ทิศทางสื่อทีวีไทย หลังเจ๊ติ๋ม ทีวีพูลชนะคดี กสทช. คืนช่องทีวีดิจิทัล

หลังจากที่ทางบริษัท ไทยทีวี จำกัด เจ้าของช่อง Loca และไทยทีวี ได้ยื่นฟ้องทาง กสทช. กับทางศาลปกครอง โดยระบุว่า กสทช. ไม่ได้ดำเนินการตามกฏหมายหรือแผนแม่บทและคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้ในการเชิญชวนเอกชนเข้าร่วมประมูลโทรทัศน์ในระบบดิจิทัล ล่าสุดศาลปกครองได้อ่านคำพิพากษาแล้ว และเรื่องของทีวีดิจิทัลของไทยจะเป็นอย่างไรต่อไป

คำสั่งของศาลปกครองคือให้ทาง กสทช. คืนแบงก์การันตีงวดที่ 3-6 ให้กับทางไทยทีวีเป็นเงินรวมกันประมาณ 1,500 ล้านบาท  ส่วนค่าเสียหายที่ทางไทยทีวีเรียกร้องอีกกว่า 700 ล้านบาท ทางศาลเห็นว่า กสทช. ไม่ต้องจ่ายให้กับทางไทยทีวี เพราะว่าไทยทีวีประสบปัญหาขาดทุนเอง พันธุ์ทิพา ศกุณต์ไชย หรือเจ๊ติ๋ม จะทำเรื่องยื่นอุทธรณ์ต่อศาลต่อไป ส่วนทางด้าน กสทช. ก็เตรียมยื่นอุทรณ์เช่นเดียวกัน

เจ๊ติ๋มมองว่ากสทช. ไม่เอื้อและสู้เพื่อคนอื่น

พันธุ์ทิพา ศกุณต์ไชย มองว่าสิ่งที่ กสทช. ทำลงไปไม่เอื้อ และเป็นอุปสรรคจนทำให้เกิดความเสียหาย ซึ่งตัวเธอไม่เคยทำธุรกิจขาดทุนเลย ตอนนี้ทีวีดิจิทัลหลายช่องลำบาก เกิดจากการกระทำของ กสทช. พันธุ์ทิพา ยังได้กล่าวเสริมอีกว่าไม่ว่า กสทช. ชุดที่ประมูลทีวีดิจิทัลจะพ้นตำแหน่งไปแล้ว แต่ใครทำกรรมอะไรไว้ก็ต้องรับกรรม

ความหวังของคนอยากจะคืนช่อง

คำพิพากษาของศาลปกครองที่ออกมาเป็นความหวังให้ช่องทีวีดิจิทัลที่ลังเลว่าจะคืนช่องให้ กสทช. เมื่อพิจารณาจากเรตติ้งของช่องทีวีดิจิทัล นอกจาก 10 อันดับแรก ช่องที่เหลือเรตติ้งต่ำมาก จนอยู่รอดในธุรกิจนี้ได้ยาก

บริษัทวิเคราะห์หลักทรัพย์ของไทยและต่างประเทศหลายราย มองว่า มีเจ้าของช่องทีวีดิจิทัลจะคืนใบอนุญาตให้กับ กสทช. อีก เพราะรายได้จากค่าโฆษณาไม่พอกับค่าใช้จ่าย ไม่ต้องนับถึงค่าใบอนุญาตที่ต้องแบ่งจ่ายตามงวด

ภาพจาก Shutterstock

บางช่องก็สู้ต่อ

สุรินทร์ กฤตยาพงศ์พันธุ์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ PPTV ได้กล่าวกับหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ว่าทางช่อง PPTV ก็ต้องสู้ต่อ ไม่ใช่ว่าจะเลิกกันได้ง่ายๆ เพราะบางเรื่องอย่างเช่นลิขสิทธิ์ที่ซื้อมามีอายุ 1 -2 -3 ปี ซึ่งส่วนตัวเชื่อว่ามีทั้งคนที่จะทำต่อ และคนที่ต้องการจะคืน

สุรินทร์ ยังได้กล่าวเสริมว่าอยากให้ทาง กสทช. ทำให้สิ่งแวดล้อมของทีวีดิจิทัลสมบูรณ์ขึ้น เพราะว่าถ้าความไม่พร้อมเกิดขึ้น จะส่งผลกระทบต่อธุรกิจ

รัฐบาลเตรียมเยียวยา

อ้างอิงจากหนังสือพิมพ์ไทยรัฐได้รายงานว่าในสัปดาห์นี้ วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี จะเชิญ กสทช. รวมไปถึงตัวแทนผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลเข้าหารือเรื่องแนวทางเยียวยา และรวมไปถึงจะใช้มาตรา 44 เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการอีกด้วย เช่น การเลื่อนชำระค่าประมูลออกไป 3 ปี, การสนับสนุนค่าเช่าโครงข่าย 50% เป็นเวลา 3 ปี ฯลฯ คาดว่าจะประกาศมาตรา 44 เกี่ยวกับเรื่องนี้ได้ประมาณเดือนเมษายน

ทางแก้คืออย่างไร มาตรา 44 คือทางออก?

เรื่องนี้ต้องย้อนกลับไปดูการศึกษาและวางนโยบายของ กสทช. ว่าถูกต้องหรือไม่ การเปิดให้มีช่องทีวีดิจิทัลจำนวนมาก ขณะที่พฤติกรรมผู้บริโภคสามารถเลือกชมคอนเทนต์ออนไลน์มากขึ้น หรือทีวีดิจิทัลเอง ก็ขยายช่องทางออนไลน์ด้วยเช่นกัน

สุดท้ายการมีทั้งช่อง HD, SD และ Family อาจเป็นแนวทางที่ไม่ตรงกับความเป็นจริงในปัจจุบัน แต่ควรเป็นช่อง HD ทั้งหมดหรือไม่ เพราะจำนวนช่องที่มาก อาจไม่ใช่คำตอบเท่ากับคอนเทนต์คุณภาพ

ขณะที่ทางออกในระยะสั้น กสทช. สมควรรับคืนใบอนุญาตจากผู้ประกอบการ เพราะถ้าการทำธุรกิจแล้วขาดทุน ก็ไม่จำเป็นต้องฝืนทำต่อไป ต้องมีทางออก เช่น การขายต่อใบอนุญาต, การขายหุ้นบางส่วน หรือ การคืนใบอนุญาต โดยมีเงื่อนไขที่เหมาะสม หรืออาจต้องมีวิธีคิดค่าปรับ เนื่องจากช่องทีวีที่หายไป คือค่าเสียโอกาสของประเทศ และนำเงินที่ได้ จัดประมูลใหม่

ส่วนการใช้มาตรา 44 เยียวยาผู้ประกอบการ เป็นการใช้อำนาจโดยไม่พึ่งพากระบวนการทางกฎหมาย ยังเป็นคำถามว่า ใช้ทางออกจริงหรือไม่ แต่ระหว่างนี้ ช่องทีวีดิจิทัลก็คงต้องสู้กันต่อไปอีกสักพัก

ที่มาหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์, หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ, หนังสือพิมพ์ประชาชาติ

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

mm
Content Writer ที่สนใจในเรื่องของตลาดทุนทั้งในและต่างประเทศ กลุ่ม TMT (Technology, Media, Telecom) การควบรวมกิจการ (M&A) นโยบายทางเศรษฐกิจของไทยและต่างประเทศ รวมถึงสิ่งละอันพันละน้อยทางธุรกิจที่น่าสนใจ