UBS ได้วิเคราะห์ตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่มีโอกาสที่จะเกิดฟองสบู่แตกมากที่สุด โดยผลการจัดอันดับ หนีไม่พ้นผู้นำอันดับ 1 อย่างเกาะฮ่องกง เนื่องจากราคาอสังหาฯ มีราคาสูงขึ้นทุกปีแทบไม่ลดลงด้วยซ้ำ ขณะที่เมืองอื่นๆ ทั่วโลกก็มีความเสี่ยงเช่นกัน
ตลาดอสังหาริมทรัพย์ทั่วโลกเฉลี่ยในรอบ 5 ปีที่ผ่านมามีราคาสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เฉลี่ยประมาณปีละ 10% แต่บทวิเคราะห์จาก UBS นั้น ราคาอสังหาตามเมืองใหญ่ๆ เริ่มที่จะมีราคาสูงขึ้นมากจนเรียกได้ว่าทำงานจนเกษียณแล้วอาจผ่อนอสังหาริมทรัพย์ที่ตัวเองเป็นเจ้าของได้ไม่หมดเลยทีเดียว
10 อันดับตลาดอสังหาริมทรัพย์ 10 อันดับที่ร้อนแรงที่สุด
- ฮ่องกง
- มิวนิค
- โทรอนโต้
- แวนคูเวอร์
- อัมสเตอร์ดัม
- ลอนดอน
- สต็อกโฮล์ม
- ปารีส
- ซานฟรานซิสโก
- แฟรงก์เฟิร์ต
UBS คาดว่าถ้าหากราคาอสังหาริมทรัพย์ 10 เมืองใหญ่ๆ ยังขึ้นไปแตะจุดสูงสุดเรื่อยๆ อาจมีความเสี่ยงที่จะเกิดฟองสบู่แตก และแนะนำให้หลีกเลี่ยงการลงทุนในเมืองเหล่านี้
ฮ่องกงยังคงแพงอันดับ 1
สำหรับอันดับ 1 อย่างฮ่องกงราคาพื้นที่ต่อตารางเมตรยังคงเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ โดย 4 ไตรมาสล่าสุดราคาขึ้นมาเกินกว่า 10% แล้ว และถ้าหากย้อนกลับไปดูราคาเฉลี่ยต่อตารางเมตรในช่วงปี 2012 ราคาอยู่ที่ประมาณ 13,354 ฮ่องกงดอลลาร์ต่อตารางเมตร ส่วนราคาเฉลี่ยปัจจุบันอยู่ที่ 23,502 ฮ่องกงดอลลาร์ต่อตารางเมตร
หากคำนวณเล่นๆ ว่า ถ้าหากอยากจะเป็นเจ้าของห้อง 60 ตารางเมตรในเกาะฮ่องกง อาจต้องทำงานประมาณ 22 ปี ซึ่งเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ใช้เวลาทำงานเพียงแค่ 12 ปีก็ได้เป็นเจ้าของแล้ว ขณะที่ค่าเฉลี่ยเมืองต่างๆ ทั่วโลกใช้เวลาประมาณ 10-15 ปีในการได้เป็นเจ้าของ
นอกจากนี้ UBS ประเมิณว่าความผันผวนของราคาอสังหาฯ ในเกาะฮ่องกงจะมีความผันผวนเพิ่มมากขึ้นจากปัจจัยภายนอก ไม่ว่าจะเป็นจากเรื่องสงครามการค้า หรือไม่เว้นแม้แต่ค่าเงินหยวนของจีนก็มีความเกี่ยวข้องด้วย
เมืองอื่นๆ ยังคงมีราคาแพง
ขณะที่เมืองอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นซิดนีย์ ซูริค โตเกียว หรือเมืองใหญ่ๆ ในสหรัฐอย่าง ซานฟรานซิสโก UBS ก็ยังมองว่าอสังหาริมทรัพย์ในเมืองเหล่านี้ยังคงมีความร้อนแรงอยู่
อย่างไรก็ดีก็ยังมีตลาดอสังหาริมทรัพย์ยังคงถือว่ามีราคาที่สมเหตุสมผล ไม่ว่าจะเป็น สิงคโปร์ ที่ทางการควบคุมราคาอสังหาฯ ไม่ให้ร้อนแรงจนเกินไป หรือแม้แต่ในยุโรปในเมืองอย่าง มิลาน ในขณะที่หากต้องการอสังหาราคาดี UBS ได้แนะนำเมืองอย่าง บอสตัน หรือไม่ก็ ชิคาโก้ ซึ่งเฉลี่ยแล้วมีราคาถูกสุดในกลุ่ม
ที่มา – UBS, South China Morning Post, Sky News
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา