บาทแข็งค่า-ทองขาขึ้น กรุงศรีเผยอาจแตะ 30.50 บาท/ดอลลาร์สหรัฐหาก Trade war ขยายตัว

สงครามการค้าระหว่างจีน-สหรัฐฯ​ ยังขยายตัวต่อเนื่อง เมื่อทั้ง 2 ประเทศเตรียมขึ้นภาษีระหว่างกันทำให้ความเสี่ยงการค้าโลกเพิ่มขึ้น ส่งผลกระทบทั้งราคาทองและค่าเงินบาท

สหรัฐ-จีนประกาศขึ้นภาษีดัน ราคาทองคำแตะบาทละ 22,650 บาท

หลังจากทางการจีน ประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐราว 75,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ทาง Donald Trump ประธานาธิบดีสหรัฐ ประกาศว่าอาจจะขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีนในอัตราที่เพิ่มขึ้น โดยทั้ง 2 ประเทศขู่จะบังคับใช้อัตราการเก็บภาษีใหม่ภายในปีนี้ส่งผลให้ทั่วโลกกังวลว่าเศรษฐกิจการค้าจะชะลอตัวลง ส่งผลให้ราคาทองคำเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยวันนี้ (26 ส.ค. 2019) ราคาทองคำรูปพรรณขายออกอยู่ที่บาทละ 22,650 บาทปรับเพิ่มขึ้นจากวันที่ 24 ส.ค. อยู่ที่บาทละ 22,550 บาท

ที่มา Brand Inside รวบรวมจากสมาคมค้าทองคำ

ทั้งนี้ปัจจัยหลักที่ทำให้ราคาทองคำทะลุ 22,000 บาทและต้องจับตามองต่อเนื่อง ได้แก่ 1. การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของสหรัฐ (FOMC) ว่าจะลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่องหรือไม่ 2. Trade war ระหว่างจีนและสหรัฐฯ ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน และ 3.สถานการณ์ความตึงเครียดในคาบสมุทรเกาหลี หากยึงทวีความตึงเครียดจะทำให้ราคาทองคำโลกยังเพิ่มสูงขึ้น

อย่างไรก็ตามเมื่อราคาทองทำ All Time High อย่างต่อเนื่อง อาจทำให้เกิดแรงขายทองคำได้ในระยะนี้ แต่หากราคาทองคำอ่อนตัว ข้อมูลจากทางสมาคมค้าทองคำแนะนำให้เข้าซื้อเพิ่ม และขายเพื่อทำกำไรในระยะสั้น

หาก Trade War ไปต่อ กรุงศรีฯ คาดเงินบาทสัปดาห์นี้อาจแข็งค่าแตะ 30.50 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา คาดการณ์ว่าสัปดาห์นี้ (26-30 ส.ค.) ค่าเงินบาทจะเคลื่อนไหวในกรอบ 30.50-30.85 ต่อดอลลาร์สหรัฐ จากช่วงสัปดาห์ก่อน (19-23 ส.ค.) ที่ค่าเงินบาทปิดที่ระดับ 30.73 ต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยรวมนักลงทุนต่างชาติขายสุทธิในตลาดหุ้นไทย 8,000 ล้านบาทและขายสุทธิในตลาดพันธบัตรไทย 27,000 ล้านบาท ด้านอัตราผลตอบแทนพันธบัตรไทยฟื้นตัวขึ้นจากระดับต่ำสุดในรอบหลายปี

ทั้งนี้ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นยังมาจากสาเหตุหลักคือ เงินดอลลาร์อ่อนค่าเทียบสกุลเงินสำคัญส่วนใหญ่ โดย Trade War ขยายตัวขึ้นจากจีนประกาศมาตรการตอบโต้สหรัฐฯ โดยจะเก็บภาษีสินค้าสหรัฐฯ วงเงิน 75,000 ล้านดอลลาร์ ส่วนที่ Trump ประกาศว่าจะปรับขึ้นภาษีอีก 5% เริ่มตั้งแต่ 1 ก.ย. นี้สำหรับสินค้านำเข้าจากจีนและเรียกร้องให้กลุ่มธุรกิจสหรัฐฯย้ายออกจากจีน

อย่างไรก็ตามเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีสัญญาณเข้าสู่ภาวะถดถอย เห็นได้จากภาวะ Inversion คืออัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯอายุ 2 ปีขึ้นมาอยู่เหนืออัตราผลตอบแทนประเภท 10 ปี (ปกติผลตอบแทนระยะยาวจะสูงกว่าระยะสั้น)

ดังนั้นหลังจากนี้คาดว่า เงินดอลลาร์จะเจอกับแรงขายเพราะสงครามการค้าที่รุนแรงขึ้นและจะกดดันให้ธนาคารกลางสหรัฐ (FED) ลดดอกเบี้ยลงต่อเนื่อง ส่วนความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจการค้าโลก อาจทำให้นักลงทุนเข้าซื้อเงินเยนเพิ่มขึ้น

ส่วนปัจจัยในประเทศไทยช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ ส่งออกลดลง 1.91% การนำเข้าหดตัว 1.81% ซึ่งเมื่อความเสี่ยงด้านขาลงของเศรษฐกิจมีมากขึ้น ทางคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) อาจตัดสินใจลดดอกเบี้ยลงอีกครั้งในปีนี้

ภาพจาก Shutterstock

ธปท. ชี้เศรษฐกิจ-ตลาดการเงิน-อัตราแลกเปลี่ยนผันผวนสูง ผู้ประกอบการต้องป้องกันความเสี่ยง

จันทวรรณ สุจริตกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายยุทธศาสตร์และความสัมพันธ์องค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) บอกว่า ความตึงเครียดทางการค้าระหว่างประเทศมีแนวโน้มยืดเยื้อและทวีความรุนแรงขึ้น ทำให้สถานการณ์การค้าระหว่างประเทศเปราะบางมากขึ้น เมื่อไทยเป็นประเทศเล็กที่มีเศรษฐกิจเปิดจึงได้รับกระทบจนการส่งออกไทย 6 เดือนนี้ลดลง แต่ถือว่าลดลงน้อยกว่าเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน

ดังนั้นเมื่อตลาดการเงินและอัตราแลกเปลี่ยน มีแนวโน้มผันผวนสูงและอ่อนไหวต่อข่าวสารที่เกิดขึ้น ผู้ประกอบการควรบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา