UBS และ Goldman Sachs ชี้ ไทยมีโอกาสติดรายชื่อประเทศปั่นค่าเงินของกระทรวงการคลังสหรัฐ

บทวิเคราะห์จาก UBS และ Goldman Sachs ชี้ว่า ไทยมีโอกาสติดรายชื่อประเทศที่ต้องจับตามองว่าแทรกแซงค่าเงิน นอกจากไทยแล้วอาจยังมี สวิตเซอร์แลนด์ และ ไต้หวัน ด้วย

US dollar Thai Baht ดออลาร์ เงินบาท
ภาพจาก Shutterstock

บทวิเคราะห์จากสถาบันการเงินชื่อดังของโลกอย่าง UBS และ Goldman Sachs ได้ชี้ว่า ไทยนั้นเป็นประเทศที่มีโอกาสติดรายชื่อประเทศที่ต้องจับตามองว่ามีการแทรกแซงค่าเงิน ซึ่งรายชื่อประเทศนั้นจัดทำโดยกระทรวงการคลังสหรัฐ และมีการรายงานเป็นระยะๆ

ปัจจัยที่จะทำให้ประเทศนั้นๆ มีโอกาสติดอยู่ในบัญชีเฝ้าระวังเรื่องของการแทรกแซงค่าเงินนั้น ประกอบไปด้วย

  1. ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลมากกว่า 2% ของ GDP หรือไม่
  2. ดุลการค้าของประเทศนั้นเกินดุลสหรัฐมากกว่า 2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ 4 ไตรมาสติดกันหรือไม่
  3. มีการซื้อเงินหรือพันธบัตรของสหรัฐ มูลค่าเกินจำนวน 2% ของ GDP ประเทศในช่วง 6-12 เดือนหรือไม่

ในปี 2018 ที่ผ่านมา ไทยเองติดเงื่อนไข 2 ใน 3 ที่ต้องเฝ้าระวังเรื่องของการแทรกแซงค่าเงิน ซึ่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ยืนยันว่าประเทศไทยไม่ได้มีการแทรกแซงค่าเงินเพื่อที่จะให้ไทยได้เปรียบในการส่งออก

บทวิเคราะห์ของ UBS ยังชี้ว่าไทยอาจหมดสิทธิ์ในการซื้อดอลลาร์สหรัฐในช่วง 6-9 เดือนข้างหน้า เนื่องจากดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยที่บวกสูง รวมไปถึงประเทศไทยยังซื้อดอลลาร์ไปแล้วคิดเป็น 3.5% ของ GDP ในช่วงที่ผ่านมา นอกจากนี้ในบทวิเคราะห์ยังชี้ว่า 75% ของธนาคารกลางทั่วเอเชียมีการแทรกแซงค่าเงิน

นอกจากไทยแล้ว Goldman Sachs และ UBS ยังชี้ว่าไต้หวันมีโอกาสที่จะติดรายชื่อแทรกแซงค่าเงินด้วย หลังจากที่ออกจากรายชื่อไปแล้วในปี 2017 ขณะที่ประเทศที่มีโอกาสติดรายชื่อที่ต้องจับตามองได้แก่ สวิตเซอร์แลนด์

รายงานก่อนหน้านี้สหรัฐเองได้นำจีนออกจากประเทศแทรกแซงค่าเงิน เพื่อที่จะได้มีการเจรจาการค้าและทำข้อตกลงการค้าฉบับแรกที่ทั้ง 2 มหาอำนาจได้ตกลงกันในช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมา

อย่างไรก็ดีทาง Bloomberg ได้สอบถามเรื่องนี้กับผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ทางผู้ว่าฯ ได้ตอบว่าว่าไม่ได้กังวลในเรื่องนี้แต่อย่างใด เพราะว่าได้แจ้งกระทรวงการคลังของสหรัฐไปแล้ว และสหรัฐเข้าใจในเรื่องนี้ดี นอกจากนี้ค่าเงินบาทของไทยยังมีทิศทางตรงข้ามกับดอลลาร์สหรัฐ และอ่อนค่าในช่วงปีที่ผ่านมา

ทั้ง 2 สถาบันการเงินคาดว่าจะไม่มีประเทศไหนที่โดนสหรัฐกล่าวหาว่าเป็นประเทศที่แทรกแซงค่าเงินในรายงานที่จะออกมาในเร็วๆ นี้

อัพเดตล่าสุด 23/07/2020 : ตัวแทนจากธนาคารแห่งประเทศไทยได้ออกมาชี้แจงว่าไทยไม่ได้แทรกแซงค่าเงินบาทเพื่อที่จะได้เปรียบทางการค้าแต่อย่างใด

ที่มา – Bloomberg, บทวิเคราะห์จาก Goldman Sachs

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

mm
Content Writer ที่สนใจในเรื่องของตลาดทุนทั้งในและต่างประเทศ กลุ่ม TMT (Technology, Media, Telecom) การควบรวมกิจการ (M&A) นโยบายทางเศรษฐกิจของไทยและต่างประเทศ รวมถึงสิ่งละอันพันละน้อยทางธุรกิจที่น่าสนใจ