เปิดแรงค์ที่เที่ยวหน้าร้อน ‘เอเชียแปซิฟิก’ ยังเนื้อหอม ส่วนไทยไม่ติดโผ นักท่องเที่ยวอาจลดจนจบปี

ไม่ว่าอากาศจะร้อนแค่ไหน แต่นี่คืออีกช่วงเวลาของการดึงดูดนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะเมืองชายทะเล ไม่ว่าจะเป็นหาดทรายสีขาว เทศกาลหน้าร้อน และอากาศที่สดใส ของช่วงเดือนมิถุนายน – กันยายน

ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ยังได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง โดยติด 8 อันดับ จาก 15 ประเทศ ที่เป็นจุดหมายปลายทางยอดฮิตช่วงหน้าร้อน ในรายงาน Travel trends 2025 ของสถาบันวิจัยมาสเตอร์การ์ด แสดงถึงศักยภาพของภูมิภาคนี้ในการดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลก

โดยเมืองจุดหมายปลายทางยอดฮิตทั้ง 15 อันดับ ได้แก่

  1. โตเกียว ประเทศญี่ปุ่น
  2. โอซาก้า ประเทศญี่ปุ่น
  3. ปารีส ประเทศฝรั่งเศส
  4. เซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน
  5. ปัลมา เดอ มายอร์กา ประเทศสเปน
  6. โซล ประเทศเกาหลีใต้
  7. ปักกิ่ง ประเทศจีน
  8. มาดริด ประเทศสเปน
  9. รีโอเดจาเนโร ประเทศบราซิล
  10. สิงคโปร์
  11. ญาจาง ประเทศเวียดนาม
  12. เรดยาวิก ประเทศไอซ์แลนด์
  13. ฟุกุโอกะ ประเทศญี่ปุ่น
  14. ฮูร์กาดา ประเทศอียิปต์
  15. ชาร์ม เอล ชีค ประเทศอียิปต์ 

เวียดนามม้ามืด เมืองญาจางขึ้นแรงค์

แม้หน้าร้อนของญี่ปุ่นจะขึ้นชื่อว่าร้อนไม่แพ้ไทย แต่ถึงอย่างนั้นก็ไม่ใช่เรื่องแปลกที่ประเทศท่องเที่ยวที่น่าหลงใหลนี้จะติดอันดับถึง 3 เมืองด้วยกัน 

ในปี 2567 เมืองโตเกียวได้อันดับที่ 2 จุดหมายปลายทางยอดฮิตช่วงหน้าร้อน ก่อนจะก้าวขึ้นมาเป็นอันดับ 1 ในปีนี้ ตามมาด้วยโอซาก้า เมืองใหญ่แห่งภูมิภาคคันไซ และ อันดับที่ 13 เมืองฟุกุโอกะ

ที่น่าสนใจคือเมืองญาจาง ประเทศเวียดนาม ได้ติดแรงค์เป็นครั้งแรกในปีนี้ ด้วยชื่อเสียงเรื่องหาดทรายขาว ทิวทัศน์ชายฝั่งที่สวยงาม และ Nightlife ที่มีชีวิตชีวา จึงไม่ใช่เรื่องยากที่ทำให้ญาจางติดอันดับในปีนี้

จีน-อินเดีย ยักษ์ใหญ่การท่องเที่ยว

ไม่ว่าจะเที่ยวที่ไหน เราคงเห็นนักท่องเที่ยวจากจีนและอินเดียกันมากขึ้น ไม่เว้นแม้แต่ในประเทศไทย 

นับตั้งแต่ปี 2567 จีนครองแชมป์มีนักท่องเที่ยวเดินทางออกนอกประเทศมากที่สุด ซึ่งพฤติกรรมการเลือกเที่ยวของชาวจีน มักเน้นที่ความคุ้มค่า และขั้นตอนวีซ่าที่ไม่ยุ่งยาก เช่น ญี่ปุ่น มาเลเซีย และสิงคโปร์

ในขณะที่อินเดีย พี่ใหญ่ในเอเชียใต้ ได้ส่งนักท่องเที่ยวสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในปี 2567 ต่างกับจีนตรงที่นักท่องเที่ยวอินเดียมีความสนใจในจุดหมายปลายทางที่หลากหลาย 

ซึ่งการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวอินเดีย ส่วนหนึ่งมาจากการขยายเส้นทางบินตรงไปต่างประเทศ รวมถึงการเติบโตอย่างรวดเร็วของชนชั้นกลางที่มีกำลังซื้อ

การเที่ยวคือการจ่ายเพื่อซื้อประสบการณ์

หมดยุคของการเที่ยวตามแลนด์มาร์คแบบเดิมๆ เพราะเทรนด์ในปีนี้พบว่าสิ่งที่นักท่องเที่ยวมองหาคือประสบการณ์ที่มีคุณค่าทางใจ ไม่ว่าจะเป็น วัฒนธรรม อาหารการกิน ธรรมชาติ และการดูแลสุขภาพ

เป็นเวลาของเมืองท่องเที่ยวต่างๆ ที่จะงัดเอกลักษณ์ท้องถิ่นมาเป็นจุดขาย สร้างประสบการณ์ที่แตกต่างไม่ซ้ำใคร ให้นักท่องเที่ยวได้ซึมซับกับเสน่ห์ในแต่ละพื้นที่อย่างเต็มที่

แม้จะไม่อยู่ในแรงค์ปีนี้ แต่เรื่องมอบประสบการณ์แก่นักท่องเที่ยว ไทยเองก็ไม่น้อยหน้า โดยประเทศไทยติดหนึ่งในจุดหมายปลายทางของการท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ จากจุดเด่นในการได้ใกล้ชิดธรรมชาติในที่พัก โปรแกรมเพื่อสุขภาพและความสงบทางใจ 

กีฬาสร้างรายได้ กระจายสู่ท้องถิ่น

การจัดแข่งขันกีฬาหรือมหกรรมกีฬา รายได้ที่เกิดขึ้นไม่ได้มีเพียงค่าตั๋วเข้าชมเท่านั้น แต่ยังเป็นโอกาสของภาคการท่องเที่ยวอีกด้วย ทั้งค่าโรงแรม ร้านอาหาร ร้านของฝาก หรือสถานที่ท่องเที่ยว

เพียงการจัดกีฬา ก็สามารถดึงดูดเม็ดเงินได้มหาศาล เช่น การเปิดตัวนักเบสบอลญี่ปุ่น Ohtani Shohei ในการแข่ง World Series เพียงงานเดียว ก็มียอดใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวญี่ปุ่นพุ่งขึ้นถึง 91% สูงกว่าการใช้จ่ายข้ามประเทศโดยทั่วไปถึง 6 เท่า

ค่าเงินมีผล นักท่องเที่ยวทะลักญี่ปุ่น

หากถามว่าค่าเงินมีผลต่อการตัดสินใจท่องเที่ยวในยุคนี้อย่างไร ญี่ปุ่นคือตัวอย่างที่ดีที่สุดในเคสนี้ 

การที่ค่าเงินเยนอ่อนค่าตลอดปี 2567 ส่งผลให้นักท่องเที่ยวจีนหลั่งไหลไปญี่ปุ่นมากขึ้นถึง 1.5% แม้ว่าจะอ่อนค่าเพียง 1% ของเงินหยวนก็ตาม 

นอกจากนี้ ในปี 2567 นักท่องเที่ยวสิงคโปร์เดินทางมาท่องเที่ยวญี่ปุ่นมากเป็นประวัติการณ์ จากการที่เงินดอลลาร์สิงคโปร์แข็งค่าขึ้น 40% เมื่อเทียบกับเงินเยน 

นักท่องเที่ยวต่างชาติในไทยยังลด

แม้จะมีแหล่งท่องเที่ยวชายทะเลมากมาย แต่ประเทศไทยกลับไม่ติดโผในแรงค์นี้ 

ซึ่งจากรายงานของกสิกรไทยบอกว่า ในไตรมาศแรกนักท่องเที่ยวต่างชาติในไทย มีจำนวน 12.9 ล้านคน ซึ่งลดลง 1% เมื่อเทียบกับปีก่อน

จากอุปสรรคหลายอย่างที่ไทยกำลังเผชิญอยู่ ทั้งเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ความสามารถในการแข่งขันด้านการท่องเที่ยวดลดลง พฤติกรรมและรูปแบบการท่องเที่ยวที่เปลี่ยนแปลงไป ตลอดจน ภูมิรัฐศาสตร์ 

อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรได้คาดว่า ตลอดปี 2568 นี้ จำนวนนักท่องเที่ยวในไทยอาจลดลงอีกถึง 2.8% ซึ่งจะทำให้รายได้การท่องเที่ยวจากต่างชาติลดลงถึง 3% หรือราว 1.62 ล้านล้านบาท 

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา