Trade war สงครามการค้าระหว่าง 2 ประเทศใหญ่ของโลกอย่างสหรัฐฯ และจีน นอกจากสร้างความกังวลไปทั่วโลก ยังทำให้การส่งออกของไทยหดตัว ล่าสุดค่าเงินบาทปรับแข็งค่าที่สุดในเอเชีย มาจากสาเหตุอะไรบ้าง?
Trade War ทำค่าเงินบาทแตะ 31.33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าที่สุดในรอบ 3 เดือน
Trade War ระหว่างสหรัฐ-จีน ยังค้างคา การเจรจาการค้าไม่ชัดเจน ทำให้ทั่วโลกกังวลว่าเศรษฐกิจและการค้าในตลาดโลกจะแย่ลง ในส่วนประเทศไทยได้รับผลกระทบเต็มๆ ทั้งการส่งออกที่หดตัวต่อเนื่อง 5 เดือน ล่าสุดค่าเงินบาท (4 มิ.ย. 2019) อยู่ที่ 31.33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เพียงวันเดียวแข็งค่าขึ้น 1.02% จากวันศุกร์ 31 พ.ค. 2019 ค่าเงินบาทอยู่ที่ 31.65 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
ปัจจุบันค่าเงินบาทที่ 31.33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ถือว่าแข็งค่าที่สุดในเอเชีย โดยแข็งค่า 39% เมื่อเทียบกับต้นปี 2019 ที่ผ่านมา นอกจากนี้ค่าเงินบาทยังแข็งค่าเป็นอันดับ 2 ในกลุ่มประเทศเกิดใหม่ทั่วโลก โดย Trade war ถือเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าใน 3 ด้าน ได้แก่
- เมื่อ Trade war ทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัว โดยเฉพาะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ทำให้นักลงทุนเทขายสินทรัพย์ในสหรัฐ เช่น ขายหุ้น ขายพันธบัตร ขายเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่ถืออยู่แล้วเข้าซื้อ Safe Haven เช่น สกุลเงินต่างประเทศ ทองคำ
โดยราคาทองคำโลกวันที่ 4 มิ.ย.อยู่ที่ 1,325 ดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นภายใน 3 วัน จากที่อยู่ระดับ 1,280 ดอลลาร์สหรัฐ โดยนักลงทุนต้องซื้อทองผ่านสกุลเงินเอเชีย ทำให้ค่าเงินในเอเชียปรับตัวแข็งค่าขึ้น - Trade war ทำให้ภาพรวมการค้าทั่วโลกชะลอตัว ส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันในภาคธุรกิจลดลงทั่วโลกทำให้ราคาน้ำมันวันนี้อยู่ที่ 60 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ลดลง 10% จากสัปดาห์ก่อน (27 พ.ค. 2019) ที่ราคาน้ำมันอยู่ที่ 69-70 ดอลลารสหรัฐต่อบาเรล
ทั้งนี้เมื่อราคาน้ำมันลดลง จะทำให้มูลค่าการนำเข้าน้ำมันของไทยลดลง และอาจจะทำให้ประเทศไทยกลับมาเกินดุลการค้าและค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น - หาก Trade war ยังรุนแรงยิ่งขึ้น ตลาดโลกเชื่อว่าธนาคารกลางสหรัฐ (FED) จะลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงทันที ทำให้ปัจจุบันผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐอายุ 10 ปี ร่วงลงแตะระดับ 2.09% ถือว่าต่ำที่สุดในรอบ 20 เดือน
อย่างไรก็ตามสาเหตุหลักที่ทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่า ยังมาจากประเทศไทยเกินดุลบัญชีเดินสะพัด และค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่เป็นสกุลหลักของโลกอ่อนค่าลงอย่างหนัก เห็นได้จาก ดัชนีดอลลาร์เทียบสกุลเงินหลัก (Dollar Index) ปรับตัวลงมาที่ระดับต่ำสุดในรอบ 3 สัปดาห์ เพราะทั่วโลกกังวลกับทิศทางเศรษฐกิจและตลาดหุ้นสหรัฐที่อาจแย่ลง ทำให้ดัชนี S&P500 เหลือผลตอบแทนเพียง 9.5% ตั้งแต่ต้นปี ถือว่าผลตอบแทนไม่ได้ดีกว่าตลาดหุ้นอื่นๆ ในโลก
อนาคตค่าเงินบาทจะเป็นอย่างไร?
จิติพล พฤกษาเมธานันท์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย บอกว่า ในระยะสั้นเชื่อว่าเงินบาทปรับตัวแข็งค่าเร็วเกินไป และมีความผันผวนสูง ทำให้ระหว่างวันจะชะลอการแข็งค่าลง แต่ในระยะยาว คาดว่าค่าเงินบาทยังมีปัจจัยกดดันต่อเนื่อง คาดว่าสิ้นปี 2019 ค่าเงินบาทมีโอกาสอ่อนค่าแตะ 32.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐได้น้อยลง
“หลังจากนี้ต้องจับตาการประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) ตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐ และท่าทีของ FED ถ้าคณะกรรมการนโยบายการเงินของเฟดเห็นด้วยกับการ “ลดดอกเบี้ย” มากขึ้น ก็เป็นไปได้ที่จะเห็นเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าต่อ ภายในสัปดาห์นี้ (4-7 มิ.ย.) คาดว่าค่าเงินบาทจะเคลื่อนไหวในกรอบ 31.25 -32.75 บาทต่อดอลลาร์”
ทั้งนี้คาดว่า Trade war ยังไม่มีข้อสรุปการค้าภายในไตรมาส 3 ปี 2019 นี้ ทำให้นักลงทุนในตลาดปิดรับความเสี่ยงเทขายหุ้นทั่วโลก และเลือกถือสกุลเงินที่เป็น Safe Haven อย่างไรก็ตามหาก FED ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายมีโอกาศที่ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐกลับมาแข็งค่าขึ้น
กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา บอกว่า ค่าเงินบาทสัปดาห์นี้คาดว่าเคลื่อนไหวในกรอบ 31.20-31.55 ต่อดอลลาร์ ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นเพราะมีเงินไหลเข้าไทย โดยวันที่ 4 มิ.ย.มีนักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิในตลาดหุ้น 17,600 ล้านบาท และนักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิพันธบัตรไทย 4,600 ล้านบาท
สรุป
เมื่อไทยเปิดประเทศ ค่าเงินบาทย่อมเคลื่อนไหวตามภาวะตลาด ช่วงนี้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นเพราะ 1. มีเงินลงทุนจากต่างชาติไหลเข้ามาตามการเพิ่มน้ำหนักลงทุนในดัชนี MSCI 2.ไทยเกินดุลบัญชีเดินสะพัด 3. สกุลหลักของโลกอย่างสหรัฐอ่อนค่าลง แต่ไม่ว่าค่าเงินบาทจะแข็งค่าหรืออ่อนค่า ก็ควรให้ความสำคัญกับการพัฒนาเรื่องพื้นฐานในประเทศให้มากขึ้นรวมถึงความชัดเจนเรื่องการเมืองด้วย
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา