TIPS พันธบัตรชดเชยเงินเฟ้ออีกทางเลือกสำหรับการลงทุน

inflation

ในการทำ Asset Allocation เรามักเลือก ลงทุนในหุ้น เพื่อสร้างผลตอบแทน และเลือก ลงทุนในตราสารหนี้ เพื่อลดความเสี่ยงโดยรวมของพอร์ต อย่างไรก็ตาม ผลตอบแทนที่ได้จากการลงทุนในตราสารหนี้ มักจะน้อยกว่าอัตราเงินเฟ้อระยะยาว แต่มีตราสารหนี้อยู่ประเภทหนึ่งที่มีการปรับอัตราผลตอบแทนเพื่อชดเชยกับอัตราเงินเฟ้อ ทำให้นักลงทุนยังคงสามารถรักษาอำนาจซื้อของเงินลงทุนเอาไว้ได้ ตราสารหนี้ชนิดนี้ในประเทศไทยมีชื่อว่า พันธบัตรชดเชยเงินเฟ้อ หรือในต่างประเทศเรียก Inflation Linked Bond (ILB) หรือ Treasury Inflation Protected Securities (TIPS) เราลองมาทำความรู้จักกับตราสารหนี้ประเภทนี้กัน

หลักการทำงานของพันธบัตรชดเชยเงินเฟ้อ

พันธบัตรชดเชยเงินเฟ้อออกโดยกระทรวงการคลัง ที่มีการปรับผลตอบแทนตามการเปลี่ยนแปลงเงินเฟ้อ โดย ณ วันไถ่ถอน ผู้ลงทุนจะได้รับเงินต้นคืน 100% (ตามราคาหน้าตั๋ว) บวกด้วยส่วนชดเชยเงินเฟ้อ สำหรับเงินเฟ้ออ้างอิงจาก ดัชนีเงินเฟ้อทั่วไป* (Headline Inflation) *เงินเฟ้อทั่วไปรวมหมวดสินค้าและบริการที่เกี่ยวข้องในชีวิตประจำวัน

ตัวอย่างวิธีการคิดอัตราดอกเบี้ย

สมมุติลงทุนในพันธบัตรชดเชยเงินเฟ้ออายุ 10 ปี 100,000 บาท อัตราดอกเบี้ย 1% อัตราเงินเฟ้อคงที่ 3% ต่อปี

ดอกเบี้ยจ่ายแต่ละปี = 100,000 (เงินต้น) x 1% (ดอกเบี้ย) x 1.03 (เงินเฟ้อ 3%) = 1,030 บาท และปีสุดท้ายจะมีการคำนวณส่วนชดเชยเงินเฟ้อเข้ามาอีกด้วย

อย่างไรก็ตามหากเกิดกรณีเงินฝืด (เงินเฟ้อติดลบ) ดอกเบี้ยจ่ายก็จะถูกชดเชยด้วยอัตราเงินฝืด ทำให้ผลตอบแทนอาจน้อยกว่าอัตราดอกเบี้ยได้เช่นกัน

พันธบัตรชดเชยเงินเฟ้อเหมาะกันใคร

พันธบัตรชดเชยเงินเฟ้อออกโดยกระทรวงการคลังทำให้ผู้ลงทุนไม่ต้องกังวลกับความเสี่ยงเรื่องการผิดนัดชำระ และด้วยคุณสมบัตรการชดเชยเงินเฟ้อทำให้ผู้ลงทุนสามารถทราบผลตอบแทนแท้จริง (ในกรณีที่ซื้อและถือครองจนครบกำหนดไถ่ถอน) ดังนั้น จึงเหมาะกับผู้ที่ต้องการกระจายความเสี่ยงด้วยการลงทุนในตราสารหนี้ และต้องการผลตอบแทนแท้จริงตามอัตราดอกเบี้ยที่ประกาศ

ลงทุนในพันธบัตรชดเชยเงินเฟ้อแล้วมีโอกาสขาดทุนหรือไม่

หากพิจารณาจากการลงทุนตั้งแต่เริ่มจำหน่ายและถือครอบจนครบกำหนดไถ่ถอน ก็จะไม่มีโอกาสขาดทุน แต่สำหรับการลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ที่ลงทุนในพันธบัตรชดเชยเงินเฟ้อ สถานการณ์จะต่างกัน เนื่องผลตอบแทนจากการลงทุนในตราสารหนี้จะขึ้นกับอัตราดอกเบี้ย เช่น ในกรณีมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจากภาวะเงินเฟ้อ พันธบัตรชดเชยเงินเฟ้อจะให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าพันธบัตรทั่วไป แต่ถ้าเกิดมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในภาวะที่เงินเฟ้อต่ำมากๆ ก็อาจให้ผลตอบแทนต่ำลงได้ จะเห็นได้ว่ามีทั้งปัจจัยเรื่องเงินเฟ้อแล้ว และอัตราดอกเบี้ยที่อาจส่งผลต่อกำไรและขาดทุนได้ จึงสรุปได้ว่า การลงทุนในพันธบัตรชดเชยเงินเฟ้อมีโอกาสขาดทุน

inflation2

กองทุนที่ลงทุนในพันธบัตรชดเชยเงินเฟ้อในประเทศไทย

กองทุน KTILF กองทุนเปิดกรุงไทยอ้างอิงเงินเฟ้อ

นโยบายการลงทุน เน้นลงทุนในพันธบัตรชดเชยเงินเฟ้อที่ออกโดยรัฐบาลไทย หรือตราสารหนี้หรือหน่วยลงทุนที่มีผลตอบแทนแปรผันตามการเปลี่ยนแปลงของเงินเฟ้อทั้งในและต่างประเทศ

ปัจจุบันเน้นลงทุนใน ILB283A : พันธบัตรรัฐบาลประเภทอัตราดอกเบี้ยแปรผันตามการเปลี่ยนแปลงของเงินเฟ้อ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2556 ครั้งที่ 2

inflation3

จากรูปแสดง NAV ย้อนหลัง 3 ปี จะเห็นถึงความผันผวนจากการลงทุนในกองทุนที่ลงทุนในพันธบัตรชดเชยเงินเฟ้อ และโอกาสที่จะขาดทุนจากการลงทุนอย่างที่ได้กล่าวมาแล้ว

ที่มา: FIN App

ยังมีอีกหนึ่งกองทุน คือ KTILB กองทุนเปิดกรุงไทยพันธบัตรรัฐบาลชดเชยเงินเฟ้อ แต่เนื่องจากเป็นกองทุนที่เปิดให้มีการซื้อ-ขายไม่ปกติ จึงไม่มีข้อมูลเพียงพอให้แนะนำได้

นอกจากกองทุนที่ลงทุนในพันธบัตรชดเชยเงินเฟ้อแล้วยังมีกองทุนตราสารหนี้อื่นๆที่น่าสนใจทาง ทาง Brand Inside จะพาทุกท่านไปสำรวจกองทุนตราสารหนี้อื่นๆที่มีผลงานการสามารถสร้างผลตอบแทนดีในระยะยาวและความผันผวนต่ำในโอกาสถัดไป และอย่าลืมก่อนตัดสินใจลงทุนในกองทุนรวมควรศึกษาข้อมูลรายละเอียดต่างๆจากหนังสือชี้ชวนทุกครั้ง

ข้อมูลอ้างอิง

คู่มือการลงทุนในพันธบัตรชดเชยเงินเฟ้อ

Understanding Treasury Inflation Protected Securities (TIPS) PIMCO

KTILF Fund Fact Sheet

KTILB Fact Sheet

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

ณัฐ เลิศมงคล ที่ปรึกษาการเงินอิสระ ผู้มีความเชี่ยวชาญด้านการวางแผนการเงินส่วนบุคคล ด้วยผลิตภัณฑ์ทางการเงินต่างๆ ที่เหมาะสมกับสถานการณ์ทางการเงินของแต่ละบุคคล ภารกิจของ ณัฐ ใน BrandInside.asia คือ การนำทุกท่านเข้าสู่โลกของการวางแผนการเงินส่วนบุคคล โดยการให้ความรู้พร้อมกับการแนะนำผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่อยู่ในตลาด ให้ท่านได้เห็นถึงข้อดี โอกาส ความเสี่ยง เพื่อให้ทุกท่านได้ใช้ประกอบการพิจารณาตามความเหมาะสม