เปิดกลยุทธ์ Twitch ประเทศไทย กับภารกิจสุดท้าทาย และยุคที่ทุกแพลตฟอร์มหันมาทำตลาด Gaming

ด้วยกระแส E-Sport สุดบูมในระดับโลก และในไทย ทำให้แพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ หันมาเจาะตลาด Gaming มากขึ้น และนั่นคือโจทย์สุดหินของ Twitch แพลตฟอร์มถ่ายทอดสดการเล่นเกมอันดับ 1 ที่ต้องดิ้นรนในสมรภูมินี้

Twitch
Twitch

เพิ่มเนื้อหาอื่นๆ ที่ไม่ได้เกี่ยวกับเกม

ปัจจุบันมีแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น Facebook, YouTube หรืออื่นๆ เริ่มจริงจังกับการเปิดให้ผู้ใช้ Live Streaming เนื้อหาเกี่ยวกับเกม หรือถ้าอธิบายง่ายๆ ก็คือถ่ายทอดสดตัวเองเล่นเกมให้ผู้ใช้คนอื่นดู เพราะมันเริ่มเป็นวัฒนธรรมใหม่ของคนรุ่น Millennial ที่ชื่นชอบความบันเทิงรูปแบบนี้

แต่ต้นแบบของบริการลักษณะนี้ก็คือ Twitch บริษัทที่ก่อตั้งเมื่อปี 2554 และถูกกลุ่ม Amazon ซื้อกิจการไปเมื่อปี 2557 เพราะได้สร้างสังคมของคนที่ชื่นชอบการเล่นเกม, รับชมผู้อื่นเล่นเกม รวมถึงถ่ายทอดสดการแข่งขัน E-Sport รายการต่างๆ จนปัจจุบันมี Streamer หรือผู้ถ่ายทอดสดในระบบกว่า 3 ล้านคนในปี 2561

Twitch
นานดู มัธวา ผู้จัดการระดับภูมิภาคอาเซียน, ออสเตรเลีย, นิวซีแลนด์ และไต้หวัน ของ Twitch

“ผมไม่สามารถพูดเกี่ยวกับคู่แข่งได้ แต่ด้วย Twitch เป็นผู้นำในเรื่องนี้ ผ่านการสร้าง Community คนเล่นเกมให้แข็งแกร่ง และพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ ตลอดเวลา รวมถึงการเพิ่มเนื้อหาอื่นๆ ที่ไม่ใช่แค่เกม ทำให้เรายังเป็นผู้นำในธุรกิจนี้ได้” นานดู มัธวา ผู้จัดการระดับภูมิภาคอาเซียน, ออสเตรเลีย, นิวซีแลนด์ และไต้หวัน ของ Twitch กล่าว

ในไทยก็ยังโตต่อเนื่องด้วย Community แข็งแรง

ขณะเดียวกันในไทย Twitch ที่เพิ่งเข้ามาทำตลาดจริงจัง 3-4 ปี ก็สามารถครองความเป็นผู้นำในแพลตฟอร์ม Live Streaming เนื้อหาเกี่ยวกับเกมไว้ได้ ผ่านการสร้าง Community ที่แข็งแกร่ง ประกอบกับการช่วยเหลือให้ Streamer สร้างเนื้อหาใหม่ๆ เช่น IRL (In Real Life) หรือการเล่าเรื่องชีวิตประจำวัน ทำให้เนื้อหาหลากหลายขึ้น

Twitch
จิรัฐติกาล สุทธิวรรณารัตน์ ผู้อำนวยการด้านคอนเทนต์ Twitch ประเทศไทย

“เกมยังเป็นเนื้อหาหลักในแพลตฟอร์มของเราอยู่ และทางบริษัทแม่ก็ค่อนข้างให้ความสำคัญกับตลาดไทยด้วย เพราะ Community ของไทยค่อนข้างสนับสนุน Streamer ทั้งการจ่ายค่าสมาชิกให้กับช่องที่ชอบ หรือให้ทิปพวกเขาเป็น Bit (สกุลเงินใน Twitch)” จิรัฐติกาล สุทธิวรรณารัตน์ ผู้อำนวยการด้านคอนเทนต์ Twitch ประเทศไทย กล่าว

เพิ่มประสิทธิภาพของ Streamer ด้วย Academy

อย่างไรก็ตามเพื่อการยกระดับ Streamer ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น รวมถึงสร้าง Streamer รุ่นใหม่เพื่อคงการเติบโตของธุรกิจ Twitch ประเทศไทยจึงจัดโครงการ Twitch Camp และ Twitch Academy โดยเน้นไปที่กลุ่มนักศึกษา และในโครงการดังกล่าวจะให้ข้อมูลเกี่ยวกับการถ่ายทอดสด รวมถึงวิธีคิดเนื้อหาใหม่ๆ

สรุป

ด้วยการเล่นเกมนั้นกินเวลานาน ทำให้การรับชม Twitch นั้นกินเวลาอย่างต่ำก็ครึ่งชม. และเมื่อมีผู้ชมดูนานขนาดนี้ ก็ทำให้ Twitch สามารถต่อยอดธุรกิจได้มากมาย และเป็นที่มาของแพลตฟอร์มอื่นต้องมารุกตลาดนี้ด้วย ดังนั้นมันก็ไม่ง่ายที่ Twitch จะเพิ่มจำนวน Streamer ของตัวเองให้มากขึ้น แต่เชื่อว่าในฝั่ง Community นั้นการแข่งขันที่ดุเดือด ไม่น่ามาทำลายเรื่องนี้ได้

สำหรับในประเทศไทย ผู้รับชม Twitch มีอายุเฉลี่ย 17-35 ปี เป็นเพศชายเสียส่วนใหญ่ เวลาที่รับชมสูงที่สุดอยู่ระหว่าง 19.00-23.00 น. และ Streamer สามารถหารายได้ได้จากค่าโฆษณา, ค่าสมัครสมาชิกช่องจากผู้รับชม และ Bit จากผู้รับชมเช่นกัน

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา