สงสัย Uber จะอยากประนีประนอมกับกรมการขนส่งทางบก เลยส่งบริการเรียกรถแท็กซี่ในชื่อ uberTAXI เพื่อมีบริการที่ถูกต้องตามกฎหมายบ้าง แต่สุดท้ายก็ไม่พ้นความเทาๆ อยู่ดี เพราะค่าบริการกลับไม่ได้คิดตามมิเตอร์ซะงั้น
เกมใหม่ในตลาดบริการร่วมเดินทาง
บริการร่วมเดินทาง หรือ Ridesharing ในประเทศไทยนั้นหลักๆ ก็มีผู้เล่น 2 รายคือ Uber และ Grab ซึ่งรายหลังนั้นเริ่มต้นจากบริการเรียกรถแท็กซี่ ก่อนขยับมาที่รถยนต์ส่วนบุคคล ส่วนเบอร์หนึ่งของโลกอย่าง Uber นั้นเริ่มจากรถยนต์ส่วนบุคคล ทำให้การทำตลาดอาจไม่ราบรื่นในแง่กฎหมายนัก และล่าสุดต้องลงมาให้บริการแท็กซี่ด้วย
สำหรับบริการนี้ใช้ชื่อว่า uberTAXI เริ่มบริการในวันที่ 19 ธ.ค. โดยไทยเป็นประเทศที่ 7 หลัง Uber ให้บริการนี้ในพื้นที่เอเชียแปซิฟิกที่ประกอบด้วยมาเลเซีย, อินโดนีเซีย, เมียนมา, ไต้หวัน, กัมพูชา และสิงคโปร์ มีจุดประสงค์เพื่อยกระดับการเดินทางบนท้องถนนให้สะดวกสบาย และมีตัวเลือกในระบบได้มากขึ้น และเริ่มที่เฉพาะกรุงเทพก่อน
ส่วนเรื่องค่าบริการนั้นจะไม่เหมือนกับบริการเรียกรถแท็กซี่ของ Grab เพราะรายนั้นจะคิดตามมิเตอร์ แล้วเพิ่มค่าบริการเรียกเข้าไป คล้ายกับการเรียกแท็กซี่ด้วยการโทรศัพท์เข้าสหกรณ์ที่ต้องเสียเพิ่ม 20 บาท แต่ฝั่ง uberTAXI นั้นไม่ได้คิดค่าบริการตามมิเตอร์แต่อย่างใด โดยจะคำนวนระยะทางรวมกับเวลา และค่าบริการเสริมจากการเรียกใช้
ผิดกฎหมายหรือไม่ถ้าไม่คิดตามมิเตอร์
หากอ้างอิงตามพ.ร.บ.รถยนต์ พ.ศ.2522 ที่ระบุว่า การจ้างผ่านวิทยุสื่อสาร (รวม Application ในภายหลัง) ต้องจ่ายเพิ่ม 20 บาท ทั้ง Grab และ Uber ก็อาจงผิดกฎหมาย เพราะน่าจะคิดเกินที่กำหนด นอกจากนี้การไม่คิดราคาตามมิเตอร์ของ uberTAXI ก็ผิดตั้งแต่ยังไม่เปิดบริการ เพราะกฎหมายระบุว่าต้องคิดราคาตามมิเตอร์เท่านั้น
แต่ถึงจะผิด ศิริภา จึงสวัสดิ์ ผู้จัดการประจำประเทศไทย Uber ก็ยังยืนยันว่า ที่ไม่คำนวนราคาตามมิเตอร์ เพราะการคำนวนภายในระบบของ Uber ที่นำระยะทางกับระยะเวลา รวมกับค่าบริการเรียกใช้ (ปรับเปลี่ยนตามความต้องการใช้งานในแต่ละเวลา) ทำให้ผู้โดยสารสามารถเห็นราคาประมาณได้ก่อนเรียกรถ และสบายใจเมื่อถึงที่หมายใช้งาน
“ตัว uberTAXI จะคล้ายคลึงกับบริการอื่นของเรา เพราะผู้ใช้เลือกชำระด้วยบัตรเครดิต หรือเงินสดก็ได้ ต่างกันแค่เวลาคำนวนราคาจะมีค่าบริการเรียกใช้เข้ามาด้วย ส่วนฝั่งผู้ขับเอง ตอนนี้เราร่วมกับ HOWA ที่มีแท็กซี่ในระบบกว่า 4,000 คันเพื่อสร้างเครือข่ายเบื้องต้น แต่ก็เปิดให้ผู้ขับแท็กซี่ทั่วไปเข้ามาสมัครเป็น Partner ของเราด้วย”
กดมิเตอร์ให้ไม่ว่างสร้างความสบายใจ
ในทางกลับกัน หัสดินทร์ เอี่ยมชีรางกูร รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท โฮวา อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เสริมว่า แม้จะไม่ได้คิดราคาตามมิเตอร์ แต่ผู้ขับแท็กซี่ที่ให้บริการ uberTAXI ควรกดให้มิเตอร์เดินตามปกติเมื่อรับผู้โดยสารจาก Application ขึ้นรถแล้ว เพราะช่วยสร้างความชัดเจน โดยเฉพาะเรื่องป้ายที่ไม่ควรจะขึ้น “ว่าง” เวลามีผู้โดยสาร
ส่วนการจ่ายค่าตอบแทนของ uberTAXI จะเป็นไปตามมาตรฐานปกติของ Uber คือหากผู้โดยสารชำระด้วยบัตรเครดิต ทางบริษัทจะตัดยอดทุกสัปดาห์เพื่อโอนกลับไปให้ แต่ถ้ารับชำระด้วยเงินสด ผู้ขับสามารถเก็บไว้ได้ทันที แต่เพื่อยกระดับบริการให้ดีขึ้น Uber จำเป็นต้องหักค่าธรรมเนียม 25% จากค่าโดยสารเข้าบริษัท
“ก่อน Uber จะเปิด uberTAXI ที่กรุงเทพ ได้เข้าไปหารือกับทางกรมการขนส่งทางบกมาแล้ว และทางนั้นก็ค่อนข้างเห็นดีกับการเกิดขึ้นของบริการนี้เช่นกัน ทำให้ Uber เชื่อว่าการเพิ่มบริการใหม่เข้ามา จะช่วยยกระดับการเดินทางในกรุงเทพให้ดีขึ้น ส่วนจะนำไปให้บริการในต่างจังหวัดเหมือน uberX หรือไม่ คงต้องรอดู” ศิริภา กล่าวทิ้งท้าย
สรุป
ต้องรอวันที่ 19 ธ.ค. ถึงจะรู้ว่าบริการ uberTAXI มีรูปแบบการคิดค่าบริการอย่างไร จะเหมือน uberX ที่เริ่มต้น 10 บาท และคิดเพิ่ม 3.50 บาท/นาที พร้อมกับ 4 บาท/กม. หรือไม่ แต่ที่รู้คือ แค่ไม่คิดค่าบริการตามมิเตอร์ ก็เสี่ยงต่อผู้ขับแท็กซี่จะโดนจ่าตั้งด่านจับ เหมือนกับระแวกวัดพระแก้วที่มีด่านจับ Uber และ Grab โดยเฉพาะมาแล้ว
อ้างอิง // กรมการขนส่งทางบก, Uber
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา