike รวมถึงเครื่องดื่ม Heineken โดย Visa มองว่าการสนับสนุนครั้งนี้จะช่วยให้เกิดการเข้าถึงอย่างเท่าเทียมตามวิสัยทัศน์ของแบรนด์ที่ต้องการสร้างแรงกระเพื่อมให้เกิดการรับรู้เรื่องนี้
อย่างไรก็ตามการเข้ามาสนับสนุน Euro 2022 ก็มาพร้อมความท้าทาย เพราะเศรษฐกิจโลกยังมีปัญหา รวมถึงในช่วงปลายปีจะมีการแข่งขันฟุตบอลโลกของผู้ชาย หรือ FIFA World Cup ที่ประเทศกาตาร์ด้วย ทำให้กระแสที่คาดว่าจะได้รับอาจไม่มากอย่างที่หลายแบรนด์หวัง
ฟุตบอลหญิงไทย ยังไม่บูมเท่าที่ควร
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อกลางเดือน มิ.ย. 2022 Thai Women’s League ลีกสูงสุดของฟุตบอลหญิงไทยพึ่งปิดฤดูกาลไป โดยมีแชมป์คือ บัณฑิตเอเซีย ถือเป็นแชมป์ติดต่อกันสมัยที่ 3 โดยทางทีมมีสปอนเซอร์คาดอกคือ เมืองไทยประกันภัย แต่ยังไม่มีการเปิดเผยถึงรายละเอียดรางวัล และค่าตอบแทนต่าง ๆ
สำหรับลีกฟุตบอลหญิงไทยปัจจุบันแบ่งเป็น 3 ระดับ โดยแต่ละระดับยังไม่มีสปอนเซอร์อย่างเป็นทางการ ต่างกับลีกฟุตบอลชายไทยที่ลีกสูงสุดมี โตโยต้า เป็นสปอนเซอร์หลัก และลีกรองลงมามีเครื่องดื่ม M-150 เป็นสปอนเซอร์หลัก เป็นต้น ส่วนเงินรางวัลรวมลีกสูงสุดฟุตบอลชายไทยฤดูกาล 2021 อยู่ที่ราว 17 ล้านบาท
ด้านระดับชาติ ฟุตบอลหญิงทีมชาติไทยเคยทะลุเข้ารอบสุดท้ายของการแข่งขันฟุตบอลหญิงชิงแชมป์โลก หรือ FIFA Women’s World Cup ปี 2015 ที่แคนาดา จุดกระแสฟุตบอลหญิงไทยได้เล็กน้อย แต่ยังเทียบกับกีฬาหญิงชนิดอื่น ๆ ไม่ได้ โดย ณ วันที่ 2 ก.ค. 2022 ฟุตบอลหญิงไทยอยู่อันดับที่ 43 ของโลก และอันดับที่ 8 ของเอเชีย
สรุป
กีฬาจะเติบโตได้ต้องมี 3 สิ่งคือ เงินทุน, นักกีฬาที่เก่ง และผู้ชม เมื่อมีครบ สปอนเซอร์ก็เข้ามาได้ไม่ยาก ซึ่งฟุตบอลหญิงอาจกำลังอยู่ในช่วงเริ่มต้นของ 3 สิ่งนี้ แต่คงไปเปรียบเทียบกับฟุตบอลชาย รวมถึงกีฬาหญิงประเภททีมอื่น ๆ เช่น วอลเลย์บอล หรือบาสเกตบอล
ส่วนตัวผู้เขียนมองว่า ฟุตบอลหญิง คงต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งกว่าจะกลายเป็นกีฬาหญิงประเภททีมที่ได้รับความนิยม โดยเฉพาะเรื่องความสนุก และฝีเท้าของนักกีฬาที่ยังห่างจากนักฟุตบอลชาย แต่ด้วยแรงจากการสนับสนุนที่เพิ่มมากขึ้น ก็คงย่นระยะเวลาเมื่อเทียบกับช่วงเริ่มต้นของฟุตบอลหญิงจนกว่าจะได้รับความนิยมเหมือนในปัจจุบัน
อ้างอิง // FT, CNN, FIFA, UEFA, Thai Women’s League
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา