ทรู ยก “เฉิงตู” ต้นแบบ 5G พร้อมยกระดับความร่วมมือ China Mobile ปู 5G ในไทย

“เฉิงตู” (Chengdu) ตั้งอยู่ในมณฑลเสฉวน เป็นอีกหนึ่งเมืองที่สำคัญของสาธารณรัฐประชาชนจีน ล่าสุด ได้เป็น เมืองที่มีประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจสูงสุดของจีนปัจจุบัน และมีสภาพภูมิประเทศที่คล้ายคลึงกับไทย มากอีกแห่งหนึ่ง ด้วยทั้งเรื่องของขนาดพื้นที่ จำนวนประชากร รวมถึงสภาพภูมิประเทศ ทำให้ ทรู นำคณะสื่อมวลชน ไปร่วมการทดสอบใช้งาน 5G จากผู้ให้บริการ China Mobile ที่เริ่มเปิดทดลองใช้งานจริงในเชิงพานิชย์ ก่อนที่จะเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการในปี 2563 

China Mobile คือพันธมิตรที่แท้ทรู

เมื่อปี 2557 China Mobile ได้เข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับ ทรู ด้วยการเข้าไปลงทุนด้วยการซื้อหุ้น 18% โดยใช้เม็ดเงินเกือบ 30,000 ล้านบาท ซี่ง China Mobile ถือเป็นผู้ให้บริการรายใหญที่สุดในประเทศจีน ครองส่วนแบ่งการตลาดกว่า 70% มีผู้ใช้งานกว่า 900 ล้านหมายเลข เสาสัญญาณให้บริการมากกว่า 2.4 ล้านเสากระจายทั่วประเทศ 

สิ่งที่ทรูได้รับจากการเป็นพันธมิตรกับทาง China Mobile คือ การได้รับประสบการณ์ ทั้งเรื่องของการวางระบบเครือข่ายและเทคโนโลยี 5G ที่ตอนนี้ได้เริ่มเปิดทดลองให้บริการจริงในหลายมณฑลแล้ว รวมถึงประสบการณ์การให้บริการ ทั้งภาคอุตสาหกรรม และลูกค้ากลุ่มบุคคล ตลอดจนไปยังการฝึกอบรมที่ทางทรูจะได้ทีมงาน China Mobile เข้ามาประจำที่ทรู สำนักงานกรุงเทพฯ

ที่สำคัญ ยังได้รับการสนับสนุนการต่อรองด้านต่างๆ ในด้านธุรกิจ ที่จะสามารถให้ทรู ได้ผลประโยชน์จากราคาอุปกรณ์ต่างๆ รวมถึงระบบเครือข่ายที่ในราคาถูกกว่าท้องตลาดอีกด้วย

ระบบ 5G ที่จีน และทำไมไทยต้องถอดบทเรียน

สำหรับเครือข่าย 5G ในจีนนั้น ได้ใช้คลื่น 2600 MHz เช่นเดียวกับในไทยที่ กสทช. เตรียมนำคลื่นมาให้ประมูลในปี 2563 จึงทำให้จีนและไทย มีการใช้คลื่นความถี่เดียวกันในการให้บริการ 5G และยังมีปัจจัยอื่นๆ ทั้ง เฉิงตู ยังเป็นเมืองที่มีความใกล้เคียงกับไทย ด้วยจำนวนประชากรที่มีกว่า 55 ล้านคน สภาพพื้นที่เป็นพื้นราบ มีภูมิภาพเป็นแอ่งกระทะเล็กน้อย เลยทำให้ทรู เลือกที่นำกรณีศึกษาของ China Mobile และยกตัวอย่างการให้การทดลองการให้บริการ 5G เชิงพาณิชย์ที่เมืองเฉิงตู เป็นเมืองต้นแบบที่นำมาปรับใช้การให้บริการ 5G ในไทย ซึ่งช่วยลดทอนเวลาการศึกษา และการวิเคราะห์ได้อีกมหาศาล

สำหรับการจัดสรรคลื่นความถี่นั้น รัฐบาลจีน ได้ให้ผู้บริการ 3 เครือข่าย นำไปคลื่นความถี่ไปทดลองให้บริการ 5G โดย China Telecom และ China Unicom ได้คลื่นความถี่ย่าน 3500MHz และ China Mobile ได้คลื่นความถี่ 2600MHz และ 4900MHz ซึ่งทาง China Mobile ได้ใช้คลื่น 2600MHz ในการทดลองการให้บริการจำนวน 100MHz ในเมืองเฉิงตู โดยได้ปูพรมเสาสัญญาณ 5G ไปแล้วกว่า 3,000 สถานีฐาน ลงในสถานที่ที่มีการใช้งานหนาแน่นมากๆ ทั้งห้างสรรพสินค้า สถานศึกษา แหล่งชุมชนต่างๆ รวมถึงสถานีรถไฟฟ้าสายสำคัญๆ 

คลื่น 4G ทาง China Mobile เองก็ไม่ได้ละทิ้ง หรือลดความสำคัญลงแต่อย่างใด ในปัจจุบันมีเสาสัญญาณ 4G กว่า 160,000 สถานีฐาน โดยยังให้บริการในพิ้นที่ที่มีการเดิม พื้นที่ที่ใช้งานไม่หนาแน่น พื้นที่ชั้นรอง โดยเป็นการให้บริการเสริมในพื้นที่ที่ 5G ยังไม่มีให้บริการ หรือเป็นช่วงรอยต่อ

โชว์ 5G สุดล้ำ ในสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน ความเร็วสูงสุด 800Mbps

สำหรับการให้บริการ 5G ในสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินต้นแบบที่ทาง China Mobile ได้ติดตั้งเครือข่าย 5G ในเส้นทาง Line 10 (Chengdu Metro) ตั้งแต่สถานี Taipingyuan ถึง Terminal 2 of Shuangliu International Airport จำนวน 6 สถานี ระยะทางรวม 13 กิโลเมตร ถือว่าเป็นการให้บริการในสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน ในระยะทางที่ไกลที่สุดของโลกด้วย 

เมื่อทดสอบความเร็ว 5G ด้วย Huawei Mate 20 X 5G ที่หน้าสถานี Taipingyuan ซึ่งสถานีฐาน 5G ที่ให้บริการเป็น Outdoor เฉลี่ยความเร็วที่ได้ ประมาณ 300-500Mbps แต่เมื่อลงไปในตัวสถานี Taipingyuan แล้ว สถานีฐานที่ให้บริการ 5G เป็น Indoor ให้ความเร็วเฉลี่ยที่ 700-800Mbps ซึ่งหากเทียบกับความเร็ว 5G 2600MHz แบนวิธ 100MHz ที่ทำการทดลองในแล็บได้ประมาณ 1000Mbps ซึ่งถือว่าแตกต่างในทางปฎิบัติน้อยมาก สำหรับการอัพโหลด ได้ประมาณ 60-80Mbps 

ระหว่างรถไฟฟ้าเคลื่อนที่ไปยังสถานีต่างๆ ได้ทำการทดสอบความเร็ว ผลความเร็วที่ได้ประมาณ 600-700Mbps และการอัพโหลดได้ประมาณ 50-60Mbps ทีมงานได้ทำการทดสอบหลายๆ ครั้ง และได้ความเร็วเฉลี่ยคงที่ ถือว่ามีความเสถียรของระบบ 5G ที่ให้บริการระหว่างการเคลื่อนที่ความเร็วสูงเป็นอย่างดี 

ดร. นริศ รังษีนพมาศ ที่ปรึกษาด้านเทคนิค บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ให้ความเห็นในการทดสอบครั้งนี้ว่า “ความยากของการให้บริการเครือข่าย 5G ในเส้นสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน คือการวางเครือข่าย 5G แบบสายสัญญาณตลอดความยาวของเส้นรถไฟฟ้า 13 กิโลเมตร อีกทั้งรถไฟฟ้าเคลื่อนที่ด้วยความเร็วสูง การให้บริการ 5G ด้วยความเร็วประมาณ 500-700Mbps และมีความเสถียรมากขนาดนี้ ทั้งนี้ความร่วมมือในการพัฒนาของ China Mobile และ Huawei จะะเป็นผลที่ดีกับทรู ที่ลดขั้นตอนในการปรับจูน การวางระบบเครือข่าย และได้นำกรณีศึกษาต่างๆ ไปพัฒนาการวางระบบที่ไทยได้อย่างรวดเร็ว”

รัฐบาลจีนสนับสนุนใบอนุญาต เอื้อโอเปอเรเตอร์ลงทุน 5G

สำหรับต้นทุนการให้บริการ 5G ของจีนส่วนใหญ่นั้น ไม่ใช่ค่าประมูลใบอนุญาต เหมือนบางประเทศ แต่เป็นการลงทุนกับจำนวนสถานีฐาน เพราะรัฐบาลจีนสนับสนุนคลื่นความถี่ที่นำไปให้บริการ 5G โดยเก็บค่าใบอนุญาตที่ต่ำมาก เพราะรัฐบาลจีน ได้จัดสรรคลื่นความถี่ และการให้บริการ กับผู้ให้บริการทั้ง 3 ราย 

“รัฐบาลจีนมองว่า การสนับสนุนคลื่นความถี่ ก่อให้เกิดการเร่งการพัฒนา และขีดความสามารถทางด้านเทคโนโลยี ให้เติบโต และล้ำหน้าได้รวดเร็ว ทำให้ภาคเอกชนสามารถลงทุนไปกับการวิจัย พัฒนาอุปกรณ์ต่างๆ รวมถึงการวางเครือข่ายให้ครอบคลุม ให้เกิดการเข้าถึงของ 5G ในทุกภาคอุตสาหกรรม และต่อยอดต่อระบบเศรษฐกิจได้อย่างมหาศาล”

เครือข่าย 5G บนคลื่นความถี่ 2600MHz ใน 1 สถานีฐานนั้น จะให้บริการด้วยคุณภาพสัญญาณที่ดี บนพื้นที่โล่งได้ประมาณ 500-700 เมตรเท่านั้น ต่างจากเครือข่าย 4G ที่กระจายสัญญาณได้ไกลกว่า และยิ่งหากเป็นคลื่นความถี่สูง 26GHz การส่งสัญญาณในที่โล่งจะกระจายคลื่นในที่ราบได้เพียง 300 เมตรเท่านั้น ทำให้การวางเครือข่าย 5G นั้น มีต้นทุนอุปกรณ์เพียงอย่างเดียวประมาณ 3 ล้านบาทต่อ 1 สถานีฐาน 

จากข้อมูล “อุปสรรคความท้าทายและข้อเสนอแนะเชิงนโยบายของ 5G” โดย กสทช. กล่าวถึงตอนหนึ่งว่า ผลการศึกษาของหน่วยงานด้านการลงทุนของ UBS ประมาณการไว้ว่าเสาส่งสัญญาณของ 5G ในคลื่นความถี่สูงนั้นจะมีรัศมีน้อยกว่าเสาสัญญาณ 4G ถึง 8 เท่า หรือเทียบเป็นการลงทุนจะเห็นได้ว่าจำนวนเสาสัญญาณที่จะทำให้ 5G มีพื้นที่ครอบคลุมเทียบเท่า 4G นั้นต้องใช้มากกว่าถึง 64 เท่าเลยทีเดียว 

“ในผลการศึกษาของ ITU ก็บ่งชี้ไปในทิศทางเดียวกัน โดยรายงานดังกล่าวประมาณว่าการติดตั้งสถานีเสาสัญญาณนั้นจะมีค่าใช้จ่ายที่สูงถึงประมาณ 20,000 – 50,000 USD หรือ 600,000 – 1,500,000 บาทนั้นการประมาณการคร่าวๆ ในที่นี้แสดงให้เห็นถึงภาระอันหนักอึ้งของค่าใช้จ่ายการสร้างโครงข่าย 5G ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ”

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา