[วิเคราะห์] คนดูอย่างเรา ได้ประโยชน์อะไรจากการคืนช่องทีวีดิจิทัล?

สรุปวันที่ 10 พ.ค. 62 เป็นวันสุดท้ายของการคืนช่องทีวีดิจิทัล ซึ่งมีผู้ประกอบการมายื่นขอคืนช่องและรอรับเงินชดเชยทั้งหมด 7 ราย ได้แก่ 3SD, 3FAMILY, BrightTV20, VOICE TV, Spring News19, Spring 26 และ MCOT Family เป็นช่องข่าวซะเป็นส่วนใหญ่ เพราะเรตติ้งกองกันอยู่ท้ายตาราง

ถ้าดูจากเรตติ้งจริงๆ (ข้อมูลจาก www.tvdigitalwatch.com) ถ้าไม่นับ ททบ5HD กับ NBT ซึ่งเป็นช่องของรัฐและทหารแล้ว NEW18 และ TNN16 ถือว่าเรตติ้งไม่ดีนัก และอยู่ในข่ายที่เรียกว่า “ต้องกัดฟัน” สู้ต่อ โดยรวมแล้วมีเหลืออยู่ 15 ช่อง

ลองมาดูกันว่า การคืนช่องทีวีครั้งนี้ จะมีอะไรเกิดต่อไปและประชาชนอย่างเราได้ประโยชน์อะไรบ้าง

เรตติ้งจะเพิ่ม เม็ดเงินโฆษณาจะสูงขึ้น จริงหรือ?

ภาพรวมของสื่อทุกวันนี้เปลี่ยนไปจากเดิมโดยสิ้นเชิง และยังเปลี่ยนอยู่เรื่อยๆ ด้วยทั้งตามเทคโนโลยีและตามพฤติกรรมผู้บริโภค แค่เราสำรวจตัวเอง หลายคนพบว่าเลิกดูทีวีไปนานแล้ว ดังนั้นไม่ต้องแปลกใจ ทีวีดิจิทัลไทย โผล่มา 24 ช่องในเวลาที่ตลาดกำลังวอดวาย และนี่หายไป 2+7 เท่ากับ 9 ช่อง อาจไม่ได้มีนัยสำคัญอะไร

แปลว่า พฤติกรรมคนไทยและทั่วโลก ดูคอนเทนต์ตามใจฉัน อยากดูเมื่อไรต้องได้ดู ทำให้ช่องทางออนไลน์ได้รับความนิยมสูง ช่องทางวิดีโอที่เรียกว่า สตรีมมิ่ง เช่น Netflix, iFlix, VIU และอนาคต เช่น Disney+ รวมถึงช่องทางแบบไม่เสียเงินอย่าง YouTube, Facebook, Twitch ได้กลายเป็นช่องทางหลักไปเรียบร้อย

ดังนั้น เรตติ้งของทีวีดิจิทัลไทยในภาพรวม อาจไม่ปรับสูงขึ้นกว่านี้แล้ว ทางรอดคือ ทุกช่องต้องทำออนไลน์แบบควบคู่กันไป

และทำให้ เม็ดเงินโฆษณา ที่คิดกันว่าจะแบ่งสันมาลงช่องที่เหลือมากขึ้นหรือไม่ คำตอบคือ ก็อาจจะไม่ได้มากขึ้นแต่อย่างใด เพราะ ช่องที่หายไปคือ ช่องที่เม็ดเงินโฆษณาน้อยอยู่แล้ว แปลว่า การคืนช่องเป็นแค่ทางออกให้กับผู้ประกอบการที่ไปไม่ไหวเท่านั้น ไม่ได้ช่วยช่องที่ยังเหลืออยู่แต่อย่างใด

จับตา MUX มากเกินจำเป็น

MUX แปลเข้าใจง่ายๆ คือ ผู้ให้บริการโครงข่ายทีวีดิจิทัล ให้ผู้บริโภคสามารถรับชมได้ เดิมมีผู้ให้บริการ MUX อยู่ 5 ช่อง คือ กองทัพบก 2, กรมประชาสัมพันธ์,​ ​MCOT และ TPBS ซึ่งมีหน้าที่ลงทุนโครงข่ายทั่วประเทศ เพื่อให้ช่องทีวีดิจิทัล 24 ช่องเดิม ให้บริการได้อย่างเพียงพอและทั่วถึง

มาวันนี้เหลือ 15 ช่อง แปลว่า MUX มีมากเกินความจำเป็นซะแล้ว ทำให้แนวคิดเรื่อง ONE Network เริ่มถูกพูดถึงอีกครั้ง หรืออย่างน้อยสามารถยุบ MUX ลงได้ 2 แห่ง กสทช​. ก็ประหยัดงบอุดหนุน เพราะ 15 ช่องทีวีดิจิทัลไม่น่ามีเพิ่มขึ้น และอาจจะลดลงอีกในอนาคตด้วย

15 ช่องที่เหลืออยู่กับทางรอด

15 ช่องที่ยังรอดชีวิตมาได้ มีช่องจากรัฐจำนวนหนึ่ง คือ ททบ5HD, NBT, TPBS และ MCOT (อาจนับรวม ช่องทีวีรัฐสภา ไปด้วยก็ได้) ที่มีเงินอุดหนุนจากรัฐบาลไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง แต่สำหรับช่องอื่นๆ ล่ะ

มีช่องทีวีดิจิทัลจำนวนหนึ่งที่มีการเข้ามาถือหุ้นโดยนายทุนชั้นนำของประเทศไทย ได้แก่ PPTV36 และ ONE31 ที่ถือหุ้นโดย น.พ. ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ มหาเศรษฐีเจ้าของโรงพยาบาลและสายการบิน

ช่อง ONE31 และ GMM25 มี เจริญ สิริวัฒนภักดี เข้ามาถือหุ้น รวมถึง Amarin34 ด้วย ปิดท้ายด้วย True4U และ TNN16 ที่มี ธนินท์​ เจียรวนนท์​ อยู่เบื้องหลัง กล่าวได้ว่านี่คือกลุ่มที่มีเงินทุนแข็งแกร่ง

ช่อง 3HD คือการเดินหมากที่ถูกต้องที่สุด การมีเรตติ้งที่ดีอยู่แล้ว ควรโฟกัสให้เต็มที่และคืน 2 ช่องที่ไม่สร้างรายได้แต่มีค่าใช้จ่ายกลับไป และยังได้เงินชดเชยอีกด้วย แต่กลยุทธ์ที่น่าจับตาคือ การเดินเกมต่อจากนี้ต่างหาก

สำหรับช่องที่มีแนวทางของตัวเองชัดเจน เช่น MONO29 กับการเป็นช่องหนัง, Workpoint ช่องเกมโชว์, ช่อง 8 ที่เน้นละครจากต่างประเทศและการขายสินค้า, ไทยรัฐทีวี รวมถึง ช่อง 7 ที่ครองเรตติ้งดีที่สุดในปัจจุบัน น่าจะช่วยให้ธุรกิจเดินหน้าต่อไปได้ แต่ที่น่าเป็นห่วง เช่น NEW18 และ Nation ที่น่าจับตามองกันต่อไป

การคืนเงินชดเชยให้นายทุน และประชาชนได้อะไรจากการคืนช่อง

สิ่งหนึ่งที่มีการพูดถึงอย่างมากคือ การคืนเงินชดเชยให้กับผู้ประกอบการที่คืนช่องทีวีดิจิทัล โดยมีสื่อหลายแห่งคำนวณว่า จะมีการคืนเงินให้ผู้ประกอบการทั้ง 7 รายเป็นมูลค่าประมาณการระหว่าง 200 – 900 ล้านบาท และอาจเป็นเงินรวมกันมากกว่า 4,000 ล้านบาท ที่ กสทช.​ จะคืนให้ผู้ประกอบการ

คำถามคือ ทำไม กสทช. ต้องจ่ายเงินชดเชยให้กับผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล ที่กดประมูลช่องทีวีไปด้วยตัวเองเมื่อ 5 ปีก่อน และพบว่าธุรกิจไม่สามารถสร้างกำไรหรือประสบปัญหาขาดทุน ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องปกติของการทำธุรกิจ (แต่การให้คืนช่องได้ ถือเป็นสิ่งที่ควรทำ) กลายเป็นสิ่งที่ กสทช.​ ต้องตอบประชาชนให้ได้ มากกว่าแค่อ้างคำสั่งตาม ม.44 ของ คสช.​ เท่านั้น

และคำถามสำคัญคือ ช่องทีวีดิจิทัลที่เริ่มต้น 24 ช่อง หายไปเหลือ 15 ช่อง ประชาชนได้อะไรจากการคืนช่องครั้งนี้ จะได้คอนเทนต์ที่มีคุณภาพมากกว่าเดิมหรือไม่ กสทช. ก็ไม่สามารถการันตีได้เรื่องนี้ได้อยู่ดี และจะมีการจัดลำดับช่องทีวีดิจิทัลใหม่อีกหรือไม่ (เพราะตอนนี้แหว่งหายไปหลายช่อง) และจะทำอย่างไรกับช่องที่มีการคืนเข้ามา

อีกสิ่งหนึ่งทิ้งท้ายที่เกิดขึ้นแน่นอน คือ จะมีพนักงานหลายพันคนตกงาน จาก 7 ช่องทีวีที่ยุติ รวมถึง 15 ช่องที่เหลือ ก็อาจลดจำนวนพนักงานลงด้วย

ทั้งหมด กสทช.​ ต้องพิจารณาตอบคำถามต่อประชาชน

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา