วงการโทรคมนาคม นอกจากจะแข่งกันที่ Network ต้องดีแล้ว บริการหลังการขายคืออีกจุดที่ผู้บริโภคจะตัดสินใจเลือกใช้ มาวันนี้ TrueSphere ให้บริการมาครบรอบ 1 ปีแล้ว หลังจากนี้หวังดึงลูกค้าเป็นกลุ่ม แถมจะขยายสาขาไปตามหัวเมืองใหญ่ๆ อีกด้วย
ไม่ใช่แค่ First Class แต่ TrueSphere ต้องรองรับคนในระดับองค์กรได้ด้วย
หลังจากที่กลุ่มทรู เปิดบริการ Co-working Space “TrueSphere” มาครบ 1 ปีแล้ว
ดร.ปพนธ์ รัตนชัยกานนท์ ผู้ช่วยบริหารงานประธานคณะผู้บริหารด้านแบรนด์และการสื่อสาร บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น บอกว่า “ถ้าเราจะทำอะไรลูกค้าในระดับ Fisrt Class มันควรจะเป็นอย่างไรบ้าง” แน่นอนว่า TrueSphere เกิดขึ้นมาจากความต้องการตอบโจทย์ลูกค้าในระดับ Fisrt Class ของ True ซึ่งก็คือลูกค้าในระดับ True Black Card นั่นเอง
การครบรอบ 1 ปีของ TrueSphere ในวันนี้จึงไม่ใช่การจะมาบอกว่า หลังจากนี้การบริการจะพรีเมี่ยมมากขึ้นกว่าเดิม เพราะตลอด 1 ปีที่ผ่านมา ลูกค้า True Black Card ต้องได้รับสิทธินั้นเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว
ในโอกาสครบรอบ 1 ปีในวันนี้ ผู้บริหารทรู บอกว่า “พื้นที่ของ TrueSphere ที่เพิ่มความสุขให้ลูกค้ารายบุคคลมาตลอด 1 ปี หลังจากนี้จะขยายให้ครอบคลุมความต้องการไปยังลูกค้าในระดับองค์กร เป็น SME เป็นสตาร์ทอัพ เราจะมี SME Table รองรับ นอกจากนั้นเรายังมี Watson Analytics ที่เป็นการเก็บข้อมูลและพฤติกรรมของผู้บริโภคเพื่อนำไปต่อยอดทางการตลาดได้อีกด้วย ตอนนี้ลูกค้าที่เป็น SME ของเราก็อยู่ที่ประมาณ 2 แสนราย”
ดร.ปพนธ์ ย้ำชัดว่า พื้นที่ TrueSphere จะต้องเป็นพื้นที่ที่ร่วมสร้างนวัตกรรมให้กับผู้คนที่หลากหลาย โดยเฉพาะกลุ่มที่ทำธุรกิจ ไม่ว่าจะสตาร์ทอัพ หรือ SME ต้องรองรับได้ทั้งหมด ที่สำคัญการนำเอา Watson Analytics มาเป็นส่วนหนึ่งของ TrueSphere เชื่อว่าจะดึงลูกค้าในระดับองค์กรให้เข้ามาใช้บริการได้มากขึ้น
อ่านแผนและกลยุทธ์ของ TrueSphere ต่อจากนี้เป็นต้นไป
“เราเชื่อว่าลูกค้าของเราเดินทางบ่อย ยิ่งถ้าเป็นนักธุรกิจ การเดินทางไปต่างจังหวัด ตามหัวเมืองใหญ่ๆ ทรูต้องการให้ลูกค้าทำธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง มีทั้งพื้นที่ทำงาน มีทั้งบริการที่ดี network ก็ต้องดีด้วย”
ด้วยความเชื่อนี้ ทรูจึงจะขยายสาขา TrueSphere ออกไปตามต่างจังหวัดมากขึ้น โดยในตอนนี้มีอยู่ 8 สาขา อยู่ที่เอ็มควอเทียร์, เซ็นทรัลเฟสติวัล อีสต์วิลล์, เซ็นทรัลพลาซา เวสต์เกต, เมกาบางนา, ฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต, เดอะมอลล์ บางกะปิ, บลูพอร์ต หัวหิน และทรูแบรนดิ้งช้อป สยามพารากอน
แผนขยายสาขาเริ่มต้นจากปีนี้ที่จะเพิ่มให้เป็น 14 สาขา และในปีหน้า 2018 จะต้องมีสาขารวมทั้งหมด 20 สาขาให้ได้
พูดถึงเรื่องการการขยายสาขา แต่ถ้าไม่พูดถึงเรื่องเงินก็คงจะไม่ได้ หลังจากเปิดตัวเลขดูแล้ว พบว่า 8 สาขาแรกที่เปิดไปก่อนนั้น ใช้งบประมาณอยู่ที่ 290 ล้าน (แต่ใช้ไม่หมด ตัวเลขตรงๆ ที่ใช้ไปคือ 180 ล้านบาทเท่านั้น) ส่วนที่จะขยายเพิ่มอีก 6 สาขาเป็น 14 สาขาในปี 2017 ก็จะใช้งบใหญ่ใน 290 ล้านบาทที่ยังใช้ไม่หมดนี้ด้วย แต่ตัวแผนในปี 2018 ที่วางไว้จะเพิ่มอีก 6 สาขาซึ่งจะทำให้ TrueSphere มีสาขาทั้งหมด 20 แห่งนั้น ทรูจะใช้เงินอีกก้อนแยกออกไป โดยได้เปิดตัวเลขมาแล้วที่ 120 ล้านบาท
คิดรวมแบบง่ายๆ TrueSphere ที่จะเกิดขึ้นครบ 20 สาขาทั่วไปในปี 2018 นั้น ใช้เงินรวมๆ แล้วประมาณ 410 ล้านบาท
ส่วนกลยุทธ์การขยายสาขา ทรูบอกว่า จะขยายไปตามหัวเมืองใหญ่ๆ เท่านั้น เป็นต้นว่า เชียงใหม่, ภูเก็ต, หัวหิน และโคราช เพระถ้าขยายออกไปตามพื้นที่ต่างๆ มากเกินไปจะทำให้ความ First Class หายไป มากกว่านั้น การขยายออกไปอย่างชนิดที่เน้นปริมาณ ก็จะไม่ตอบโจทย์ เพราะคนที่ใช้ True Black Card ไม่ใช่ประชากรส่วนใหญ่ของทรู ดังนั้น การขยายสาขาจึงต้องคำนึงถึงว่าในแถบนั้นมีลูกค้า True Black Card มากน้อยเพียงใด
ทำ TrueSphere แล้วได้กำไรไหม? ลูกค้าเพิ่มขึ้นไหม?
แน่นอนว่าคำถามที่จะเจอทั้งทำแล้วได้กำไรบ้างไหม หรือได้ลูกค้าเพิ่มขึ้นบ้างไหม ฐานพล มานะวุฒิเวช ผู้อำนวยการฝ่ายลูกค้าสัมพันธ์และบริหารความสุขลูกค้า บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น ตอบแบบนี้ว่า “กำไรนั้นมีทั้งทางตรงและทางอ้อม แต่ลูกค้าเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ดูได้ลูกค้าทรูการ์ดที่เพิ่มขึ้น ทั้งทรูแบล็คการ์ดที่ตอนนี้อยู่ที่ 3 แสนราย และทรูเรดการ์ดเองก็อยู่ที่ 1.7 ล้านรายแล้ว”
แต่หากย้อนกลับไปปี 2016 ลูกค้า True Black Card ยังมีจำนวนอยู่ที่ 1.7 แสนราย แต่ในปีนี้สามารถเพิ่มมาอยู่ที่ 3 แสนราย นั่นหมายความว่า ลูกค้า True Black Card เพิ่มขึ้นมาถึง 1.3 แสนราย คิดแบบนี้ยอดที่เพิ่มขึ้นเกิน 100% ด้วยซ้ำ ในขณะที่ True Red Card ทรงตัวอยู่ที่ 1.7 ล้านรายอยู่แล้ว
อย่างไรก็ตาม ทรูตั้งเป้าว่าสิ้นปีนี้ True Black Card น่าจะไต่ไปถึง 3.3 แสนราย และ True Red Card จะพุ่งไปถึง 2 ล้านรายได้ แต่ในท้ายที่สุดทรูก็ต้องการผลักให้ลูกค้าขึ้นไปเป็น True Black Card ให้ได้มากที่สุด เพราะค่าใช้จ่ายในการเป็น True Red Card อยู่ที่ประมาณ 2,000 บาทต่อค่าใช้จ่ายเฉลี่ยรอบ 6 เดือน ส่วน True Black Card อยู่ที่ 3,000 บาท ถือว่าจ่ายต่างกันนิดหน่อย แต่สิทธิพิเศษต่างกันมาก
สรุป
ภายใต้การแข่งขันกันในวงการโทรคมนาคมของ 3 เจ้าในตลาดที่ต่างก็ส่งบริการ Network แล้ว ในส่วนการบริการหลังการขายก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญต่อการตัดสินใจของผู้บริโภค ในวันนี้ทรูส่ง TrueSphere มาลงตลาดครบ 1 ปีแล้ว และบอกว่าได้ลูกค้า True Black Card ที่เป็นลูกค้าระดับ First Class เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ แล้วหลังจากนี้ก็มีแผนเปิดสาขาไปทั่วหัวเมืองใหญ่ๆ ในประเทศ ที่น่าสนใจคือต่อจกนี้จะมุ่งตอบโจทย์ลูกค้าองค์กร SME และสตาร์ทอัพด้วยการส่งเสริมเรื่อง Big Data และ IoT มากขึ้น ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร เพราะปัจจุบัน 3 รายในตลาดก็แข่งกันที่จุดนี้อยู่แล้ว แต่ถึงอย่างนั้น เราก็ต้องจับตากันต่อไป โดยเฉพาะทรูที่บอกว่าตัวเองเน้นการให้บริการแบบ Fisrt Class
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา