AIS และ dtac ตบเท้าเข้าร่วม 1800MHz ส่วน True ถอยทัพไม่ประมูล

บทสรุปของการเข้าประมูลคลื่น ซึ่งคลื่น 1800 MHz เป็นที่สนใจของ AIS และ dtac ส่วน True ประกาศไม่เข้าร่วมประมูลเนื่องจากมองว่าคลื่นเพียงพอแล้ว แต่ปัญหาใหญ่ในการประมูลครั้งนี้คือเงื่อนไขของ กสทช. นั่นเอง

ais, dtac, true

ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือในไทยทั้ง dtac และ AIS ประกาศเข้าร่วมประมูลคลื่น 1800​ MHz แต่ไม่เข้าร่วมประมูลคลื่น 900 MHz ส่วนทางด้าน True ไม่เข้าร่วมประมูลทั้ง 2 คลื่น

สำหรับคลื่น 1800 MHz ที่ กสทช. จัดให้มีการประมูลจะแบ่งออกเป็น 9 ช่วงความถี่ ใบอนุญาตละ 5 MHz ผู้เข้าร่วมประมูลสามารถประมูลได้สูงสุด 4 ใบหรือ 20 MHz ราคาเริ่มต้นการประมูลอยู่ที่ 12,486 ล้านบาท ราคาเพิ่มขึ้นครั้งละ 25 ล้านบาท

ขณะที่คลื่น 900 MHz ถูกนำมาประมูล 5 MHz ราคาเริ่มต้นการประมูล 35,988 ล้านบาท เคาะราคาเพิ่มขึ้นครั้งละ 72 ล้านบาท หากมีผู้เข้าประมูลรายเดียว ผู้เข้าประมูลจะต้องเคาะเสนอราคาอย่างน้อย 1 ครั้ง

กลุ่มทรูฯ ไม่เข้าประมูลแน่นอน

บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น ได้ส่งเอกสารแจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เรื่องการไม่เข้าร่วมประมูลคลื่นความถี่ย่าน  900MHz และ 1800MHz บริษัทระบุว่า คณะผู้บริหารได้พิจารณาแล้วมีความเห็นว่า บริษัทฯ ไม่ควรเข้าร่วมการประมูลใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมย่าน 900MHz และ 1800MHz ที่จะจัดโดย กสทช.  ในวันที่ 18-19 สิงหาคม 2561 ย้ำบริษัทฯ ได้พิจารณาอย่างรอบคอบและคำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดของลูกค้าและนักลงทุน

กลุ่มทรูฯ มองว่าปัจจุบันคลื่นความถี่ที่ทรูมูฟ เอช มีอยู่ในปัจจุบันมีถึง 55 MHz ยังมากเพียงพอที่จะรองรับจำนวนลูกค้าที่จะเติบโตเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวในอนาคต นอกจากนั้นสภาพทางการเงินของบริษัทถ้าหากเข้าประมูลคลื่นอีกรอบอาจต้องทำให้กลุ่มทรูต้องทำการเพิ่มทุนอีกครั้ง

dtac ยื่นประมูลคลื่น 1800 MHz ไม่ร่วมประมูลคลื่น 900 MHz

สำหรับ dtac นั้นคณะกรรมการบริษัทมีมติเห็นชอบยื่นคำขอเพื่อเข้าร่วมประมูลใบอนุญาตคลื่น 1800 MHz แต่ไม่เข้าร่วมประมูลคลื่น 900 MHz โดยพิจารณากฎเกณฑ์การประมูลอย่างถี่ถ้วนและมีผลสรุปจะที่ยื่นเอกสารเพื่อเข้าร่วมประมูลคลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมย่าน 1800MHz หลังจากที่ กสทช. ได้ประกาศปรับเงื่อนไขกฎเกณฑ์การประมูลคลื่น 1800MHz ให้มีความยืดหยุ่นสำหรับผู้เข้าประมูล

ส่วนเหตุผลที่ dtac ไม่เข้าร่วมประมูลคลื่น 900MHz เนื่องจากเงื่อนไขของ กสทช. ระบุเพิ่มเติมในประกาศหลักเกณฑ์การประมูลคลื่นความถี่ดังกล่าวที่ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม ระบุให้ผู้ชนะการประมูลใบอนุญาตคลื่น 900MHz จะต้องมีหน้าที่รับผิดชอบในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการรบกวนกันของคลื่นความถี่และการรบกวนระบบอาณัติสัญญาณของระบบคมนาคมขนส่งทางรางทั้งหมดที่จะสร้างขึ้นต่อไปในอนาคตแต่เพียงผู้เดียว นอกจากนี้ กสทช. ยังขอสงวนสิทธิ์ที่จะปรับเปลี่ยนการใช้คลื่นความถี่เป็นช่วง 885-890/930-935 MHz ในกรณีที่จำเป็น ทำให้เกิดความเสี่ยงและความไม่แน่นอนของการดำเนินงานถ้าหาก dtac เป็นผู้ชนะในคลื่น 900MHz

AIS ยื่นประมูลคลื่น 1800 MHz แต่ไม่ร่วมประมูลคลื่น 900 MHz

สำหรับรายสุดท้ายอย่าง AIS ได้ประกาศว่าจะเข้าร่วมประมูลคลื่น 1800 MHz แต่ไม่ร่วมประมูลคลื่น 900 MHz  โดย วีรวัฒน์ เกียรติพงษ์ถาวร หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านธุรกิจสัมพันธ์และองค์กร บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส หรือเอไอเอส กล่าวว่า บริษัทฯ ได้ตัดสินใจให้ AWN ซึ่งเป็นบริษัทในเครือเข้าร่วมประมูลใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมย่าน 1800 MHz แต่จะไม่เข้าร่วมประมูลคลื่น 900 MHz

เหตุผลที่ AIS เข้าร่วมประมูลคลื่น 1800 MHz เนื่องจากมองเห็นอนาคตการเติบโตของตลาดโทรคมนาคม โดยบริษัทฯ จะมีโอกาสในการใช้คลื่นความถี่ไปพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลใหม่ๆเพื่อให้บริการลูกค้า

กสทช. อาจต้องพิจารณาเงื่อนไขใหม่

สำหรับการเข้าประมูลคลื่น 1800 MHz ของทั้ง AIS และ dtac ทาง Brand Inside คาดว่าจะมีการประมูลไม่เกิน 3 ใบอนุญาต สำหรับการประมูลในครั้งนี้เพื่อนำไปให้บริการลูกค้า 2G โดยเฉพาะ dtac ที่ไม่มีช่วงคลื่นให้บริการสำหรับลูกค้าเหล่านี้ ส่วน AIS นั้นน่าจะเอาไว้เติมเต็มการให้บริการ 4G LTE เป็นพิเศษ

แต่การที่เหลือคลื่นอีก 30 MHz หรือ 6 ใบอนุญาต สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการกำหนดราคาเริ่มต้นของ กสทช. ที่สูงมาก โดยบทวิเคราะห์จากต่างประเทศหลายๆ แห่งได้วิเคราะห์ว่าประเทศไทยมีราคาคลื่นเมื่อเทียบกับทั่วโลกแล้วถือว่าสูงมาก

แม้ กสทช. จะหวังให้เป็นรายได้ของประเทศ แต่สุดท้ายไม่มีผู้เข้าร่วมประมูล ส่งผลให้คลื่นความถี่ไม่ถูกนำไปใช้งาน ต้องปล่อยทิ้งไว้

ส่วนคลื่น 900 MHz ยิ่งไม่มีรายไหนสนใจ เพราะว่าเงื่อนไขหยุมหยิมของ กสทช. ที่ถือว่าไม่คุ้มค่ากับคลื่น 5 MHz นี้เลย

หลังจากนี้ กสทช. อาจต้องพิจารณาเงื่อนไขในการประมูลคลื่นใหม่ เพื่อให้ได้ประโยชน์ทั้งประชาชนผู้ใช้บริการ และประเทศต้องมีการพัฒนา มีรายได้เข้าประเทศที่เหมาะสม

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

mm
Content Writer ที่สนใจในเรื่องของตลาดทุนทั้งในและต่างประเทศ กลุ่ม TMT (Technology, Media, Telecom) การควบรวมกิจการ (M&A) นโยบายทางเศรษฐกิจของไทยและต่างประเทศ รวมถึงสิ่งละอันพันละน้อยทางธุรกิจที่น่าสนใจ