3 ปีแล้วที่ Uber แพลตฟอร์ม Rider Sharing ให้บริการในไทย แถมยังให้บริการแบบที่ไม่มีกฎหมายรองรับซะด้วย แล้วปีนี้จะจริงจังในตลาดไทยแค่ไหน ไปในทิศทางใด ลองมาฟังจากปากผู้จัดการประจำประเทศไทยคนใหม่กัน
คุยรัฐต่อเนื่อง-ขับเคลื่อนไทยด้วยกัน
ศิริภา จึงสวัสดิ์ ผู้จัดการประจำประเทศไทย Uber คนล่าสุด เล่าให้ฟังว่า หลังจากให้บริการในประเทศมาเป็นเวลา 3 ปีก็มีการคุยกับหน่วยงานรัฐอย่างต่อเนื่อง เพื่อหาทางออกในแง่กฎหมายร่วมกัน เพราะปัจจุบันบริการ Ride Sharing ที่บริษัทให้บริการอยู่ยังไม่มีกฎหมายรองรับ รวมถึงหลายคนยังไม่เข้าใจ ทำให้ยังต้องสื่อสารต่อเนื่อง
“Uber เป็นบริษัทเทคโนโลยี เดินธุรกิจภายใต้คอนเซ็ป Sharing Economy ในรูปแบบ Ride Sharing หรือการแพลตฟอร์มร่วมเดินทาง ดังนั้นมันต้องอธิบายว่าเราคืออะไร ต่างกับระบบขนส่งมวลชนอย่างไร และมองว่าถึงยังไม่มีกฎหมายรองรับ ก็ยังไม่กระทบ เพราะเราพร้อมตั้งใจบริการคนไทย และยกระดับประเทศไปด้วยกันกับหน่วยงานรัฐ”
ก่อนหน้านี้ทาง Uber ได้เข้าไปหารือกับหน่วยงานรัฐทุก 2 สัปดาห์ เพื่อหาทางออกร่วมกัน เช่นการนำกรณีศึกษาในต่างประเทศไปยกตัวอย่างเพื่อปรับใช้ในไทย คล้ายกับกรณีของประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซียที่มีกฎหมายรองรับ ส่วนในไทยอยากเห็นแค่จะออกแบบอย่างไรให้เข้ากันได้มากกว่า ไม่ต้องถึงขนาดออกใบอนุญาต
ปัญหามากมาย แต่อัตราการใช้ไม่ลด
ในทางกลับกันไม่ว่าจะเป็นปัญหาการถูกล่อซื้อ, การกระทบต่อผู้ขับขี่แท็กซี่ถูกกฎหมาย รวมถึงรถแดงในจังหวัดเชียงใหม่ ก็ไม่ได้ทำให้อัตราการใช้งานในประเทศไทยลดลงแต่อย่างใด ทั้งฝั่งผู้บริโภคที่สมัครเข้ามาใช้งาน รวมถึงเจ้าของรถยนต์ที่ลงเบียนเป็นพาร์ทเนอร์ให้บริการกับ Uber เอง
“เมื่อเป็นนวัตกรรมใหม่ มันก็ต้องเจอปัญหาเรื่องการเปลี่ยนแปลงอยู่แล้ว แต่ Uber ก็ตั้งใจทำตลาดเต็มที่ เช่นยังลงทุนในไทยต่อเนื่อง ช่วยสร้างงานให้กับประเทศ รวมถึงเตรียมนำบริการใหม่ๆ เข้ามาในเวลาที่เหมาะสม และยืนยันว่ายังไม่แผนในการนำ Uber Moto บริการร่วมเดินทางด้วยรถจักรยานยนต์กลับมาให้บริการ”
สำหรับบริการของ Uber ในประเทศไทยปัจจุบันประกอบด้วย
- Uber X บริการร่วมเดินทางด้วยรถขนาดเล็ก-กลาง เริ่มต้น 10 บาท เพิ่มขึ้น 3.5 บาท/นาที และ 4 บาท/กม.
- Uber Black บริการร่วมเดินทางด้วยรถขนาดใหญ่ เริ่มต้น 50 บาท เพิ่มขึ้น 2.5/นาที และ 14 บาท/กม.
- Uber Eats บริการรับส่งอาหาร คิดค่าบริการ 30 บาท มีร้านอาหารหลายร้อยร้าน
โดยทั้งหมดนี้ยังเปิดรับพาร์ทเนอร์ขับขี่ในระบบอย่างต่อเนื่อง เช่นการเปิดให้ลงทะเบียนตามห้างสรรพสินค้าต่างๆ และแค่มีอายุ 21 ปี มีบัตรประชาชน, ใบขับขี่ (ส่วนบุคคล หรือสาธารณะ) ของประเทศไทย, เล่มทะเบียน และพรบ. ก็สามารถสมัครได้
เพิ่มทีมงาน-ยกระดับบริการปลอดภัย
ขณะเดียวกัน Uber ประเทศไทยเตรียมเพิ่มพนักงานประจำให้ถึง 20 คนภายในปีนี้ (จำนวนอาจเปลี่ยนแปลงได้) เพื่อรองรับงานต่างๆ ที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอัตราการใช้งานที่เติบโตอย่างรวดเร็ว และการขยายไปในต่างจังหวัดที่ปัจจุบันมีทั้งกรุงเทพ, พัทยา, ชลบุรี, เชียงใหม่ และเชียงราย
ล่าสุดได้ทำการยกระดับความปลอดภัยในการใช้บริการ เช่นตรวจสอบตัวตนพาร์ทเนอร์ผู้ขับ Uber แบบออนไลน์ โดยให้ผู้ขับถ่ายรูปตนเองเพื่ออัพเดทอยู่ตลอด เพื่อการันตีว่าเป็นผู้ขับจริง ส่วนค่าบริการที่เกิดขึ้น พาร์ทเนอร์ผู้ขับจะได้ 75% ของค่าบริการ ส่วนเหลือ Uber จะนำมาพัฒนาบริการให้ดีขึ้นกว่าเดิม
“Uber แทบไม่มองเรื่องการแข่งขัน เพราะอยากทำ Ride Sharing ให้ดี และยกระดับประเทศไทย กับ 73 ประเทศทั่วโลกมากกว่า โดยในไทย Uber X ได้รับความนิยมสูงสุด และการเรียกให้ไปรับตามแนวรถไฟฟ้าก็เป็นอีกจุดที่ได้รับความนิยม ผ่านระยะเวลาเรียกมารับโดยเฉลี่ยที่ 7 นาที และย้ำว่าเรามีการยื่นภาษีในประเทศไทยอย่างถูกต้อง”
สรุป
แม้กฎหมายไทยยังตามไม่ทัน แต่การพยายามทำให้เข้ากันได้กับพวกนวัตกรรมใหม่เหล่านี้เป็นเรื่องจำเป็น เพราะนอกจากช่วยการันตีการใช้งานของผู้บริโภคได้แล้ว ยังสร้างโอกาสให้เงินหมุนในประเทศได้ด้วย เพราะอย่างที่รู้กัน บริษัทต่างชาติไม่ได้ทำรายได้เข้าประเทศอยู่แล้ว และถึงจะยื่นภาษีปกติ แต่หากอยู่ในสภาวะขาดทุนก็ไม่จำเป็น
ปัจจุบันมูลค่าธุรกิจของ Uber อยู่ที่ 68,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 2.4 ล้านล้านบาทไทย และปัจจัยที่ทำให้ผู้บริโภคยังไม่มาใช้งาน Uber คือความไม่เข้าใจบริการ Ride Sharing และทาง ศิริภา จึงสวัสดิ์ เพิ่งรับตำแหน่งนี้เพียง 1 เดือน
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา