ttb analytics ห่วงมาตรการพักหนี้เกษตรฯ อาจช่วยแค่ระยะสั้น เพราะการทำ 13 ครั้งที่ผ่านมา เกษตรกรฯ 70% ยังมีหนี้สูง

ttb analytics เผยมาตรการพักหนี้เกษตรกรครั้งที่ 14 ที่ครม. เพิ่งเห็นชอบนี้ อาจไม่สามารถช่วยให้เกษตรกรไทยได้ในระยะยาว เพราะจากข้อมูลการทำทั้ง 13 ครั้งพบว่ากว่า 70% ของเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการยังมีหน้ีสูงขึ้น และหนี้เสียไม่ลดลง ดังนั้นจึงแนะนำ 4 แนวทางเพื่อแก้หนี้เกษตรกรไทยอย่างยั่งยืน

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบมาตรการพักชำระหนี้ให้กับลูกหนี้รายย่อยตามนโยบายรัฐบาล ระยะที่ 1 (เมื่อ 26 ก.ย. 2566) ที่เป็นส่วนหนึ่งของมาตรการพักชำระหนี้เกษตรกรระยะเวลา 3 ปี นับเป็นโครงการพักชำระหนี้ให้กับเกษตรกรเป็นครั้งที่ 14 

ทั้งนี้ จากข้อมูลในอดีตพบว่า การพักชำระหนี้เกษตรกรทั้ง 13 ครั้งที่ผ่านมาไม่สัมฤทธิ์ผลตามเป้าประสงค์ของโครงการเท่าที่ควรเป็น เนื่องจากกว่า 70% ของเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการมีภาระหนี้สินเพิ่มสูงขึ้น รวมถึงหนี้เสียในภาคการเกษตรก็ไม่ได้ลดลง

ผลลัพธ์นี้ยังสะท้อนให้เห็นว่า โครงการพักชำระหนี้อาจเป็นเพียงการประวิงเวลา หรือเป็นแค่ยาแก้ปวดที่ให้เกษตรกรไทยเพื่อให้คลายความกังวลเรื่องภาระทางการเงินออกไปอีกระยะหนึ่งเท่านั้น 

เมื่อเกษตรกรไทยผลิตข้าว 1 กก. มีกำไรแค่ 0.64 บาท!

ttb analytics ได้ทำการศึกษาพบว่า เกษตรกรไทยเผชิญกับปัญหาเชิงโครงสร้างเกี่ยวกับการกระจายรายได้จากผลผลิตที่ไม่เป็นธรรม เพราะไม่สามารถพัฒนาจากผู้ผลิตเป็นผู้ประกอบการได้ จึงเป็นเพียงผู้ผลิตสินค้าขั้นกลางให้กับผู้ประกอบการที่ผลิตสินค้าขั้นสุดท้าย (ซึ่งได้กำไรเยอะกว่า) โดยได้ศึกษาผ่านโครงสร้างต้นทุนของการผลิตข้าวขาว ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

ปี 2565 ที่ผ่านมา ราคาข้าวขาว 100% เฉลี่ยอยู่ที่ 17.5 บาทต่อกิโลกรัม จะมีรายได้เข้าสู่มือชาวนาเพียง 8.8 บาทต่อกิโลกรัม อิงตามราคาข้าวเปลือกเจ้ารับซื้อ ณ ไร่นา 

แต่จากรายได้ส่วนนี้ ชาวนาต้องรับภาระต้นทุนการผลิต (เพาะปลูก) ที่ 8.16 – 9.32 บาทต่อกิโลกรัม (กรณีเกษตรกรมีต้นทุนค่าเช่านาและเครื่องจักรกลทางการเกษตร) ซึ่งยังเพิ่มขึ้นจากปี 2564 ที่ราว 7.25 – 8.28 บาทต่อกิโลกรัม 

อีกทั้งเจอผลกระทบจากราคาปุ๋ยเคมีและสารเคมีทางการเกษตรที่ปรับเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ปี 2565 ชาวนาไทยมีกำไรจากการเพาะปลูกข้าวเพียงราว 0.64 บาทต่อกิโลกรัม รวมถึงในบางรายที่มีต้นทุนสูงอาจประสบภาวะขาดทุน 0.52 บาทต่อกิโลกรัม

ในขณะที่ฝั่งผู้ประกอบการ (ที่จะรับข้าวเปลือกจากชาวนามาสีและแปรรูปเพื่อขาย) มีต้นทุนจากข้าวเปลือกเมื่อผ่านการแปรรูป บรรจุ และขนส่ง รวมที่ราว 13.03 – 13.87 บาทต่อกิโลกรัม จึงคิดเป็นกำไรขั้นต้นก่อนหักต้นทุนการขายและการบริหารที่ราว 3.62 – 4.67 บาทต่อกิโลกรัม 

ดังนั้นจากข้อมูลเหล่านี้ จะเห็นว่า ผลผลิตข้าวขาว 1 กิโลกรัม ที่ราคาเฉลี่ย 17.5 บาท ด้านการกระจายรายได้พบว่ากำไรอยู่กับผู้ประกอบการที่ 20.7% – 25.5% แต่ชาวนาได้รับเพียง 3.7%

ที่มา ttb analytics

ทั้งนี้ ชาวนา (ในกลุ่มที่มีต้นทุนสูง) ยังมีโอกาสขาดทุน เพราะต้องรับความเสี่ยงทั้งจากราคาปุ๋ยและสารเคมีทางการเกษตรที่ผันผวน, ภัยธรรมชาติและสภาวะภูมิอากาศที่ไม่เอื้ออำนวย 

ดังนั้น จากกรณีศึกษาในตลาดข้าวขาว พบว่า เกษตรกรเป็นกลุ่มที่ได้รับผลตอบแทนน้อยและต้องรับความเสี่ยงทั้งหมดในขั้นตอนการผลิต ส่งผลให้นโยบายพักชำระหนี้ที่ผ่านมาทุกครั้งเป็นเพียงแค่ยาแก้ปวด ที่ยื้อเวลาและบรรเทาอาการได้ในช่วงที่พักชำระหนี้  แต่เกษตรกรจะกลับมาเจอผลกระทบอีกเมื่อหมดมาตรการ

4 แนวทางแก้ปัญหาหนี้ระยะยาว

 อย่างไรก็ตามมองว่า โครงการพักชำระหนี้ในครั้งที่ 14 นี้ มีประเด็นที่น่าสนใจในเรื่องมาตรการพัฒนาศักยภาพเพื่อฟื้นฟูลูกหนี้ภายใต้หลักการ “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” ที่ตั้งงบประมาณให้ผู้เข้าร่วมโครงการเพื่อใช้เป็นผลิตภัณฑ์สินเชื่อเพื่อฟื้นฟูการประกอบอาชีพวงเงินสูงสุดต่อรายไม่เกิน 100,000 บาท ซึ่ง ttb analytics มองว่า หากส่วนนี้มีการจัดสรรอย่างมีประสิทธิภาพจะช่วยยกระดับศักยภาพการทำธุรกิจของเกษตรกรไทย และสามารถเป็นหนทางแก้ไขปัญหาหนี้ในระยะยาว ผ่านข้อเสนอแนะดังต่อไปนี้

  1. ยกระดับเกษตรกรที่มีศักยภาพและความพร้อม ให้เป็นผู้ประกอบการที่สามารถเพิ่มพื้นที่กำไรให้มากขึ้นจากสินค้าขั้นสุดท้าย
  2. การให้ความรู้กับเกษตรกรในเรื่องช่องทางจำหน่าย เช่น ช่องทางออนไลน์เพื่อเข้าถึงผู้บริโภค
  3. ภาครัฐช่วยจัดตั้งกองทุนเพื่อลดต้นทุนการเพาะปลูก เช่น เพื่อค่าปุ๋ย ค่ายา พันธุ์ข้าว รวมถึงจัดหาสินค้าทุนที่ให้เกษตรกรเช่าใช้ในราคาที่ต่ำลง เช่น เครื่องจักรกลทางการเกษตร หรือสินค้าทุนที่ใช้ในการแปรรูปสินค้า เช่น โรงสีชุมชนที่ช่วยเพิ่มโอกาสให้เกษตรกรแปรรูปสินค้าส่งขายครัวเรือนได้โดยตรง
  4. ให้ความรู้เกษตรกรเพื่อใช้เทคโนโลยีการเพาะปลูก เช่น การทำเกษตรอัจฉริยะ (Smart Farming) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเพาะปลูกให้มากขึ้นผ่านระบบที่มีความแม่นยำสูง (Precision Agriculture) จะทำให้สามารถช่วยเพิ่มปริมาณผลผลิต เพิ่มประสิทธิภาพการใช้ปุ๋ย ลดปริมาณการใช้ยาปราบศัตรูพืชได้

 ที่มา – ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี

อ่านเพิ่มเติม

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา