อุจิ (Uji) เป็นเมืองเล็กๆ ในจังหวัดเกียวโต ชาวญี่ปุ่นทราบกันดีว่า ‘ชา’ ของเมืองนี้อร่อยที่สุด
Brand Inside ชวนทำความรู้จักกับ Tsuen Tea ร้านชาเก่าแก่ที่สุดในญี่ปุ่นซึ่งซ่อนตัวอยู่ในเมืองแห่งนี้
แกะรอย Tsuen Tea ร้านชาที่มีประวัติมายาวนานกว่า 861 ปี
เรื่องราวของร้าน Tsuen Tea เริ่มต้นขึ้นเมื่อปี 1160 ผู้ก่อตั้งร้านนี้ไม่ใช่นักธุรกิจที่ไหน แต่เป็นชายคนหนึ่งผู้ผันตัวจากอาชีพซามูไรแล้วเปลี่ยนมาใช้นามสกุล Tsuen
เมื่อเลือกเส้นทางนี้แล้วเขาก็บริหารร้านชาอย่างมีความสุข แต่โชคชะตาก็ไม่เข้าข้างสักเท่าไหร่นัก เพราะหลังจากนั้นไม่นานก็มีข่าวว่าเพื่อนซามูไรของเขากำลังสู้รบอย่างรุนแรงกับศัตรู เขาจึงออกไปช่วยรบและทั้งสองก็เสียชีวิตในที่สุด
ศพของเขาและเพื่อนซามูไรถูกฝังอยู่ ‘วัดเบียวโดอิน’ ซึ่งเป็นแหล่งมรดกโลกที่ได้รับการคัดเลือกจาก UNESCO ในตอนนั้นก็มีพระนิกายเซนคนหนึ่งชื่อ Ikkyū (หรือที่เรารู้จักกันในชื่ออิคคิวซัง) มาร่วมงานศพของเขา พร้อมแต่งบทกวีสั้นๆ ให้ว่า ‘ชีวิต เงินทอง ฟองในถ้วยชา’
หลังจากนั้นสมาชิกคนอื่นในครอบครัวของเขาจึงหันมารับช่วงต่อธุรกิจนี้แทน และด้วยรสชาติของชาที่กลมกล่อมรวมไปถึงการดูแลร้านอย่างพิถีพิถัน ผู้มีชื่อเสียงในสมัยนั้นหลายๆ คนจึงแวะเวียนกันมาดื่มชาที่ร้านนี้อย่างไม่ขาดสาย
เปิดตำราบริหารร้านชาของ Yusuke Tsuen ทายาทผู้สืบทอดกิจการรุ่น 24
Yusuke Tsuen เล่าว่าในสมัยเด็กเพื่อนรอบตัวเขาก็เกิดมาในครอบครัวที่มีธุรกิจอายุหลายร้อยปีเช่นเดียวกัน เขาเลยตั้งใจตั้งแต่ตอนนั้นว่าเมื่อโตขึ้นตัวเองจะมาสืบทอดกิจการ เพราะเขาไม่อยากให้ร้าน Tsuen Tea ซึ่งเป็นมรดกของประเทศญี่ปุ่นสูญหายไป
เขาแนะนำว่า เคล็ดลับที่ทำให้ธุรกิจครอบครัวอยู่มายาวนานถึง 861 ปีคือทายาททุกคนบริหารร้านด้วยแนวคิดว่า ทำอย่างไรให้ Tsuen Tea ดำเนินกิจการต่อเนื่องไปได้ในอีกแปดร้อยกว่าปีข้างหน้า
เขาเคยให้สัมภาษณ์ว่า “ครอบครัวเราโฟกัสเรื่องชาและไม่ได้ขยายธุรกิจมากนัก นี่อาจเป็นเหตุผลที่ทำให้ร้านของเราอยู่มาได้อย่างยาวนาน”
เบื้องหลังคำตอบนี้คือความเชื่อในพลังของการโฟกัส เขาเล่าถึงสิ่งที่อยู่ในใจเสมอคือ ทำอย่างไรให้ Tsuen Tea เป็นร้านชาที่ดีที่สุดในทุกยุคทุกสมัย ไม่ใช่ทำอย่างไรให้ธุรกิจยิ่งใหญ่ ทางร้านจึงใส่ใจกับการพัฒนาคุณภาพชาเป็นอย่างมาก ผลของความมุ่งมั่นนี้ทำให้ทางร้านมีชื่อเสียงด้านชาถึงขั้นที่ถ้าหากเราหาคำว่า Tsuen ในพจนานุกรมญี่ปุ่น เราจะเจอคำจำกัดความว่าหมายถึง ‘ผู้เสิร์ฟชาให้กับนักเดินทางริมฝั่งแม่น้ำอุจิ’ เลยทีเดียว
นอกจากนั้น Yusuke Tsuen เองก็อยากสนับสนุนให้ลูกค้าทุกคนมีความสุขง่ายๆ ผ่านการดื่มชา โดยเขาเชื่อว่ารสชาติของชานั้นขึ้นอยู่กับอารมณ์ของผู้ดื่มด้วย ดังนั้น ลูกค้าเลยควรลองดื่มชาให้หลากหลายจนกว่าจะพบชาที่เหมาะกับตัวเองที่สุด
ความท้าทายครั้งใหม่ของ Tsuen Tea เมื่อวิถีชีวิตผู้คนเปลี่ยนไป
ย้อนกลับไปเมื่อหลายร้อยปีที่แล้ว กลุ่มคนส่วนใหญ่ที่ชอบดื่มชามักจะเป็นซามูไร พระ และชนชั้นสูง โดยพวกเขาจะดื่มชาร้อนๆ เพื่อเป็นตัวช่วยในการทำสมาธิ รวมถึงดื่มเพื่อเรียกพลังก่อนการสู้รบต่างๆ
แต่ในช่วงหลังเมื่อค่านิยมจากฝั่งตะวันตกเข้ามา วัยรุ่นญี่ปุ่นก็ไม่ค่อยมีกาน้ำชาเป็นของตัวเองแล้ว บางคนถึงกับไม่รู้ว่าชาญี่ปุ่นชงกันอย่างไร เพราะพวกเขาหันมาชงกาแฟหรือไม่ก็ซื้อชาสำเร็จรูปที่บรรจุในขวดพลาสติกแทน
อีกทั้งไลฟ์สไตล์ของชาวญี่ปุ่นที่เร่งรีบก็ยิ่งขัดกับความเชื่อของร้านที่อยากให้ลูกค้าใช้เวลาช้าๆ ลิ้มรสชาติชาอย่างสงบ แต่ในปัจจุบันลูกค้าส่วนใหญ่แค่แวะเข้ามาในร้าน เลือกซื้อชา และกลับบ้านไปอย่างรวดเร็ว ทำให้ทางร้านไม่ทราบว่าลูกค้ารู้สึกหรือมีความคิดเห็นอะไรเกี่ยวกับชาที่ดื่มเข้าไปบ้าง ทั้งๆ ที่สิ่งที่ทางร้านตั้งใจคือนำเสนอชารสชาติดีที่สุดสำหรับลูกค้าแต่ละคน
นอกจากนั้น ในปัจจุบันร้าน Tsuen Tea ก็ขยายสาขาไปที่ต่างประเทศจึงเกิดอีกหนึ่งความท้าทายคือทำอย่างไรให้ชาวต่างชาติมีความรู้เรื่องชามากขึ้น และเปลี่ยนความคิดได้ว่าการชงชาทานเองไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป
สรุป 4 หัวใจความสำเร็จของธุรกิจ Tsuen Tea
- บริหารธุรกิจด้วยความคิดว่าทำอย่างไรให้ธุรกิจนี้ยังอยู่ต่อไปได้อีกแปดร้อยกว่าปี
2. โฟกัสว่าจะทำอย่างไรให้ Tsuten Tea เป็นร้านชาที่ดีที่สุดในทุกยุคทุกสมัย
3. ไม่หยุดพัฒนาชาซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักของทางร้านให้ดีขึ้นเรื่อยๆ
4. เชื่อในการส่งมอบความสุขให้ลูกค้าผ่านถ้วยชา
ที่มา : tsuentea, kansaiodyssey, japanjourney, stylereport, govonline, bbc
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา