เรื่องเล่าจากประสบการณ์จริง ทำสตาร์ทอัพที่ไทย vs Silicon Valley: ที่ไหนยากกว่ากัน?

ในช่วงที่ startup กำลังเบ่งบานไปทั่วโลก startup ไทยก็กำลังพยายามสร้าง ecosystem ให้เกิดขึ้นและแข็งแกร่งเหมือนในหลายๆ ประเทศ และเริ่มเกิดคำถามว่า ระหว่างทำ startup ในไทย กับบุกไปทำ startup ที่ต่างประเทศ โดยเฉพาะ Silicon Valley ต้นกำเนิด startup ที่ไหนจะดีกว่ากัน?

Brand Inside ได้รับคอลัมนิสต์พิเศษ มาโนช พฤฒิสถาพร คนไทยที่ไปเรียนต่อปริญญาโท และมีโอกาสเข้าไปทำงาน Credit Karma สตาร์ทอัพ FinTech ที่อเมริกา ปัจจุบันเป็นผู้ก่อตั้ง Fred & Francis สตาร์ทอัพบริการตัดเสื้อสูท จะมาบอกเล่าว่า ทำ startup แต่ละที่แตกต่างกันอย่างไร จากประสบการณ์จริง

มาโนช พฤฒิสถาพร

จุดเริ่มต้นการทำ startup

ผมสนใจ startup เพราะเป็นแนวคิดการทำธุรกิจที่คนตัวเล็กก็มีโอกาสสร้างสิ่งที่มี impact ในวงกว้างได้ startup ตัวแรกในชีวิตที่ผมทำกับทีมที่ซานฟรานซิสโก ชื่อ FitFactory ให้บริการคนอเมริกาให้เข้าถึงสูทสั่งตัดในราคาไม่แพง (สูทสั่งตัดที่อเมริกาแพงมาก)  แต่ทำได้ 6 เดือน ก็ตัดสินใจปิดธุรกิจ กลับเมืองไทยถาวร!

และมาเริ่มตัวที่สองชื่อ Fred & Francis จับกลุ่มคุณผู้ชายที่อยากมีสูทสั่งตัด แต่ไม่มีเวลาเดินทางไปร้านตัดเสื้อ เริ่มต้นทำมาได้กว่า 6 เดือน

มองย้อนกลับไปในช่วงเวลากว่าหนึ่งปีที่ผมได้เป็นผู้ก่อตั้ง startup ต้องยอมรับว่าตัวแรกที่อเมริกาล้มเหลว ตัวที่สองที่ไทยก็ยังไม่สำเร็จ

Fred & Francis

Ideas – ว่าด้วยเรื่องของไอเดีย

ที่ Silicon Valley ไอเดียของการทำ startup คือสิ่งใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นที่ไหนมาก่อน ไอเดียที่ดูน่าจะเป็นไปได้ง่ายถูกทำหมดแล้ว การทำ startup ที่นั่นจึงต้องค้นหาไอเดียที่น่าจะใช่ในเวลาที่น่าจะใช่

ขณะที่ในไทยและประเทศอื่น startup ส่วนใหญ่เป็นสิ่งที่เคยทำและประสบความสำเร็จมาก่อนใน Silicon Valley แล้วนำมาประยุกต์ให้เข้ากับสภาพตลาดและพฤติกรรมของคนท้องถิ่น

สิ่งที่ดีคือ มีตัวอย่างให้เห็นแล้วว่าไอเดียคืออะไร มีวิธีทำเงินอย่างไร และมีโอกาสสำเร็จสูง จุดที่จะชี้วัดคือความสามารถในการลงมือทำ โดยเฉพาะการหาวิธีให้เข้ากับคนไทย ในมุมของ VC แล้ว พวกเขาค่อนข้างชื่นชอบ เพราะมีตัวอย่างให้อ้างอิง

ภาพจาก Pixabay.com

Talents – บุคลากรคือหัวใจสำคัญ

ที่อเมริกาคนสนใจและอยากที่จะลงมาทำ startup เยอะมาก ไม่ใช่แค่คนในสายเทค แต่คนทำงานบริษัทใหญ่ก็สนใจ ปัจจัยที่สำคัญคือที่นั่นมีตัวอย่างของคนที่มาทำ startup เองหรือไปเข้าร่วมกับคนอื่นแล้วรวยเป็นเศรษฐี ซึ่งมีตัวอย่างให้เห็นเยอะมาก

สิ่งที่สามารถแข่งขันดึงดูดคนเก่งให้มาร่วมงานได้ทั้งที่จ่ายได้ไม่เท่าบริษัทใหญ่คือ หุ้น คนที่นั่นตระหนักว่าการทำ startup มีความเสี่ยงมาก แต่ถ้าโชคดีเลือกถูกอัน ก็มีโอกาสจะรวย

Engineer จำนวนมากมีความคิดว่า ทำงาน 20 ปีแล้วเกษียณ เขาสามารถลองทำงานกับ startup ได้ 4-5 ที่ ที่ละ 4-5ปี เวลาพวกเขาเข้าทำงาน พวกเขาจะได้ทั้งเงินเดือนและหุ้น หุ้นที่พวกเขาได้ในสัญญานั้นจะทยอยได้ ต้องอยู่ครบสี่ปีถึงจะได้ครบ พวกเขาหวังว่าใน 4-5ที่ ที่พวกเขาเลือก จะมีสักที่ที่จะประสบความสำเร็จยิ่งใหญ่เป็น Unicorn พันล้าน และพวกเขาจะรวย

ขณะที่ในไทย คนสนใจ startup มากขึ้นเรื่อยๆ แต่ถ้าชวนให้ทิ้งงานรายได้ดีมาทำ น้อยคนนักจะมา เวลาไปคุยแล้วเสนอว่าจะให้หุ้น ก็ไม่น่าดึงดูด เพราะไม่มีตัวอย่างของคนที่มาทำหรือมาร่วมงานแล้วรวยเป็นร้อยล้าน

อีกอย่างที่ทำให้ talents ในไทยขาดแคลนคือ ที่อเมริกา talents มาจากทุกเชื้อชาติ โดยเฉพาะจีนและอินเดีย สัดส่วน software engineer ที่เป็นคนจีนและอินเดียในบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำน่าจะประมาณเกือบครึ่งนึง

ภาพจาก Pixabay.com

นอกจากนี้ที่อเมริกายังมีเวบไซต์ที่เป็นสื่อกลางให้ startup กับคนสนใจสามารถมาทิ้ง profile ไว้ได้และมองหาคนที่ตัวเองชอบโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย นั่นคือ www.angel.co ซึ่งเป็นเว็บที่เกือบทุก startup และคนที่สนใจจะมาสร้าง profile ไว้

ไม่ใช่แค่ talents ทั่วไป แต่ที่ไทยยังขาดแคลน talents ระดับผู้บริหารที่เข้าใจ startup และสามารถบริหารบริษัทเทคโนโลยี

Talents ที่ว่านี้มาจากผู้บริหารระดับ top, middle, and low management ของบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำ บริษัทอย่าง Facebook, Google มีพนักงานเป็นหมื่นคน ผู้บริหารคงมีเป็นหลักพันคน พวกเขาเหล่านี้เข้าใจ startup และเทคโนโลยีเป็นอย่างดี ขณะเดียวกันก็มีทักษะด้านการบริหารคนและการจัดการ

พวกเขาเหล่านี้เป็นประโยชน์มากสำหรับ startup ในระยะเติบโต

อีกกรณีนึงที่พบเห็นบ่อยคือ ผู้ก่อตั้งบริษัทไอเดียดีมาก เจอ product market fit แต่ขาดประสบการณ์ไม่สามารถบริหาร startup ให้โตได้ เพราะจากนี้มันคือความสามารถในการทำให้ธุรกิจโต VC ที่ลงทุนใน startup เหล่านี้ก็จะลดบทบาทผู้ก่อตั้งหรือไล่ออก แล้วเอาผู้บริหารพวกนั้นมาแทน

ขณะที่ในไทย startup ที่มีจำนวนพนักงานเกินหนึ่งพันคนนั้นมีน้อยมากไม่ถึงห้าแห่ง

ความต่างอย่างสุดท้ายคือ Passion ที่ Silicon Valley คุณจะเจอคนจำนวนมากที่แววตาเปี่ยมไปด้วยความมุ่งมั่นอยากเปลี่ยนโลก พวกเขามีความสนใจในเรื่องใดเรื่องนึงอย่างจริงจังและอยากเปลี่ยนโลก พวกเขาทุ่มเทให้กับความฝันความเชื่อของพวกเขา

ภาพจาก Pixabay.com

Capital – การระดมทุน บันไดสู่ความสำเร็จ

จากข่าวบริษัทชั้นนำในไทยเปิด Corporate VC และชมรมที่รวม Angel Investors ผมคิดว่าวันนี้ความง่ายในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนสำหรับ startup ในระยะเริ่มต้นนั้นไม่ต่างจากที่ Silicon Valley

สิ่งที่ต่างคือ เงินลงทุนในรอบหลัง Series A บรรดา startup ไทยที่ระดมทุน Series B หรือ C เกือบทั้งหมดระดมทุนจากนอกประเทศ

อีกอย่างนึงที่เป็นอุปสรรคในการระดมทุนคือ ประเทศไทยมี country discount rate ที่สูง หมายความว่า startup ที่มีผู้ใช้และรายได้ใกล้เคียงกัน ถ้าเป็น startup ไทย มูลค่าบริษัทจะน้อยกว่า startup จากสิงคโปร์

VC ที่ Silicon Valley ส่วนใหญ่เป็น VC ที่ก่อตั้งโดยผู้ประกอบการ startup ที่ประสบความสำเร็จ ไม่ใช่ VC ที่เป็นส่วนหนึ่งของบริษัท ประสบการณ์ของ VC ที่ทำ startup มาก่อนจึงเป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับคนที่กำลังทำ startup อยู่

ภาพจาก Pixabay.com

Competition – แข่งขันหนักเพื่อคัดเลือก

สิ่งที่ทำให้ startup ที่อเมริกากว่า 90% ล้มเหลวคือ การแข่งขันที่รุนแรงมาก ต่อให้เป็นคนแรกที่คิดค้นไอเดียนี้และเอาไปทดสอบตลาดแล้วว่าน่าจะโตได้อีกมาก แต่ถ้าทำช้า ทำการตลาดไม่ถูกต้อง ทำ operations ไม่ดี หรือตัดสินใจเชิงกลยุทธ์พลาด ก็จะพ่ายแพ้ให้กับรายอื่นที่มาทีหลังแต่ทำได้ดีกว่า

ที่อเมริกามีคนอยากทำ startup เยอะมาก หลายคนรอไอเดียอยู่ เมื่อมีรายใหม่ออกโปรดักท์ที่น่าสนใจและเป็นข่าว ภายในสองอาทิตย์จะมีคนทำเลียนแบบ ซึ่งคู่แข่งนั้นส่วนใหญ่มีประสบการณ์อยู่แล้ว เข้าใจ Lean Startup และ Growth Hacking เป็นอย่างดี ทุกที่แข่งกันโตอย่างรวดเร็วเพื่อระดมทุนและเป็นเจ้าตลาด

ไม่ใช่แค่การแข่งขันจาก startup รายใหม่ที่เก่งกาจ ถ้าสิ่งที่ทำน่าสนใจมากๆ บริษัทอย่าง Google, Facebook, Amazon ก็พร้อมที่จะสร้างโปรดักต์คล้ายๆ กันออกสู่ตลาดในเวลาอันรวดเร็ว

ทั้งหมดนี้ทำให้การแข่งขันที่อเมริกาดุเดือดมาก และ กว่า 90% ต้องล้มหายตายจากภายในเวลาหนึ่งหรือสองปี

ย้อนกลับมาดูที่เมืองไทย เรามี vertical ที่แข่งกันดุเดือด มีผู้เล่นเกือบสิบราย เช่น food delivery, on-demand logistics แต่โดยรวมแล้วส่วนใหญ่มีคู่แข่งน้อย เมื่อคู่แข่งน้อย โอกาสอยู่รอดก็สูงขึ้น

ภาพจาก Pixabay.com

Laws & Regulations – กฎหมาย ปัจจัยอยู่รอด

อเมริกาเป็นประเทศที่การจดทะเบียนบริษัทนั้นง่ายมาก สามารถทำออนไลน์ได้ทุกอย่าง และมีกฎหมายที่ส่งเสริมและปกป้องสิทธิผู้ใช้ที่เข้มแข็ง โดยเฉพาะกฎหมายด้านการเก็บและเปิดเผยข้อมูลลูกค้าที่เข้มงวดมาก

ประเทศไทยมีความพยายาม แต่ยังมีกฎหมายอีกมากที่ยังต้องแก้ไขเพื่อให้สอดคล้องกับการทำธุรกิจแบบ startup โดยเฉพาะการให้หุ้นกับผู้ร่วมก่อตั้งและพนักงานที่จะทยอยให้ทุกเดือนจนครบสี่ปีหรือระยะเวลาที่กำหนดไว้ ซึ่งปัจจุบันกฎหมายไทยยังไม่รับรอง เป็นเพียงสัญญาใจระหว่างผู้ก่อตั้งกับพนักงาน

อีกสิ่งหนึ่งที่เป็นอุปสรรคคือ การยืนยันตัวตนผู้ใช้เวลาทำธุรกรรมสำคัญ ที่ไม่ใช่แค่ password และเลขรหัสด้านหลังบัตรเครดิต ในอเมริกานั้นสามารถทำผ่านออนไลน์ได้ วิธีที่ startup ใช้ในการยืนยันว่าเราเป็นคนชื่อนี้จริงๆ คือ ถามคำถามออนไลน์เกี่ยวกับข้อมูลส่วนตัวเรา เช่น ที่อยู่เก่า

ขณะที่ในประเทศไทย ธุรกรรมหลายอย่างโดยเฉพาะด้านการเงินยังต้องใช้สำเนาบัตรประชาชน

ภาพจาก pixabay.com

Market & Users – ขยายตลาดได้ก็ชนะ

ขนาดตลาดและความสามารถในการทำซ้ำเพื่อให้โตได้อย่างรวดเร็วเป็นปัจจัยสำคัญที่ต้องคำนึงถึง ทั้งสองอย่างเป็นข้อด้อยของการทำ startup ที่ไทย ที่อเมริกาเมื่อทดสอบตลาดและทำสำเร็จในเมืองนึง พวกเขาสามารถใช้วิธีเดียวกันในการขยายไปยังเมืองต่างๆ ทั่วอเมริกา

ขณะที่ startup ไทย เมื่อชนะตลาดในกทมแล้ว พวกเขาจะเจออุปสรรคใหญ่ในการทำซ้ำ จังหวัดอื่นมีขนาดตลาดที่เล็กมาก ถ้าจะขยายไปประเทศอื่นในภูมิภาคนี้ก็แทบจะต้องเริ่มใหม่กันเลย ภาษา วัฒนธรรม และกฎระเบียบนั้นต่างกันมาก

นอกจากนี้ซานฟรานซิสโกได้ชื่อว่าเป็นเมืองที่เป็นมิตรกับ startup มากที่สุดเมืองนึง ผู้คนส่วนใหญ่ในเมืองนี้พร้อมจะทดลองใช้แอปใหม่ พวกเขาชอบเทคโนโลยี

ขณะที่คนไทยค่อนข้างเปิดรับเทคโนโลยี เราเป็นหนึ่งในประเทศที่ติด Facebook เป็นอย่างมาก อุปสรรคหนึ่งของ startup ไทยคือ คนไทยคุ้นเคยกับของฟรี เป็นความท้าทายด้านโมเดลธุรกิจ B2C

Photo: Pexels

Marketing – ทำตลาดออนไลน์ เครื่องมือทรงพลัง

ผมจะพูดถึงเฉพาะ online marketing ที่อเมริกานั้น คนจะใช้ social media ที่หลากหลาย ทั้ง Facebook, Twitter, Instagram, Snapchat, YouTube และใช้อีเมลกันทุกคน การทำ online marketing จึงต้องเลือกสื่อที่จะใช้ให้ดี ส่วนคนไทยนั้นใช้เวลากับ Facebook มากกว่าโซเชียลมีเดียอื่นหลายเท่า

ความสมบูรณ์ของข้อมูลเวลายิงแอดก็ต่างกัน Facebook ที่อเมริกานั้นมีข้อมูลของผู้ใช้แต่ละคนลึกมากจากการลงทุนซื้อข้อมูลจากแหล่งอื่น รวมถึงรายได้ของผู้ใช้ซึ่งเป็นข้อมูลที่มีค่ามากในการทำการตลาด ทำให้ startup สามารถโชว์โฆษณาตรงกลุ่มเป้าหมาย ขณะที่การเลือกกลุ่มเป้าหมายสำหรับผู้ใช้คนไทยนั้นข้อมูลมีจำกัด อีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้การเลือกกลุ่มเป้าหมายไม่ตรงคือ Interest ซึ่ง Facebook เก็บข้อมูลจาก Facebook Page ที่เรากด Like พอเป็นภาษาไทยแล้ว Interest อาจจะคลาดเคลื่อนได้

ภาพจาก Startup Thailand

Environment – ปัจจัยแวดล้อมส่งเสริม

คนที่อยู่ในบริษัท startup และเทคโนโลยีน่าจะเป็นจำนวนไม่น้อยเกิน 10% ของคนซานฟรานซิสโก ด้วยคนสนใจ startup จำนวนมากและคนที่ทำ startup แล้วประสบความสำเร็จก็เยอะ ซานฟรานซิสโกจึงมี Event ให้ไปนั่งฟังได้ทุกวันทั้งฟรีและไม่ฟรี และมีคอร์สสอน startup ฟรีบนออนไลน์เป็นจำนวนมาก

ขณะที่เมืองไทยนั้น ถึงคนจะสนใจเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงสองสามปีนี้ แต่ก็ยังไม่ได้เยอะขนาดว่าจะมีงานทุกอาทิตย์

Conclusion – บทสรุป

ตลาด startup เมืองไทยอยู่ในระยะเพิ่งเริ่มต้น ถึงจะมีอุปสรรคด้านผู้ใช้ บุคลากร และกฎหมาย แต่ก็ยังมีโอกาสอีกมากให้ startup หน้าใหม่ได้เติบโต การแก้กฎระเบียบ และ การมีตัวอย่างของผู้ก่อตั้งและพนักงานที่มาร่วมงานในระยะเริ่มต้นแล้วรวย สองสิ่งนี้จะช่วยปลดล็อคให้ ecosystem ของ startup ไทยเติบโตได้เร็วขึ้น

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา