ในการประชุมผู้ถือหุ้นกลุ่มบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น หรือ True ศุภชัย เจียรวนนท์ ได้นำทีมผู้บริหารมาตอบคำคำถามคาใจและข้อสงสัย รวมถึงธุรกิจของ True ในปีนี้ ว่าจะสร้างผลกำไรให้เกิดขึ้นกับธุรกิจได้หรือไม่ ท่ามกลางความเปลี่ยนในหลายเรื่อง
เรื่องที่ได้รับความสนใจอย่างมาก เช่น การสูญเสียช่องหนัง HBO เมื่อสิ้นปีที่ผ่านมา, การสิ้นสุดสัญญาสัมปทานโทรศัพท์พื้นฐาน นำไปสู่การลงทุนโครงข่ายบรอดแบนด์ใหม่ทั้งหมด หรือการจ่ายเงินค่าประมูลคลื่นความถี่ที่มียอดชำระรวม 1.2 แสนล้านบาท และการเตรียมประมูลคลื่นความถี่ใหม่ ที่จะเกิดขึ้นในปี 2561 ทั้งหมดมีคำตอบที่นี่
HBO ไม่ต่อสัญญา เหตุเจรจาไม่ลงตัว-ลดต้นทุนคอนเทนต์
ศุภชัย ยอมรับว่า การที่ HBO ไม่ต่อสัญญานั้น ทาง True ได้พยายามเจรจาขอลดจำนวนช่องลงเพื่อลดต้นทุนด้านคอนเทนต์ โดย True ต้องการ HBO HD เพียงช่องเดียว แต่ HBO ต้องการขายทั้ง 6 ช่อง เมื่อการเจรจาไม่ประสบผล ทาง True ได้ขอต่อเวลาในการเจรจาไปอีก 1 ไตรมาส (ม.ค.-มี.ค. 60) แต่ HBO ปฏิเสธที่จะต่อเวลาการเจรจาทำให้ สัญญาสิ้นสุดลงเมื่อสิ้นปี 59 ที่ผ่านมา
การยกเลิกสัญญากับ HBO ทำให้ True ลดต้นทุนคอนเทนต์ได้กว่า 500 ล้านบาทต่อปี ขณะที่ได้ทำสัญญาเพื่อถ่ายทอดการแข่งขันฟุตบอล EPL พรีเมียร์ลีกอังกฤษ โดยมีต้นทุนปีละ 1,200 ล้านบาทเข้ามาแทน แต่ก็ถือว่าได้ราคาที่ดี ขณะที่ทาง beIN SPORTS ของกาต้า ชนะการประมูลจ่ายประมาณ 4,000 ล้านบาทต่อปีให้กับ EPL
อย่างไรก็ตาม True ยังคงเจรจากับ HBO อยู่ตลอดเพื่อขอสัญญาช่อง HBO HD (ช่องเดียว) ดังนั้นก็ยังมีความเป็นไปได้ที่จะเห็น HBO กลับมา
Social Media คู่แข่งใหม่ที่น่ากลัว
สำหรับผู้ใช้โทรศัพท์มือถือที่เป็นคนรุ่นใหม่เดี๋ยวนี้บางทีแทบไม่ขอเบอร์โทรศัพท์กันแล้ว เพราะแค่มี LINE หรือ Facebook ก็กดโทรหากันได้ทันที และนั่นทำให้ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือหรือ Operator ทั่วโลกมีคู่แข่งใหม่
ศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะกรรมการบริหาร True บอกว่า รูปแบบการแข่งขันที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ คือ Operator ทั่วโลกต้องระวังว่าทำอย่างไรจะไม่เสียลูกค้าให้กับผู้ให้บริการ Social Media ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่ให้บริการบนโครงข่ายของผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถืออีกทีนึง แต่สามารถสร้างรายได้อย่างมหาศาล
“Apple มีแนวนโยบายที่จะผลิตสมาร์ทโฟนที่ไม่ต้องใส่ซิมอีกต่อไป พลังของบริษัทข้ามชาติแข็งแกร่งมาก เป็นเรื่องที่ Operator ต้องปรับตัวอย่างหนัก”
สำหรับ True กลยุทธ์สำคัญคือการให้บริการแบบคอนเวอร์เจนซ์ โดยปีที่ผ่านมามีฐานลูกค้าเกือบ 2 ล้านราย โดยเกือบครึ่งใช้ 3 บริการหลักของ True คือ TrueMove H, True Online และ TrueVisions ถือเป็นกลยุทธ์ที่ใช้ขยายฐานลูกค้าและสร้างความผูกพันกับบริการ และยังมียุทธวิธีอื่นๆ ที่ไม่สามารถเปิดเผยได้อีก
เล็งขอผ่อนชำระค่าประมูลคลื่น 1.2 แสนล้าน-อาจไม่ร่วมประมูลคลื่น dtac
ในการประมูลคลื่นความถี่ 900 และ 1800MHz ซึ่ง True ชนะมาทั้ง 2 การประมูลโดยคลื่น 900 มูลค่า 76,298 ล้านบาท และคลื่น 1800 มูลค่า 39,792 ล้านบาท รวมมูลค่าประมาณ 1.2 แสนล้านบาท
ศุภชัย บอกว่า กสทช. มีการขยายระยะเวลาผ่อนชำระค่าคลื่นความถี่ให้กับ ผู้ให้บริการทีวีดิจิทัล ดังนั้นทางออกที่ดีที่สุดคือ True จะขอขยายระยะเวลาผ่อนชำระจาก กสทช. เช่นเดียวกัน แต่ถ้าจำเป็นต้องจ่ายตามเงื่อนไขเดิม ก็สามารถทำได้เพราะมีการลงบัญชีไว้แล้ว ถ้าต้องจ่ายเป็นเงินสด สามารถออกหุ้นกู้ (บอนด์) เพิ่มเติม หรือขายสินทรัพย์ให้กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน TRUEIF หรือ DIF ก็สามารถทำได้
สำหรับการผ่อนชำระค่าคลื่นความถี่ให้กับ กสทช. อธิบายให้ง่ายคือ แบ่งเป็น 4 งวด โดน 3 งวดแรกจะจ่ายเป็นจำนวนเงิน 50% 25% 25% ของราคาตั้งต้นการประมูล (สรุปคือจ่าย 16,080 ล้านบาท) และงวดที่ 4 จะจ่ายส่วนที่เหลือทั้งหมด ซึ่ง กสทช. เคยให้เหตุผลว่า ผู้ให้บริการที่ชนะการประมูลต้องมีเวลาช่วงแรกในการลงทุนโครงข่ายและให้บริการ การชำระเงินส่วนที่เหลือในงวดที่ 4 จะไม่เป็นภาระจนเกินไป
ขณะที่คลื่นความถี่ 1800 ของ dtac 45MHz ที่จะหมดสัญญาสัมปทานในวันที่ 30 ก.ย. 2561 คาดว่าจะแบ่งเป็น 3 slot (slot ละ 15MHz) True ขอดูก่อนว่าคลื่นที่มีอยู่เพียงพอใช้งานหรือไม่ ถ้าพอก็ไม่จำเป็นต้องเข้าร่วมประมูลอีก ซึ่ง กสทช. ยืนยันว่าคลื่น 1800 ใหม่จะเริ่มประมูลไม่ต่ำกว่าราคาเดิม หรือประมาณ 40,000 ล้านบาทต่อ slot ดังนั้นราคาต้องไม่ต่ำกว่านี้
ส่วนคลื่น 2300MHz ขอดูราคาและเงื่อนไขก่อน
TrueMoney + Alipay รุกตลาดอาเซียน
ความร่วมมือระหว่าง TrueMoney และ Alipay เพื่อให้บริการทางการเงินระดับ Nano Financing หรือสินเชื่อรายย่อย ต้องยอมรับว่าในประเทศไทยส่วนใหญ่ธนาคารพาณิชย์สามารถเข้าถึงได้ง่าย และมีบริการระดับ Under Bank อยู่ประมาณ 30% และมีบริการบัตรเครดิต บัตรเงินสด ลงไปให้บริการมากแล้ว
ดังนั้นแนวทางการทำธุรกิจ Nano Financing ของ TrueMoney จะเน้นรุกตลาดอาเซียนมากกว่า โดยเฉพาะประเทศอินโดนีเซีย, ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม ที่มีระดับการใช้ Under Bank ประมาณ 60-70% ธนาคารยังเข้าไปไม่ถึง โอกาสทางธุรกิจยังมีอยู่มาก
ลงทุนไฟเบอร์บรอดแบนด์ใหม่เสร็จ เตรียมลุยตลาดรอบใหม่
ตลาดให้บริการอินเทอร์เน็ตไฟเบอร์บรอดแบนด์คึกคักขึ้นมาก โดยเฉพาะการเข้าตลาดของ AIS ซึ่งหากพิจารณาที่ผ่านมา True มีการรุกตลาดที่น้อยลงไปบ้าง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะในเดือน ต.ค. 60 (ปีนี้) สัญญาสัมปทานโทรศัพท์พื้นฐานของ True ซึ่งถือเป็นสัญญาสัมปทานฉบับแรกของบริษัทจะหมดอายุ และต้องส่งมอบโครงข่ายโทรศัพท์พื้นฐานทั้งหมดในเขตกรุงเทพและปริมณฑลให้กับ ทีโอที
ศุภชัย บอกว่า 2 ปีที่ผ่านมา True จึงเน้นการลงทุนเพื่อติดตั้งโครงข่ายไฟเบอร์ใหม่ทั้งหมดในเขตกรุงเทพและปริมณฑล พร้อมกับโอนย้ายลูกค้าเดิมทั้งหมดมาอยู่บนระบบใหม่ ซึ่งเสร็จเรียบร้อยกว่า 98% เมื่อจนไตรมาส 1 ที่ผ่านมา ถือเป็นงานใหญ่มากที่มีผลกระทบกับลูกค้าอยู่บ้าง และทำให้ True ไม่สามารถทำตลาดได้อย่างเต็มที่ แต่จากวันนี้ไปรับรองว่า จะได้เห็นการทำตลาดรอบใหม่แน่นอน
เปลี่ยนผู้บริหารสร้างการทำงานต่อเนื่อง ยืนยันเลือดยังเป็น True
ศุภชัย บอกว่า การแต่งตั้ง วิเชาวน์ รักพงษ์ไพโรจน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ (ร่วม) ด้านการพาณิชย์ ดูแลงานในฐานะผู้บริหารสูงสุดด้านธุรกิจพาณิชย์ทั้งหมด รวมถึงงานด้านกำกับดูแล (กสทช.) และ อติรุฒม์ โตทวีแสนสุข กรรมการผู้จัดการใหญ่ (ร่วม) ด้านปฏิบัติการ ดูแลงานบริหารจัดการองค์กรทั้งหมด เพื่อทำให้ True สามารถทำงานต่อเนื่องได้โดยไม่สะดุด
การขยับ ศุภชัย ขึ้นนั่ง CEO ของเครือเจริญโภคภัณฑ์ ทำให้ไม่สามารถนั่งเป็น CEO ของ True ต่อไปได้ แต่ส่วนตัวยังทำหน้าที่ ประธานคณะกรรมการบริหารภายใต้บอร์ด ดูแล 3 เรื่องหลัก คือ ผลักดันยุทธศาสตร์, วางเป้าหมายรายได้และค่าใช้จ่าย และดูแลธรรมาภิบาลอย่างยั่งยืน
“ยืนยันเลยว่าถ้ากรีดเลือดผมตรงนี้ ยังคงเป็น True เหมือนเดิม ความมุ่นมั่นไม่ต่างจากเดิม ปีนี้สร้างผลกำไรได้แน่นอน”
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา