ถ้าไทยโดนภาษี ทรัมป์ 36% จริง นักเศรษฐศาสตร์ มองว่าไทยจะ ‘หมดเสน่ห์’ เข้าไปอีก

นับตั้งแต่โดนัลด์ ทรัมป์ ตบเท้ากลับเข้าสู่ทำเนียบขาวเป็นหนที่สอง หนึ่งในนโยบายสำคัญที่ถูกจับตาทั่วโลกก็คือ ‘กำแพงภาษีนำเข้า’ ที่ทรัมป์มุ่งหวังให้เป็นเครื่องมือลดการขาดดุลการค้ากับประเทศอื่น ๆ รวมถึงไทย 

ทรัมป์
President Donald J. Trump joined by Irish Prime Minister Leo Varadkar signs the guest book Wednesday, June 5, 2019, at the Shannon Airport in Shannon Ireland. (Official White House Photo by Shealah Craighead)

ล่าสุด ทำเนียบขาวประกาศแล้วชัดเจนว่า ไทยจะโดนภาษี 36 % ภายในวันที่ 1 สิงหาคม ที่จะถึงนี้ 

ในกรณีนี้ ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร วิเคราะห์สถานการณ์ที่สหรัฐอเมริกาเรียกเก็บภาษีเอาไว้ผ่านเฟซบุ๊กส่วนว่า “นี่เป็นเหมือนจดหมายสไตล์ Art of the Deal ที่เหมือนเรียกค่าคุ้มครองบังคับไทยกลับโต๊ะเจรจา”

หลังจากขู่มา 3 เดือน ประกาศล่าสุดจากทำเนียบขาว ระบุว่า ไทยจะโดนภาษี 36% กับสินค้าทุกชนิดภายใน 1 สิงหาคม 2567 แต่จุดที่พอให้ไทยขยับได้บ้าง ดร.พิพัฒน์บอกว่า อยู่ตรงเงื่อนไขที่บอกว่าถ้าไทยตัดสินใจเปิดตลาดก็อาจจะพิจารณาลดภาษีลงมาได้

นอกจากนี้ การที่ขยับเส้นใต้จากเดิม 9 กรกฎาคม เป็น 1 สิงหาคม ก็เป็นอีกหนึ่งสัญญะว่าแม้สหรัฐยังไม่พอใจกับการเจรจา แต่ก็เปิดให้เจรจาได้ต่อ ซึ่งนี่เป็นสไตล์การเจรจาที่เราเห็นจากทรัมป์อยู่บ่อย ๆ เช่น ในกรณีการแบน TikTok ในสหรัฐที่เลื่อนเส้นตายออกไปเรื่อย ๆ เหมือนกันเพื่อเก็บแต้มไว้ต่อรองกับจีน

ดร.พิพัฒน์ มองว่า ถ้าไทยโดนกำแพงภาษี 36% จริง จะเกิดผลกระทบกับไทยแน่ ๆ อย่างน้อยก็สองเรื่อง คือ

1. มากกว่าส่งออกหาย คือต่างชาติไม่เข้ามาลงทุน

ผลกระทบโดยตรงของกำแพงภาษีก็คือการที่สหรัฐจะนำเข้าของจากไทยน้อยลง ดร.พิพัฒน์ ระบุในสเตตัสดังกล่าวว่า “เราพึ่งพาสหรัฐมากกว่าสหรัฐพึ่งพาเรา สหรัฐฯ รับราว 18 % ของมูลค่าส่งออกไทย (กว่า 55 พันล้านดอลลาร์) ถ้าโดนภาษี 36 % คู่แข่งอย่างเวียดนาม-เม็กซิโกพร้อมเสียบ คำสั่งซื้ออาจหายทันที โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอิเล็กโทรนิคส์ เครื่องจักร ผลิตภัณฑ์ยาง”

ส่วนในภาคการผลิต ดร.พิพัฒน์ตั้งข้อสังเกตว่า ไทยมีปัญหาความสามารถในการแข่งขันอยู่แล้ว “ก็อาจโดนซ้ำเติม แรงงานเสี่ยงโดนเลิกจ้าง หรือต้องย้ายสายการผลิตไปประเทศภาษีต่ำ” 

และที่หนักกว่านั้นคือ เสน่ห์ของไทยในการดึงดูดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างชาติ (FDI) ดร.พิพัฒน์มองว่า “นักลงทุนคงถามตรง ๆ ว่า ถ้าตั้งโรงงานในไทยแล้วต้องโดนภาษี 36 % แล้วทำไมไม่ไปเวียดนาม?” เรื่องนี้กระทบกับอุตสาหกรรมแห่งอนาคตที่เราหวังไว้เต็ม ๆ “เงินลงทุนเทคโนโลยี EV AI อาจไหลออกตั้งแต่ยังไม่เปิดสายการผลิต”

2. โดนบังคับให้เลือกระหว่างภาคเกษตรและภาคการส่งออก

ในภาพที่ใหญ่ขึ้นมาอีก ดร.พิพัฒน์ มองว่าไทยกำลังโดนบังคับให้เลือกระหว่าง “ภาคส่งออก ซึ่งสำคัญต่อเศรษฐกิจไทย” (ในแง่เม็ดเงิน) และ “ภาคเกษตร ที่แม้มีสัดส่วนต่อเศรษฐกิจไม่มาก แต่จ้างงานจำนวนมาก และมีผลต่อธุรกิจใหญ่เล็กมหาศาล”

คำอธิบายก็คือ ถ้าอยากลดกำแพงภาษีลง เพื่อให้ภาคการส่งออกโดนกระทบน้อย ไทยจะต้อง “เปิดตลาดให้สหรัฐเพิ่ม ซึ่งอุตสาหกรรมที่เราปกป้องมากที่สุดทั้งภาษีและมาตรการที่ไม่ใช่ภาษี (เช่น quota และ import bans) ก็คือภาคเกษตร ซึ่งแน่นอนว่าการเปิดตลาดคงกระทบต่อชีวิตคนจำนวนมากแน่ ๆ”

ส่วนอีกเงื่อนไขสำคัญ คือการป้องกันสินค้าจีนสวมสิทธิ์ ซึ่งอาจจะทำให้กระทบความสัมพันธ์กับจีน

ทางออกของประเทศไทย

ดร.พิพัฒน์ ระบุว่า “การเจรจาแบบ Win-Win น่าจะเป็นไปได้ยากในกรณีนี้ เราอาจจะต้องหาทาง Give-and-Take และพิจารณาถึงผลกระทบในแต่ละทางเลือกอย่างรอบด้าน และหาทางชดเชยผลกระทบ”

สิ่งที่ต้องทำก็คือ “เข้าใจสิ่งที่สหรัฐต้องการก่อน ถ้าดูสิ่งที่เขาได้จากเวียดนาม เข้าใจว่าสหรัฐต้องการให้เราเปิดตลาดให้สินค้าสหรัฐ ลดภาษีนำเข้า ยกเลิก non-tariff barrier และจัดการกับเรื่องสินค้าสวมสิทธิ์ ซึ่งเราคงต้องพิจารณาผลกระทบของแต่ละเรื่องอย่างเข้าใจจริงๆ และเปรียบเทียบต้นทุนแต่ละทางเลือก”

ดร.พิพัฒน์ บอกว่าเราต้อง “พิจารณาหาทางเปิดเสรีด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะภาคเกษตรซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด อย่างค่อยเป็นค่อยไป และมีมาตรการลดผลกระทบ อย่างน้อยในระยะสั้น แต่ต้องหาวิธีชดเชยความเสียหายแบบเข้าใจจริง ๆ”

แน่นอนว่า การดำเนินนโยบายในลักษณะ Give-and-Take แปลว่าเรามีเรื่องที่ต้อง ‘ยอมให้’ ผู้มีอำนาจตัดสินใจ “ต้องสื่อสารให้สาธารณชนเข้าใจประเด็น  และเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมในการพิจารณาทางเลือกและพูดคุย”

ดร.พิพัฒน์สรุปว่า จดหมายฉบับนี้เป็นเหมือน Art of the Deal เวอร์ชันเรียกค่าคุ้มครอง “บีบให้ไทยต้องเลือก จะยอมเสียบางอย่างตอนนี้ เพื่อไม่ให้เสียอนาคตทั้งหมด”

หากเราเดินเกม Give-and-Take ค่อย ๆ เปิดตลาดเกษตร พร้อมกันชน-ชดเชย และเร่งยกระดับศักยภาพแข่งขัน ไทยจะไม่เพียงแค่รอดภาษี 36 % แต่ยังอาจใช้จังหวะนี้เร่งเครื่องเศรษฐกิจไทยสู่มูลค่าสูงกว่าเดิมได้

ที่มา: Pipat Luengnaruemitchai

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

บาส รชต สนิท - นักข่าว นักเขียน ที่ Brand Inside | สนใจด้าน Future of Work, สิทธิคนทำงาน, สิ่งแวดล้อม, การเมืองโลก, ปัญหาทุนนิยม และ สิทธิมนุษยชน