True ร่วมมืออุทยานแห่งชาติกุยบุรี ใช้เทคโนโลยีแก้ปัญหาความขัดแย้งคน-ช้างป่า

  • เตรียมนำความสำเร็จกุยบุรีโมเดลขยายสู่พื้นที่กลุ่มป่าทั่วไทย
  • โซลูชันเตือนภัยอัจฉริยะ “TSEWS” ลดความเสียหายพืชผลถูกช้างบุกรุกเกือบ 100%

ทรู คอร์ปอเรชั่น จับมือกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช  พร้อมกับ WWF-ประเทศไทย ลุยเดินหน้าโครงการเฝ้าระวังช้างป่าด้วยระบบเตือนภัยล่วงหน้า กับโซลูชัน True Smart Early Warning System (TSEWS) ในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และขยายผลไปยังพื้นที่กลุ่มป่าตะวันออก (ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด) เตรียมวางแผนต่อเนื่องขยายสู่กลุ่มป่าที่ได้รับผลกระทบช้างป่าบุกรุกทั่วประเทศ ทรูเผยนำ “Tech For Good” ไขรหัส Empathy-Insights-Technology สร้างนวัตกรรมเทคโนโลยียกระดับคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน

true

การลดลงของพื้นที่ป่าเพื่อการอยู่อาศัยและเกษตรกรรมส่งผลให้แหล่งอาหารของช้างป่าลดน้อยลง นำไปสู่การที่ช้างป่าออกมาบุกรุกพื้นที่ชุมชนและก่อความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สิน เกิดเป็นปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้าง (Human-Elephant Conflict: HEC) ในหลายประเทศทั่วโลกที่มีช้างป่า

ข้อมูลจากกองทุนระหว่างประเทศเพื่อสวัสดิภาพสัตว์ (IFAW) ระบุว่าแต่ละปีมีช้างป่าเสียชีวิตจากความขัดแย้งนี้ในศรีลังกา 200 ตัว อินเดีย 100 ตัว และเคนยา 120 ตัว ขณะที่มีผู้เสียชีวิตในอินเดียประมาณ 400 คนต่อปี และในเคนยาราว 200 คนระหว่างปี 2553-2560

true

ด้านสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช รายงานว่าภาพรวมของประเทศไทยประสบปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้าง (Human-Elephant Conflict: HEC) โดยพบว่าจำนวนช้างป่ามีอยู่ประมาณ 4,013-4,422 ตัว ซึ่งกระจายอยู่ใน 16 กลุ่มป่า 94 พื้นที่อนุรักษ์ทั่วประเทศ และแนวโน้มมีจำนวนเพิ่มขึ้นแต่พื้นที่ป่าอนุรักษ์มีขนาดเท่าเดิม ส่งผลให้ช้างออกหากินนอกเขตป่า ทั้งนี้ สถิติ 3 ปีล่าสุด (2564-2566) พบช้างป่าออกนอกพื้นที่มากกว่า 37,000 ครั้ง สร้างความเสียหายต่อทรัพย์สินและพืชผลเกษตรกรรวมกว่า 3,800 ครั้ง และที่น่าวิตกคือในช่วง 12 ปี (2555-2567) มีผู้เสียชีวิตถึง 227 ราย บาดเจ็บ 198 ราย จากการบุกรุกของช้างป่า สะท้อนให้เห็นความจำเป็นเร่งด่วนในการหาแนวทางแก้ไขปัญหาการอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับช้างอย่างยั่งยืน

บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ในปี 2561 ได้ร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช และ WWF ประเทศไทย ดำเนินการนำร่องระบบในพื้นที่รอบเขตอุทยานแห่งชาติกุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ นำเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง 5G, 4G และ IOT มาเป็นโซลูชันช่วยจัดการปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้าง หรือ Human-Elephant Conflict (HEC) ผ่านโครงการเฝ้าระวังช้างป่าด้วยระบบเตือนภัยล่วงหน้า หรือ True Smart Early Warning System (TSEWS)

true

วีระ ขุนไชยรักษ์ รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวว่าการแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้าง (Human-Elephant Conflict: HEC) เป็นความท้าทายสำคัญที่ต้องอาศัยการบูรณาการจากทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ องค์กรพัฒนาเอกชน บริษัทเอกชน และชุมชนในพื้นที่ โดยกรมอุทยานฯ ได้ร่วมมือกับบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น และ WWF-ประเทศไทย ในการพัฒนาโครงการระบบเตือนภัยล่วงหน้าซึ่งประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสื่อสารที่ทันสมัยร่วมกับกล้องดักถ่ายภาพอัตโนมัติ (Camera Trap) และแอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟน เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในการเฝ้าระวังช้างป่าในการผลักดันช้างให้กลับสู่ป่าอย่างรวดเร็ว ความร่วมมือนี้ยังเน้นการปกป้องพื้นที่เกษตรกรรมของชุมชนรอบแนวเขตอุทยานแห่งชาติกุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่มีปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่าที่สำคัญแห่งหนึ่งในประเทศ เพื่อลดความสูญเสียทั้งต่อชุมชนและช้างป่า สร้างสมดุลระหว่างการอนุรักษ์และการอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน

ตลอดระยะเวลา 7 ปีของการดำเนินงาน ระบบแจ้งเตือนอัจฉริยะ True Smart Early Warning System (TSEWS) ได้พิสูจน์ประสิทธิภาพในการสนับสนุนภารกิจของเจ้าหน้าที่หน่วยผลักดันช้างป่าอย่างต่อเนื่อง โดยสถิติล่าสุดในปี 2566 แม้พบเหตุการณ์ช้างป่าบุกรุกในพื้นที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรีถึง 1,104 ครั้ง แต่เกิดความเสียหายต่อพืชผลเพียง 4 ครั้ง หรือคิดเป็น 0.36% เท่านั้น นับเป็นพัฒนาการที่ก้าวกระโดดเมื่อเทียบกับปี 2560 ก่อนการติดตั้งโซลูชันที่มีความเสียหายสูงถึง 74.5% สะท้อนให้เห็นว่าระบบแจ้งเตือน TSEWS นี้ ช่วยให้เจ้าหน้าที่สามารถผลักดันช้างกลับคืนสู่ป่าและป้องกันความเสียหายได้อย่างมีประสิทธิภาพเกือบ 100%

true

มนัสส์ มานะวุฒิเวช ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าในฐานะผู้นำด้านโทรคมนาคมและเทคโนโลยีในประเทศไทย ทรูไม่เพียงมุ่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีที่ทันสมัย บนเครือข่าย 5G, 4G และบรอดแบนด์ความเร็วสูงที่ครอบคลุมทั่วประเทศ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลเท่านั้น แต่เรายังให้ความสำคัญกับการนำเทคโนโลยีมายกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ชุมชน และสังคมอย่างยั่งยืน สำหรับโซลูชัน ‘True Smart Early Warning System (TSEWS)’  คือตัวอย่างความสำเร็จของแนวคิด Tech for Good ที่แสดงให้เห็นว่าเทคโนโลยีสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงบวกให้กับสังคมได้อย่างเป็นรูปธรรมในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้าง (Human-Elephant Conflict: HEC) ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่หลายพื้นที่ในโลก

ปัญหาสำคัญของความเสียหายในพื้นที่ที่ถูกช้างป่าบุกรุก คือ การไม่สามารถระบุตำแหน่งและคาดการณ์การเคลื่อนที่ของช้างได้ทันท่วงที ส่งผลให้ช้างป่าบุกรุกเกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของชุมชน เราจึงพัฒนาโซลูชัน ‘True Smart Early Warning System (TSEWS)’ เฝ้าระวังแบบเรียลไทม์ โดยผสานเครือข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงกับกล้องดักถ่ายสัตว์ป่า (Camera Trap) พร้อมระบบวิเคราะห์ภาพอัจฉริยะเพื่อระบุตำแหน่งช้างได้แม่นยำ สู่การลงมือแก้ปัญหาอย่างทันท่วงที และไม่ใช่การปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนและช้างที่เกิดขึ้นในประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังสามารถนำเป็นต้นแบบการจัดการและแบ่งปันความรู้ไปยังพื้นที่ประเทศอื่นๆ ที่ประสบปัญหาเดียวกันได้ด้วย

true

การทำงานของโซลูชัน True Smart Early Warning System (TSEWS) เฝ้าระวังช้างป่ากว่า 400 ตัวในเขตอุทยานแห่งชาติกุยบุรี

  • นำเครือข่ายอัจฉริยะ 4G, 5G ผสานกับเทคโนโลยี AI  และอุปกรณ์ IoT พัฒนาระบบเตือนภัยล่วงหน้า
  • ติดตั้งกล้อง Camera Trap พร้อมซิม เชื่อต่อเครือข่าย เพื่อระบุพิกัด และแจ้งเหตุแบบเรียลไทม์
  • เมื่อกล้องตรวจจับพบช้างออกนอกบริเวณพื้นที่ป่า เริ่มบุกรุก ระบบส่งภาพช้างพร้อมพิกัดแจ้งเตือนไปยังระบบ Cloud
  • ศูนย์ปฏิบัติการควบคุมแจ้งเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการพร้อมโดรนเข้าตรวจสอบ
  • เจ้าหน้าที่ดำเนินการผลักดันช้างกลับเข้าป่า ลดความสูญเสีย

โซลูชันอัจฉริยะ “True Smart Early Warning System (TSEWS)”: นวัตกรรมจาก Tech For Good เพื่อสังคมยั่งยืนด้วย 3 แนวคิดเชิงกลยุทธ์:

1. EMPATHY: เข้าใจชีวิต ใส่ใจทุกมิติ

พัฒนาเทคโนโลยีบนพื้นฐานความเข้าใจความต้องการของทุกชีวิต ทั้งมนุษย์และสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศ ผ่านมุมมองที่เน้นมนุษย์เป็นศูนย์กลาง และการรับฟังความต้องการจากทุกชุมชน

2. INSIGHTS: พลังข้อมูล นำสู่การเปลี่ยนแปลง

ตัดสินใจบนพื้นฐานการวิเคราะห์ข้อมูลแบบองค์รวม โดยบูรณาการข้อมูลจากเครือข่ายพันธมิตรและชุมชน เพื่อพัฒนาโซลูชันที่ตรงจุด

3. TECHNOLOGY: นวัตกรรมเพื่อทุกชีวิต

นำความเชี่ยวชาญด้านโทรคมนาคม ผสาน AI และ Big Data พัฒนาเป็นโซลูชันที่เข้าถึงได้ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา