Uber ร้องรัฐออกระเบียบรับรอง “บริการร่วมเดินทาง” หลังกระแส “กีดกัน Uber” มาแรง

กระแสที่มาแรงมากในเวลานี้ คือ การต่อต้าน Uber ทั้งที่กรุงเทพจากบรรดากลุ่มแท็กซี่ และที่เชียงใหม่จากกลุ่มคนขับรถแดง ซึ่งเป็นผู้ให้บริการขนส่ง โดยระบุว่า Uber เป็นบริการที่ไม่มีกฎหมายรองรับ จนล่าสุดทาง กรมการขนส่งทางบก มีการแถลงว่าอาจร้องขอให้ใช้ มาตรา 44 เพื่อปิด Uber ในประเทศไทย

ล่าสุดทางผู้บริหาร Uber ในไทยได้ออกข้อความชี้แจงอย่างเป็นทางการโดยระบุว่า

“ตั้งแต่ Uber เปิดให้บริการในประเทศไทยตั้งแต่พ.ศ. 2557 Uber ได้เข้าหารือและชี้แจ้งกับกรมการขนส่งทางบกอย่างต่อเนื่องตลอดมาว่า Uber ไม่ใช่บริการรถแท็กซี่ แต่เป็นรูปแบบบริการใหม่ที่เรียกว่าบริการร่วมเดินทาง (Ridesharing) ซึ่ง กฎหมายในปัจจุบันยังไม่ได้รองรับการให้บริการรูปแบบนี้ ที่พึ่งพาเทคโนโลยีผ่านแอพพลิเคชั่นสมาร์ทโฟน และมีความแตกต่างจากการให้บริการขนส่งสาธารณะ จึงทำให้เราไม่สามารถขึ้นทะเบียนเป็นรถสาธารณะได้ ซึ่งเราหวังเป็นอย่างยิ่งว่ากรมการขนส่งทางบกจะรองรับการให้บริการในรูปแบบใหม่ที่นำเอาเทคโนโลยีมาใช้ในการเดินทางที่เป็นรูปแบบบริการร่วมเดินทาง”

เพื่อสร้างกฎระเบียบใหม่ ที่จะกลายเป็นอีกทางเลือกใหม่ด้านการเดินทางที่เชื่อถือได้และอำนวยความสะดวกให้แก่คนไทย Uber ขอเชิญชวนสาธารณชนร่วมสนับสนุน การร่วมเดินทาง ผ่านการเรียกร้องเเละลงชื่อสนับสนุน เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเดินหน้าไปสู่การเป็นประเทศที่เปิดรับนวัตกรรม

พร้อมเรียกร้องให้คนที่เห็นด้วย ลงชื่อเพื่อสนับสนุนให้รัฐบาลรองรับบริการร่วมเดินทาง ที่นี่ https://action.uber.org/th/

Didi แอพเรียกรถรายใหญ่ของจีน ที่เพิ่งซื้อกิจการ Uber จีนมาครอง

เรียกร้อง กรมขนส่งฯ ตรวจสอบจับ ทุกบริการที่ไม่ได้มาตรฐาน

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่า Uber ยังไม่มีกฎหมายมารองรับ แม้ในมุมของผู้บริโภคจะต้องการให้สนับสนุนบริการนี้เพื่อเป็นทางเลือกในการเดินทาง แต่ในฐานะภาครัฐและหน่วยงานกำกับดูแล การอนุญาตให้ผู้ที่ไม่มีกฎหมายรองรับมาให้บริการรถสาธารณะ อาจมีปัญหาเรื่องความปลอดภัย มาตรฐานการให้บริการ และการกำกับดูแลค่าโดยสาร ถือเป็นเรื่องที่ต้องคิดให้รอบคอบเช่นกัน

ดังนั้น จึงเป็นประเด็นที่ต้องมีการหารือกันหลายฝ่ายเพื่อหาทางออก เช่น การกำหนดให้ผู้ที่จะมาให้บริการ (คนขับ Uber, Grab หรือบริการลักษณะเดียวกัน) ต้องผ่านการอบรมและได้รับใบอนุญาต เพื่อให้มีมาตรฐานความปลอดภัย และขึ้นทะเบียนเพื่อให้สามารถตรวจสอบได้ เป็นต้น

นอกจาก กรมการขนส่งทางบก จะกวดขันจับกุมบริการ Uber และบริการอื่นๆ ในลักษณะเดียวกันแล้ว เนื่องจากเป็นบริการที่ไม่มีกฎหมายรองรับ กรมการขนส่งฯ ก็ต้องกวดขันออกตรวจสอบและจับกุม แท็กซี่ และ รถแดง (เชียงใหม่) รวมถึงบริการขนส่งที่มีกฎหมายรองรับอื่นๆ หากทำผิดกฎหมาย เช่น ปฏิเสธการรับผู้โดยสาร, ทิ้งผู้โดยสารระหว่างทาง หรือโกงค่าบริการ เป็นต้น เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับบริการที่มีมาตรฐานอย่างแท้จริง

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา