ญี่ปุ่นปล่อยน้ำกัมมันตรังสีที่ผ่านการบำบัดแล้วปริมาณ 7,800 ตันหรือประมาณ 7.8 ล้านกิโลกรัมลงทะเลเสร็จสิ้นแล้วในรอบแรก
น้ำกัมมันตรังสีที่บำบัดแล้วจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ไดอิจิ ลงมหาสมุทรแปซิฟิกไปแล้วเรียบร้อย
บริษัท Tepco (Tokyo Electric Power Company Holdings Inc.) เริ่มปล่อยน้ำบำบัดดังกล่าวลงสู่ทะเล แม้ชาวประมงท้องถิ่นจะคัดค้านและไม่เห็นด้วยกับแผนดังกล่าวของบริษัทก็ตาม ซึ่งก็รวมถึงการต่อต้านจากจีนเนื่องจากมันเป็นน่านน้ำที่เชื่อมต่อกัน แต่ทางบริษัทก็ยืนยันว่า สารทริเทียม (Tritium) ที่เป็นสารกัมมันตรังสีที่ปนเปื้อนอยู่ในน้ำนั้นมีระดับต่ำกว่าที่โลกกำหนดไว้
การปล่อยน้ำบำบัดจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ดังกล่าว เริ่มขึ้นเมื่อ 24 สิงหาคมที่ผ่านมา กระบวนการทั้งหมดอยู่ภายใต้การดูแลของรัฐบาลญี่ปุ่นและหน่วยงาน IAEA (International Atomic Energy Agency: องค์การพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ) ซึ่งสาเหตุที่ปล่อยน้ำบำบัดดังกล่าว ก็เนื่องจากปริมาณน้ำแปรรูปที่ละลายจากการหล่อเย็นเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ใกล้ถึงขีดจำกัดของกำลังการผลิต ทำให้บริษัท TEPCO ตัดสินใจปล่อยน้ำลงทะเลในปริมาณราว 31,200 ตัน ซึ่งจะเป็นปริมาณน้ำที่ต้องปล่อยทั้งหมดรวม 4 รอบในช่วงปีงบประมาณปัจจุบันจนถึงเดือนมีนาคม
ด้าน Rafael Grossi ผู้อำนวยการใหญ่แห่ง IAEA ระบุว่า วานนี้ได้มีการประชุมและได้นำตัวอย่างน้ำจากบริเวณที่ปล่อยน้ำบำบัดดังกล่าวมาวิเคราะห์ ก็พบว่า ระดับสารทริเทียมนั้นต่ำกว่าที่ญี่ปุ่นกำหนดไว้ และยืนยันว่า IAEA มีอิสระในการตรวจสอบ ไม่ได้ขึ้นตรงกับใคร พูดง่ายๆ ว่าไม่ได้ผ่านการดีลกับบริษัท TEPCO มาก่อน
ด้านบริษัท TEPCO ก็เตรียมที่จะปล่อยน้ำบำบัดจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อีก 7,800 ตันในรอบถัดไปอีก ตอนนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนการตรวจสอบระดับสารทริเทียมที่ปนเปื้อนในน้ำด้วย ซึ่งทางรัฐบาลและบริษัท TEPCO ระบุว่า การกำจัดน้ำที่ผ่านการบำบัดนี้ถือเป็นขั้นตอนสำคัญในการจะรื้อถอนโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ได้รับความเสียหายอย่างหนักจากภัยพิบัติแผ่นดินไหวและสึนามิตั้งแต่ปี 2011
ขณะเดียวกัน จีนก็ออกคำสั่งแบนอาหารทะเลหรือผลิตภัณฑ์ที่มาจากท้องทะเลในย่านที่ญี่ปุ่นปล่อยน้ำบำบัดลงทะเลทั้งหมดเช่นกัน แต่ทางรัฐบาลญี่ปุ่นก็พยายามร้องขอให้จีนยกเลิกโทษแบนดังกล่าวและให้เข้ามามีส่วนร่วมในการอภิปรายทางวิทยาศาสตร์ ที่มีผู้เชี่ยวชาญจากทั้งสองประเทศ ขณะเดียวกันก็พยายามจะให้ความช่วยเหลืออุตสาหกรรมประมงภายในประเทศรวมทั้งการส่งออกสินค้าไปยังจีนด้วย
น้ำที่บำบัดแล้วถูกปล่อยลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิกในระยะห่างจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 1 กิโลเมตร เป็นการปล่อยน้ำผ่านอุโมงค์ใต้ทะเล โดยกำจัดนิวไคลด์กัมมันตรังสีออกไป ยกเว้นสารทริเทียมหรือสารกัมมันตรังสี
(นิวไคลด์กัมมันตรังสีหรือ Radionuclide คือสารที่ก่อให้เกิดโรคมะเร็ง มีแหล่งกำเนิดจากธรรมชาติและมนุษย์สร้างขึ้น เป็นสารหรือธาตุที่มีนิวเคลียสของอะตอมไม่เสถียร จึงปลดปล่อยรังสีออกมา เพื่อปรับตัวให้มีเสถียรภาพ นิวไคลด์กัมมันตรังสีสามารถเข้าสู่ร่างการได้ทั้งจากการสัมผัส การหายใจ การดื่ม การกิน
นิวไคลด์กัมมันตรังสี มีการสลายตัวด้วยอัตราจำเพาะที่มีค่าคงที่ ไม่มีผลกระทบจากปัจจัยภายนอก ทั้งอุณหภูมิหรือความดัน ช่วงเวลาที่นิวไคล์ดกัมมันตรังสีสลายตัวลดลงเหลือครึ่งหนึ่ง เรียกว่า “ครึ่งชีวิต” หรือ half-life แต่ละธาตุในกัมมันตรังสีก็มีค่าของครึ่งชีวิตที่ต่างกัน มีตั้งแต่เศษเสี้ยววินาทีไปจนถึงพันล้านปี เช่น ไอโอดีน มีครึ่งชีวิต 8 วัน, ยูเรเนียม มีครึ่งชีวิต 4.5 พันล้านปี โปแตสเซียม มีครึ่งชีวิต 1.42 พันล้านปี เป็นต้น)
IAEA รายงานว่า สารทริเทียมหรือสารกัมมันตรังสีจะถูกเจือจางลงเหลือ 1 ใน 40 ของความเข้มข้นที่อนุญาตภายใต้มาตรฐานความปลอดภัยของญี่ปุ่น โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทั่วโลกปล่อยน้ำบำบัดที่มีความเข้มข้นของสารทริเทียมต่ำเป็นประจำอยู่แล้ว และถือว่ามีความอันตรายน้อยกว่าวัตถุกัมมันตรังสีอื่นๆ และนิวไคลด์กัมมันตรังสี
อย่างไรก็ดี อดีตผู้บริหารบริษัท TEPCO ก็เคยถูกฟ้องมาก่อนหลังเหตุแผ่นดินไหวแลโรงไฟฟ้านิวเคลียร์มีสารกัมมันตรังสีรั่วไหลออกมาสู่ภายนอกโรงไฟฟ้า ซึ่งภัยพิบัติทางธรรมชาติจากแผ่นดินไหวและสึนามิไม่มีใครคาดการณ์ได้ อีกทั้งทางบริษัทได้พยายามหาทางป้องกันเหตุฉุกเฉินตั้งแต่ก่อนจะเกิดเหตุภัยพิบัติด้วย ทำให้ศาลตัดสินให้พ้นผิดจากข้อกล่าวหาดังกล่าว [อ่านรายละเอียดเกี่ยวกับคำฟ้องร้องดังกล่าวได้ที่นี่ https://www.blognone.com/node/112083]
ที่มา – Japan Today, บทความวิจัย, บทความสมาคมนิวเคลียร์แห่งประเทศ
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา