ฮั่นแน่ ที่พ่อใหญ่ Trump ขึ้นกำแพงภาษีขนาดนี้ ก็เพราะอยากให้ธุรกิจของสหรัฐฯ พัฒนานวัตกรรมการผลิต และลดต้นทุนได้หรือเปล่า?
เกริ่นก่อนว่า บทความนี้ Brand Inside จะพูดถึง 2 เรื่องหลักๆ ที่ดูเหมือนจะไม่เกี่ยวข้องกัน นั่นก็คือ ‘สงครามภาษี’ กับแนวคิดเรื่อง ‘การผลิต’ — แต่เอาเข้าจริง ถ้าอ่านจบทั้งบทความ บอกได้เลยว่า จะเห็นความเกี่ยวพันกันอย่างแนบแน่น
เพราะสุดท้ายแล้ว สงครามการค้าที่กำลังดุเดือดอยู่ในขณะนี้ ฉากหน้าอาจเป็นเรื่องของตัวเลขภาษีที่ sexy และฉูดฉาดตามหน้าสื่อ แต่เบื้องหลังของเรื่องนี้ หนึ่งในหัวใจสำคัญคือพลังของการผลิต ซัพพลายเชน การพึ่งพาคนอื่นน้อยลง เป็นสิ่งที่ในทางเศรษฐศาสตร์เรียกกันว่า เน้นป้องกันตัวเอง-กีดกันคนอื่นมากขึ้น
ถ้าพร้อมแล้ว ไปทำความเข้าใจกันเลย
ในปี 1936 ‘Theodore Wright’ วิศวกรการบินและอวกาศบันทึกปรากฏการณ์ ‘Learning Curve’ ไว้ หลังพบว่า เมื่อตนลองผลิตเครื่องบินออกมาเพิ่ม 2 เท่า ต้นทุนกลับถูกลงในอัตราที่คาดเดาได้ ขณะที่กระบวนการผลิตพัฒนายิ่งกว่าเดิม
พื้นฐานของแนวคิด Learning Curve มองว่า เมื่อมีการผลิตสินค้าออกมามากขึ้น จะส่งผลให้
- บุคลากรก็ทำงานไวขึ้น เพราะได้เรียนรู้จากการลงมือทำจริง
- กระบวนการต่างๆ มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะรู้จักเอาวิธีการหรือเครื่องมือใหม่ๆ มาใช้
- การซื้อวัสดุอุปกรณ์ในราคาที่ต่ำลงไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป
- และเวลานั้นล่ะ เดี๋ยว ‘Economies of Scale’ ก็มาเอง
ถ้าให้สรุปง่ายๆ กลไกของ Learning Curve คือ ยิ่งความต้องการในตลาดเยอะ ก็ยิ่งขับเคลื่อนให้ผู้ผลิตพัฒนากระบวนการการทำงานให้มีประสิทธิภาพ แถมยังดีลกับซัพพลายเออร์ให้ต้นทุนน้อยลงได้ และเมื่อสินค้าราคาถูกลง ความต้องการก็จะเพิ่มขึ้น วนอยู่อย่างนั้น
แนวคิดนี้ได้รับความนิยมอย่างมากในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เนื่องจากรัฐบาลสหรัฐฯ นำไปประยุกต์ใช้กับการคำนวณค่าผลิตเรือและเครื่องบิน
แล้วสำหรับบริบทปัจจุบันล่ะ ธุรกิจต่างๆ จะนำ Learning Curve มาปรับใช้ได้อย่างไร?
ยิ่งเยอะ ยิ่งถูก เชื่อพี่ จีนลองมาแล้ว
ช่วง 1960s หนึ่งในบริษัทให้คำปรึกษา Big 3 อย่าง ‘Boston Consulting Group’ ได้ลองศึกษา Learning Curve อย่างจริงจัง แล้วเกิดแนวคิดการตั้งราคาสินค้าในอุตสาหกรรมเทคโนโลยี ด้วยการขายให้ถูกกว่าต้นทุนตั้งแต่แรก เพื่อที่จะสร้างความต้องการในตลาดเร็วขึ้น วัฏจักรของ Learning Curve จะได้ดำเนินไปไวๆ และสุดท้ายต้นทุนก็จะถูกลง
Learning Curve ถูกเอาไปใช้ในหลากหลายอุตสาหกรรม ตั้งแต่การผลิตแผงโซลาร์เซลล์ยันสารเคมี และถ้ามาย้อนดูพี่ ‘จีน’ ของเรา จะเห็นว่า สาเหตุหนึ่งที่ประเทศนี้สามารถดันรถยนต์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่ให้ไปไกลระดับโลก ก็เพราะมีข้อได้เปรียบด้านต้นทุน เนื่องจากพยายามกระตุ้นให้เกิดความต้องการในประเทศมาโดยตลอด
มาดูกรณีศึกษาของอุตสาหกรรมแบตเตอรี่กัน
ตั้งแต่แบตเตอรี่ลิเธียมไอออนถูกคิดค้นขึ้นมา ราคาก็ถูกลงเรื่อยๆ โดยช่วงต้น 1990s แบตเตอรี่ลิเธียมไอออน 1 กิโลวัตต์-ชั่วโมงมีราคาอยู่ที่ 2.5 แสนกว่าบาท แต่เมื่อปีที่แล้ว สินค้านี้ถูกขายในราคาไม่ถึง 3,400 บาทด้วยซ้ำ
ที่ราคามันลดฮวบขนาดนี้ ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่เป็นเพราะเทคโนโลยีการผลิตที่ก้าวหน้าขึ้น จนสามารถตัดวัสดุที่ไม่จำเป็นออกไปได้ แถมประสิทธิภาพก็ดีกว่าเดิม เพราะสเกลการผลิตใหญ่มาก
ถ้าถามว่าราคาของแบตเตอรี่ลดลงในอัตราส่วนไหน ทาง Harvard Business Review บอกว่า เมื่อสินค้าสะสมมากขึ้น 2 เท่า ต้นทุนจะถูกลง 20% ซึ่งหากมองมาที่ ‘CATL’ บริษัทสัญชาติจีนผู้ผลิตแบตเตอรี่ครอบคลุมถึง 38% ทั่วโลก คงต้องบอกเลยว่า ใครคิดสู้ราคากับเขา โอกาสนั้นค่อนข้างริบหรี่
เอาจริงๆ พอเข้าใจทฤษฎี Learning Curve มันก็ไม่แปลกหรอกที่จีนจะสามารถลดต้นทุนผลิตแบตได้มากขนาดนี้ เพราะพวกเขาเป็นผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารายใหญ่ด้วยยังไงล่ะ
รถยนต์ไฟฟ้าก็ต้องใช้แบตเตอรี่จริงไหม? และถ้าเกือบ 50% ของยอดขายรถในจีนเป็นรถยนต์ไฟฟ้า ทำไมแบตเตอรี่จะไม่เป็นที่ต้องการอย่างมากในประเทศ?
ที่สำคัญ รัฐบาลจีนป้ายยาเก่งสุดๆ พยายามกระตุ้นให้คนซื้อรถยนต์ไฟฟ้าตั้งแต่เนิ่นๆ ในสมัยที่คุณภาพไม่ดีเท่าตอนนี้ด้วยซ้ำ แต่แล้วไง เงินที่ได้จากการขาย ก็เอาไปหมุนให้ผู้ผลิตพัฒนานวัตกรรมของแบตเตอรี่ไปเรื่อยๆ
ยิ่งไปกว่านั้น การแข่งขันในตลาดแบตเตอรี่ของจีนก็ดุเดือดมากๆ ชนิดที่ว่า ผู้ผลิตกว่า 50 เจ้าต่างพากันแข่งผลิตให้ได้มากกว่าและถูกกว่า จนมีการคาดว่า ภายในปี 2025 กำลังการผลิตแบตเตอรี่ของจีนจะมากกว่าความต้องการทั่วโลกถึง 4 เท่า
มันอาจฟังดูเวอร์นะ แต่การที่พวกเขาบ้าระห่ำขนาดนี้ ก็ช่วยให้ต้นทุนการผลิตแบตเตอรี่น้อยลงจริงๆ และยิ่งรัฐบาลคอยสรรหานโยบายมาสนับสนุน หากประเทศไหนอยากล้มแชมป์พี่จีน คงเหนื่อยหน่อยนะ
เพิ่มกำแพงภาษี เร่งเครื่อง Learning Curve กี่โมง
เกริ่นถึงกำแพงภาษีของ Trump มาตั้งแต่ต้นบทความ สงสัยล่ะสิว่าสหรัฐฯ จะทำตาม Learning Curve จริงหรือเปล่า?
Harvard Business Review เผยว่า สงครามการค้าของประธานาธิบดี Trump อาจส่งผลดีต่อบางอุตสาหกรรมในประเทศที่ต้องพึ่งพาปริมาณการผลิตจำนวนมาก เช่น เซมิคอนดักเตอร์ (ชิป) เพราะจะทำให้ธุรกิจเหล่านี้ได้ผลิตกันมากขึ้น ไหลไปตามแนวของ Learning Curve แบบไม่ต้องกลัวสินค้าจากเมืองนอกเมืองนา
ด้าน ‘State Street’ บริษัทการลงทุนระดับโลก ก็อธิบายว่า สำหรับบางกรณี การตั้งภาษีนำเข้าจะช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมในประเทศให้ดีขึ้น ด้วยการป้องกันตนเองจากผู้เล่นต่างชาติ เปิดโอกาสให้ธุรกิจในบ้านเติบโต เกิดเป็น Economies of Scale จนสามารถสู้ในตลาดโลกได้
ทั้งนี้ Harvard Business Review บอกว่า การตั้งกำแพงภาษีจะเวิร์คกับธุรกิจในประเทศ ก็ต่อเมื่อผู้ผลิตรู้เท่าทันโลก และผู้บริโภคยินดีซื้อสินค้าบ้านตนเอง
ดังนั้น คำถามคือ ผู้ผลิตและผู้บริโภคของสหรัฐฯ เป็นแบบไหน? เพราะที่ผ่านมา อุตสาหกรรมการผลิต ‘ชิป’ ในประเทศดูเหมือนจะชะลอตัวลงเรื่อยๆ เนื่องจากประชาชนไม่ค่อยซื้อกัน
เมื่อคนในประเทศไม่ซื้อชิปที่บ้านตนเองผลิต สหรัฐฯ ก็ต้องไประบายสินค้าด้วยการส่งออกไปต่างชาติ แต่ถ้า Trump เล่นไปขึ้นภาษีแบบนี้ หากประเทศอื่นขึ้นภาษีตามบ้าง ลูกค้าชาติไหนเขาจะซื้อ?
สุดท้าย แผน Learning Curve ของอุตสาหกรรมชิปในสหรัฐฯ อาจล่าช้าลง หรือไม่สำเร็จไปโดยปริยาย
แล้วเรื่องนี้ถึงหูพ่อใหญ่ Trump หรือยัง?
ที่มา: Harvard Business Review, Medium, State Street
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา