Krungthai Compass ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยมุมมองว่า ยางรถยนต์ไฟฟ้าเป็นโอกาสของของผู้ประกอบการไทย เพราะเป็นธุรกิจที่จะเติบโตตามเทรนด์รถยนต์ไฟฟ้าโลก และตอบโจทย์เทรนด์ด้านสิ่งแวดล้อม ขณะเดียวกันการผลิตยางรถยนต์ไฟฟ้า คาดการณ์ว่าสามารถมีอัตรากำไรขั้นต้นสูงกว่ายางรถยนต์ทั่วไปถึง 18% มีสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้สูงกว่ายางรถยนต์ทั่วไป ที่สำคัญเป็นอุตสาหกรรมที่ได้รับการส่งเสริมจากภาครัฐ
โอกาสของ ‘ยางรถยนต์ไฟฟ้า’ ในไทย
Krungthai COMPASS ประเมินว่าในปี 2573 มูลค่ายางรถยนต์ไฟฟ้าของไทยอย่างน้อยจะอยู่ที่ 4,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ฯ หรือ 140,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 43%CAGR จากในปี 2565 (ที่อยู่ราว 240 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) แบ่งเป็น
1. มูลค่าส่งออกยางรถยนต์ไฟฟ้าไป 3 ตลาดหลักอย่าง สหรัฐฯ จีน และออสเตรเลีย ที่คาดจะมีมูลค่ารวมกันประมาณ 2,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 76,800 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้น 45%CAGR จากในปี 2565 (ที่อยู่ราว 120 ล้านดอลลาร์สหรัฐหรือประมาณ 4,000 ล้านบาท)
2. มูลค่าตลาดยางรถยนต์ไฟฟ้าที่ใช้ในประเทศคาดจะอยู่ที่ราว 63,500 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 41%CAGR จากในปี 2565 ที่มีมูลค่าเท่ากับ 4,100 ล้านบาท
ตลาดยางรถยนต์ไฟฟ้าในไทยจะโตจากอะไร?
โดยคาดการณ์นี้มาจากสมมติฐานใน 2 ส่วน ได้แก่
- มูลค่าส่งออกรถยนต์ไฟฟ้าของไทย โดยเฉพาะใน 3 คู่ค้าหลักของโลกทั้งสหรัฐ จีนและ ออสเตรเลีย ซึ่งปัจจุบันมีสัดส่วนกว่า 50% ของมูลค่าการส่งออกยางรถยนต์รวมของไทย ยังมีแนวโน้มเติบโตขึ้นจากความต้องการใช้รถยนต์ไฟฟ้าทั้งกลุ่ม OEM (ยางของรถผลิตใหม่) และกลุ่ม REM (การเปลี่ยนยางที่หมดอายุการใช้งาน) โดยคาดว่า ในปี 2573 ประเทศคู่ค้าจะมีความต้องการใช้ยางรถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น ได้แก่
- สหรัฐ จะมีปริมาณการจำหน่าย 16.2 ล้านคัน จากปี 2565 ที่อยู่ 9.9 แสนคัน (เพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 41.8%CAGR)
- จีน จะมีปริมาณการจำหน่าย 21.4 ล้านคัน จากปี 2565 อยู่ที่ 5.9 ล้านคัน (เพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 17.4%CAGR)
- ออสเตรเลีย จะมีปริมาณการจำหน่าย 97,000 คัน จากปี 2565 อยู่ที่ 38,000 คัน (เพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 12.1% CAGR)
(ข้อมูลอ้างอิงจาก IEA และ Statista)
ทั้งนี้คาดว่าความต้องการนำเข้ายางรถยนต์ไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงไทยจะมีส่วนแบ่งตลาดรถยนต์ไฟฟ้าของไทยในสหรัฐฯ (18.4%) จีน (17.8%) และออสเตรเลีย (11.0%) โดยประเมินจากสัดส่วนในปัจจุบัน
- มูลค่ายางรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศ
(1) ความต้องการใช้ยางรถยนต์ไฟฟ้าในกลุ่ม OEM ของไทย พิจารณาจากปริมาณจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าในปี 2573 ของไทย โดยคาดว่าในปี 2573 ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าจะอยู่ที่ 8.6 แสนคัน จากในปี 2565 ซึ่งอยู่ที่ 63,000 คัน หรือเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 41%CAGR
(2) ความต้องการใช้ยางรถยนต์ไฟฟ้าในกลุ่ม REM โดยพิจารณาจากปริมาณการใช้รถยนต์ไฟฟ้าในแต่ละปี ตั้งแต่ปี 2559-2573 และกำหนดให้อายุการใช้งานยางรถยนต์ไฟฟ้าจะอยู่ที่ 6 ปี ซึ่งอ้างอิงข้อมูลจาก Yellow Tire และอายุการใช้งานของรถยนต์ไฟฟ้าจะอยู่ที่ราว 8-10 ปี (อ้างอิงข้อมูลจาก www.iseecars.com)
ยางรถยนต์ไฟฟ้าต่อยอดผู้ประกอบการและ Supply chain ได้แค่ไหน?
ทาง Krungthai COMPASS มองว่า การเติบโตของเทรนด์รถยนต์ไฟฟ้าโลกจะสร้างโอกาสต่อผู้ประกอบการธุรกิจยางรถยนต์ของไทย และธุรกิจในห่วงโซ่อุปทาน ดังนี้
- ธุรกิจผลิตยางรถยนต์ไฟฟ้า มีโอกาสในการขยายตลาดยางรถยนต์ใน Segmentใหม่ๆ ที่มีมูลค่าเพิ่มสูงกว่ายางรถยนต์ทั่วไป โดยตลาดยางรถยนต์ไฟฟ้า ยังมี Sub-segment ที่หลากหลาย เช่น ตลาดยางรถยนต์นั่งส่วนบุคคล ตลาดยางรถบรรทุก ตลาดยางรถโดยสาร รวมทั้งตลาดยางรถจักรยานยนต์
- ธุรกิจยางแท่ง จะได้รับประโยชน์ตามไปด้วย เนื่องจากรถยนต์ไฟฟ้าต้องใช้ยางรถยนต์ที่มีขนาดใหญ่กว่าปกติ เพื่อให้ทนต่อน้ำหนักและแรงบิดที่มากกว่ารถยนต์ทั่วไป ส่งผลให้ต้องใช้ปริมาณยางแท่งมากกว่าเดิม จึงเป็นโอกาสในการ Supply ยางแท่งให้กับผู้ผลิตยางรถยนต์ในประเทศสำหรับผลิตเพื่อการส่งออก โดยปัจจุบันมีบริษัทที่เตรียมพร้อมในการผลิตยางแท่งเพื่อรองรับสำหรับอุตสาหกรรมยางรถไฟฟ้าแล้ว เช่น บริษัท ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) ได้เพิ่มงบลงทุนขยายกำลังการผลิตยางแท่งเป็นกว่า 6,600 ล้านบาท เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตอีก 1.1 ล้านตันต่อปี เป็นต้น นอกจากนี้ยังเป็นโอกาสในการส่งออกยางแท่งไปยังตลาดที่เป็นฐานการผลิตของอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าสำคัญของโลกอย่าง จีน สหรัฐฯ อินเดีย หรือในกรณีที่ผู้ประกอบการไทยที่มีความพร้อมอาจเข้าไปลงทุนเพื่อผลิตยางต้นน้ำในกลุ่มประเทศดังกล่าว โดยในปัจจุบันมีผู้ประกอบการไทยเข้าไปตั้งโรงงานแปรรูปยางพาราในอินเดียแล้ว
ผู้ประกอบการฯ -ภาครัฐ ควรปรับตัวรับเทรนด์นี้อย่างไร
ผู้ประกอบการยางรถยนต์ไฟฟ้าควรให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ โดยร่วมมือกับหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญ เช่น ศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ ศูนย์วิจัยเทคโนโลยียาง (RTEC) คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ทั้งนี้ ในระยะแรกเราประเมินว่า ผู้ประกอบการที่ได้รับประโยชน์จากการขยายตลาดยางรถยนต์ไฟฟ้าส่วนใหญ่ยังเป็นผู้ประกอบการยางรถยนต์รายใหญ่จากต่างประเทศที่เข้ามาตั้งฐานการผลิตในไทย เนื่องจากมีความได้เปรียบด้านเทคโนโลยี แต่ในระยะข้างหน้าผู้ประกอบการไทยจะมีโอกาสเข้ามาทำตลาดนี้ได้มากขึ้น หากให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์มากขึ้น เช่น บริษัท IRC ผู้ประกอบการยางรถยนต์สัญชาติไทยที่เริ่มพัฒนาผลิตภัณฑ์ ทั้งชิ้นส่วนยางประกอบในยานยนต์และยางรถจักรยานยนต์รองรับการเติบโตของเทรนด์รถยนต์ไฟฟ้าแล้ว
ผู้ประกอบการยางแปรรูปขั้นต้นอย่างยางแท่งควรให้ความสำคัญกับมาตรฐานการผลิต ที่เป็นไปตามข้อกำหนดของผู้ผลิตยางรถยนต์ชั้นนำของโลก ซึ่งครอบคลุมไปถึงมาตรฐานความยั่งยืนด้วย อาทิ มาตรฐาน Fair Rubber, FSC, GOLS, Eco Factory, Green Industry, eco-INSTITUT, QUL
สุดท้ายนี้ภาครัฐควรมีบทบาทสำคัญในการเร่งสนับสนุน EV Ecosystem ในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนรถยนต์ โดยเฉพาะนโยบายให้เงินทุนสนับสนุน ดังเช่นที่รัฐบาลแคนาดาให้เงินสนับสนุนราว 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (อยู่ในรูปของเงินลงทุนและสิทธิพิเศษทางภาษี) แก่บริษัทมิชลินในการเข้ามาลงทุนขยายโรงงานผลิตยางรถยนต์ไฟฟ้า รวมถึงยางรถยนต์ที่ช่วยประหยัดพลังงาน
ข้อมูลเพิ่มเติม
ยางรถยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle Tires : EV Tires) ต่างจากยางรถยนต์ปกติอย่างไร
- ช่วยลดเสียงรบกวนจากท้องถนน
- รับน้ำหนักได้มากกว่ายางรถยนต์ปกติ เพราะต้องรองรับน้ำหนักแบตเตอรี่ที่เพิ่มขึ้น
- สามารถยึดเกาะถนนได้ดีกว่า
- ทนทานต่อแรงบิดสูง ทำให้กระบวนการผลิตฯ ต่างจากยางรถยนต์ทั่วไป เช่น การออกแบบดอกยางให้มีขนาดเล็กกว่ายางรถยนต์ปกติ, การจัดวางระยะพิทช์ของยางต่างจากเดิม, เพิ่มโฟมหรือแผ่นรองรับเสียงให้หนาขึ้น, บางแบรนด์จะมีการเพิ่มเทคโนโลยีพิเศษ เช่น บริดจสโตนพัฒนา ENLITEN เพื่อเพิ่มสมรรถนะในการขับขี่บนพื้นถนนที่เปียกและลดการสึกของยางรถยนต์ เป็นต้น
ทั้งนี้ยางรถยนต์ไฟฟ้าจะมีอายุการใช้งานนานกว่ายางรถยนต์ปกติ โดยยางรถยนต์ปกติจะมีอายุการใช้งานประมาณ 3-5 ปี ขณะที่ยางรถยนต์ไฟฟ้าจะมีอายุการใช้งานประมาณ 6 ปี แต่ราคา ยางรถยนต์ไฟฟ้าจะแพงกว่า 2-3 เท่า โดยอยู่ที่ราคาราว 50,000-70,000 บาท ต่อ 4 เส้น ขึ้นอยู่กับแบรนด์
ที่มา – ธนาคารกรุงไทย
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา