ครึ่งปีที่ผ่านมาตัวเลขการส่งออกดีขึ้นทั่วโลก เพราะหลายประเทศฟื้นตัวจากสถานการณ์โควิด-19 การค้าขายระหว่างประเทศเริ่มกลับมาดีขึ้น มีการคาดการณ์ว่าจะเป็นเครื่องจักรเศรษฐกิจที่กลับมาทำงานอีกครั้ง แต่สิ่งที่อาจเป็นอุปสรรคสำคัญคือ โควิดคลัสเตอร์โรงงาน
หากไม่สามารถควบคุมคลัสเตอร์โรงงานได้ ทำให้กระบวนการผลิตหยุดไปอีก 2 สัปดาห์ จะเกิดความเสียหาย 1.9 แสนล้านบาท เป็นปัจจัยฉุดการส่งออกทั้งปีโตได้เพียง 6.8%
ยอดผู้ติดเชื้อโรคโควิด-19 ยังคงพุ่งสูงส่วนหนึ่งมาจากคลัสเตอร์โรงงาน โดยพบการติดเชื้อปัจจุบันไม่เฉพาะแต่ในจังหวัดสีแดงเข้มเท่านั้น แต่ยังรวมถึงจังหวัดอื่นๆ ด้วย จากข้อมูลล่าสุด Thai Stop Covid โดย กรมอนามัย ตั้งแต่เดือนเมษายนจนถึงเดือนกรกฎาคม 2564 มีโรงงานติดเชื้อสะสมมากถึง 1,607 โรงงาน เป็นโรงงานขนาดใหญ่ 67% ซึ่งมีแรงงานจำนวนมาก โดยเป็นทั้งโรงงานผลิตเพื่อใช้ภายในประเทศและป้อนตลาดต่างประเทศ คลัสเตอร์โรงงานจึงเป็นคลัสเตอร์ใหญ่นอกเหนือไปจากแคมป์ก่อสร้าง
ทั้งนี้ ส่วนใหญ่เป็นโรงงานใน 5 กลุ่มอุตสาหกรรมสำคัญ ได้แก่
- อุตสาหกรรมอาหาร
- อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า
- ยานยนต์และชิ้นส่วน
- ผลิตภัณฑ์ยางพารา
- ผลิตภัณฑ์สิ่งทอ
สำหรับประเทศไทยมีโรงงานใน 5 กลุ่มอุตสาหกรรมนี้มากถึง 11,637 แห่ง มีแรงงาน 1.96 ล้านคน และมูลค่าตลาดต่อปีเท่ากับ 8.87 ล้านล้านบาท มีสัดส่วนส่งออกกว่า 57% และจากการที่เป็นอุตสาหกรรมที่มีการใช้แรงงานค่อนข้างมาก เมื่อมีผู้ติดเชื้อจึงมีโอกาสที่จะเกิดการแพร่กระจายสูง นำมาซึ่งการใช้มาตรการปิดโรงงานหยุดกระบวนการผลิตชั่วคราว
ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics ประเมินว่าการปิดคลัสเตอร์โรงงาน 5 กลุ่มอุตสาหกรรมข้างต้นเป็นเวลา 2 สัปดาห์เพื่อควบคุมการระบาดจะก่อให้เกิดการสูญเสียมูลค่า 3.5 แสนล้านบาทหรือคิดเป็น 4% ของมูลค่าตลาด โดยอุปทานสินค้าป้อนตลาดจากโรงงานในอุตสาหกรรมอาหาร ยานยนต์ ยางพาราและพลาสติก จะได้รับผลกระทบจากการปิดโรงงานเร็วที่สุด เพราะมีสินค้าคงคลังน้อยกว่าช่วงปกติ
ดังนั้น หากไม่สามารถควบคุมการระบาดคลัสเตอร์โรงงานได้ ภาครัฐต้องมีการล็อกดาวน์โรงงานเพิ่มขึ้น หรือขยายระยะเวลาปิดโรงงานออกไป คาดว่าจะทำให้ปัญหา Supply Disruption ชัดเจนมากขึ้น และส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกที่เป็นเครื่องยนต์หลักในการฟื้นเศรษฐกิจครั้งนี้
นอกจากนี้ สินค้าส่งออกทั้ง 5 กลุ่มอุตสาหกรรม ยังมีปัจจัยเสี่ยงจากเศรษฐกิจอาเซียนได้รับผลกระทบจากการเผชิญกับยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ใหม่เพิ่มสูงขึ้นมาก โดยเฉพาะอินโดนีเซีย มาเลเซีย และเวียดนาม ทำให้กลับมาใช้มาตรการล็อกดาวน์ทั้งประเทศ ซึ่งส่งผลต่อความต้องการสินค้าส่งออกจากไทยในช่วงครึ่งปีหลัง โดยการส่งออกใน 5 กลุ่มอุตสาหกรรม คิดเป็น 2 ใน 3 ของมูลค่าการส่งออกไปตลาดอาเซียนซึ่งในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้มีมูลค่ากว่า 1 ล้านล้านบาท
อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาประเทศคู่ค้าหลัก ทั้งสหรัฐอเมริกา จีน และยุโรป ที่เศรษฐกิจฟื้นตัวชัดเจนต่อเนื่อง สะท้อนจากการส่งออกไปตลาดคู่ค้าหลักในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 ที่ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปี 2563 ถึง 23.4% และมีแนวโน้มเติบโตแข็งแกร่งต่อเนื่อง ช่วยชดเชยผลกระทบจากการชะลอตัวลงของตลาดอาเซียนที่ในช่วงครึ่งปีแรกขยายตัวได้ 11.2% ส่งผลให้การส่งออกรวม 5 กลุ่มอุตสาหกรรมยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง และเมื่อรวมกับ การเร่งหยุดยั้งการระบาดของคลัสเตอร์โรงงานได้เร็ว จะหนุนให้ภาพรวมการส่งออกสินค้าไทยทั้งปี 2564 ขยายตัวได้ในระดับสูงที่ 9.4% เพิ่มขึ้นจากประมาณการครั้งก่อน
หากไม่สามารถควบคุมคลัสเตอร์โรงงานได้ ทำให้กระบวนการผลิตหยุดไปอีก 2 สัปดาห์ จะเกิดความเสียหาย 1.9 แสนล้านบาท เป็นปัจจัยฉุดการส่งออกทั้งปีโตได้เพียง 6.8%
ทั้งนี้เพื่อลดการระบาดและลุกลามของคลัสเตอร์โรงงาน กระบวนการเร่งตรวจหาและคัดแยกผู้ติดเชื้อออกจากโรงงาน การทำ Bubble and Sealed เพื่อควบคุมดูแลรักษาผู้ติดเชื้อในโรงงานไม่ให้แพร่กระจายออกไป และสุดท้ายการเร่งฉีดวัคซีนให้กับแรงงานภาคการผลิตที่มีจำนวนมาก ถือเป็นมาตรการเร่งด่วนที่ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องควรร่วมมือดำเนินการ เพื่อให้ภาคการผลิตและส่งออกของไทยยังรักษาอัตราการเติบโตได้ต่อเนื่องในช่วงที่เศรษฐกิจโลกกำลังฟื้นตัว
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา