การเติบโตของอีคอมเมิร์ซยังมีอย่างต่อเนื่อง หลังจากปี 2558 มูลค่าอยู่ที่ 2.2 ล้านล้านบาท เพราะการขับเคลื่อนจากนโยบายภาครัฐ เช่นพร้อมเพย์ และเศรษฐกิจดิจิทัล รวมถึงการใช้งานอินเทอร์เน็ต กับสมาร์ทดีไวซ์ของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้น แต่จะมูลค่านั้นจะเพิ่มขึ้นขนาดไหน ต้องไปดูกัน
ฟันธงปีนี้ 2.5 ล้านล้านบาทแน่นอน
สุรางคณา วายุภาพ ผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือสพธอ. ยืนยันว่า ปี 2559 มูลค่าอีคอมเมิร์ซมีโอกาสเติบโตไปแตะ 2.5 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นราว 40% ของมูลค่าขายสินค้า และบริการภายในประเทศ โดยมาจากการซื้อขายระหว่างภาคธุรกิจ 1.3 ล้านล้านบาท, ระหว่างภาคธุรกิจกับผู้บริโภค 7 แสนล้านบาท และระหว่างธุรกิจกับภาครัฐ 4 แสนล้านบาท แต่ถ้าแบ่งตามอุตสาหกรรม ค้าปลีก และค้าส่งมีมูลค่าสูงสุดที่ 7 แสนล้านบาท, บริการที่พัก 6 แสนล้านบาท และการผลิต 3 แสนล้านบาท
“การเติบโตของอีคอมเมิร์ซมาจาก 3 ปัจจัยคือ 1.เทคโนโลยีมีวิวัฒนาการไปมาก เกิดรูปแบบการสื่อสาร และนวัตกรรมใหม่ 2.นโยบายภาครัฐที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล ที่ช่วยสร้างพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ยุคใหม่ขึ้นมา และ 3.การทำธุรกรรมทางการเงินที่เปลี่ยนไปรวดเร็ว เช่นพร้อมเพย์ และอีวอลเล็ตต่างๆ รวมถึงโมบายแบงค์กิ้งที่มีรูปแบบบริการง่าย และปลอดภัย จนความเชื่อใจทั้งฝั่งผู้ซื้อ และผู้ขายมีมากขึ้น ดังนั้นคงไม่แปลกที่ปี 2560 จะเติบโตไปมากกว่านี้อีก จากปี 2557 อยู่ที่ 2 ล้านล้านบาท และปี 2558 อยู่ที่ 2.2 ล้านล้านบาท”
ไทยขึ้นแท่นเบอร์ 1 อีคอมเมิร์ซอาเซียน
เมื่อประเทศไทยมีมูลค่าอีคอมเมิร์ซถึง 2.5 ล้านล้านบาท ทำให้ไทยมีมูลค่าอีคอมเมิร์ซมากกว่า 6 ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประกอบด้วย มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์, เวียดนาม, สิงค์โปร์ และอินโดนีเซีย เพราะประเทศไทยมีผู้ประกอบการที่ทำอีคอมเมิร์ซระหว่างธุรกิจ กับรัฐบาล รวมกันกว่า 5.2 แสนราย และภาพรวมโซเชียลคอมเมิร์ซที่มีมูลค่า 2 แสนล้านบาท แต่เมื่อเทียบการจับจ่ายรายหัว ไทย ยังต่ำกว่าสิงคโปร์ และมาเลเซียอยู่ โดยอยู่ที่ 230 บาท/คน แต่สิงคโปร์อยู่ที่ 648 บาท/คน
อย่างไรก็ตามถึงอีคอมเมิร์ซยังเติบโต แต่ผู้ประกอบการก็ยังมีความต้องการเรื่องมาตรการทางภาษีอยู่ เช่นต้องการให้มีมาตรการลดต้นทุน และภาษี รวมถึงมีอินเทนซีฟในการสนับสนุนให้จำหน่ายสินค้าผ่านอีคอมเมิร์ซ ส่วนเรื่องขนส่ง ต้องการให้ภาครัฐเข้ามาช่วยการันตีเรื่องความปลอดภัยของสินค้า เพื่อยกระดับความเชื่อมั่นของผู้บริโภค และผู้ค้า นอกจากนี้ยังต้องการให้เกิดศูนย์กลางการจำหน่ายสินค้าอีคอมเมิร์ซ เพื่อรวมตัวผู้น่าเชื่อถือ และมีสินค้าที่ถูกต้องตามกฎหมายรวมอยู่ในนั้น
สรุป
อีคอมเมิร์ซยังสามารถเติบโตได้อีกไกล แต่ถ้าร้านค้าดั้งเดิมต้องการเข้าไปทำตลาดออนไลน์ ก่อนอื่นต้อง Disrupt หรือทำลายล้างความคิดเดิมๆ ก่อน เพื่อเข้าไปแข่งขันในตลาดออนไลน์ได้ และหลังจากนี้กลุ่มซื้อมาขายไปก็คงยากขึ้น เพราะจะเหลือแต่ยักษ์ใหญ่จากต่างประเทศ และผู้ผลิตสินค้าเท่านั้น แต่จะเกิดขึ้นจริงหรือไม่ ก็ต้องรอดูกัน
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา